ม.มหิดล คิดค้นเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์จากวัสดุเหลือทิ้ง สู้วิกฤต COVID-19 ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Center and Technology Development for Environmental Innovation – REi) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ค้นพบทางออกสำหรับปัญหาการกำจัดขยะอินทรีย์ของครัวเรือน โดยได้ประดิษฐ์ “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ได้กล่าวถึงธรรมชาติของการย่อยสลายขยะอินทรีย์ มีความแตกต่างกันตามลักษณะของขยะแต่ละประเภท ซึ่งปัญหาขยะ ณ บางจุดทิ้งส่งกลิ่นเนื่องจากเกิดการตกค้าง รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้เรื่องการจัดการกับขยะอย่างเหมาะสม

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ (คนกลาง)

ทางเลือกสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จากการรู้วิธีการจัดการกับขยะอินทรีย์คือ “การตัดตอน” ปัญหาการตกค้างของขยะของอินทรีย์ ด้วยเครื่องกำจัดขยะภายในครัวเรือน จาก “วัสดุเหลือทิ้ง” ที่นอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังสามารถช่วยในการย่อยสลายภายในระยะเวลาก่อนที่ขยะจะแปรสภาพส่งกลิ่น

จุดเริ่มต้นของการทำ “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” นั้น เริ่มขึ้นจากเรื่องการเรียนการสอนในวิชาเรียน จึงเกิดแนวคิดว่าการจัดการมลพิษเหล่านี้ รวมถึงหลังจากที่นักศึกษาได้เรียนรู้แล้ว อาจจะไม่ได้นำเรื่องที่เรียนมานั้นไปใช้ในชีวิตจริง เพราะเนื้อหาที่เรียนนั้น มักจะเน้นไปทางทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นการลงมือทำ และไม่ได้สร้างประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ประชาชนและชุมชนนั่นเอง ก่อนจะเล็งเห็นช่องทางและโอกาสในการทำเครื่องมือและอุปกรณ์มาช่วยในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์โดยตรง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาทฤษฎีในเรื่องต่างๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการจดสิทธิบัตรให้กับนวัตกรรมดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ขยะอินทรีย์ทั่วไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องการเรียนการสอนส่วนหนึ่ง จึงทำให้เกิดความคิดว่าจะจัดการกับมลพิษเหล่านี้อย่างไร อีกทั้งเมื่อนักศึกษาเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้แล้ว มักจะไม่ได้นำไปใช้งานได้ในชีวิตจริง หรืออาจจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เพราะว่าเราเรียนแต่ด้านเนื้อหาและทฤษฎี ไม่ได้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ชาวบ้านหรือชุมชนจัดการขยะได้โดยตรงเลย มันไม่เห็นภาพนะครับ”

“วัสดุเหลือทิ้ง” ที่อาจารย์ ดร.นรินทร์เลือกนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือน ได้แก่ ถังแก๊สรถยนต์ และถังหุงต้ม ที่สามารถหาได้ทั่วไปตามครัวเรือนและร้านขายของเก่า โดยได้นำมาติดอุปกรณ์ที่จะสามารถเติมออกซิเจนให้กับขยะ เพื่อลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากการย่อยสลายของเชื้อจุลินทรีย์ในขยะ รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องตั้งเวลา (Timer) เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด

ขยะอินทรีย์ ก่อนถูกทำให้ชิ้นส่วนเล็กลง

ในด้านกลไกการทำงานของนวัตกรรมนั้น จะมีการคิดค้นและทำให้ระบบการทำงานง่ายที่สุด เพราะต้องคำนึงในเรื่องของการใช้งานเป็นหลัก จะมีกระบวนการทำงานที่คล้ายกับการทำปุ๋ยหมัก โดยทำให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ ด้วยการใช้มอเตอร์ เติมอากาศโดยใช้ปั๊มลม ก็จะทำการผสมและเติมอากาศไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยใช้หลักการที่ว่าทำให้ตัวขยะมีการผสมกับอากาศกับจุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานของระบบอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

ขยะอินทรีย์ หลังทำให้ชิ้นส่วนเล็กลง

“อย่างปุ๋ยหมักก็จะมีการกลั่นกรองอยู่ตลอดเวลานะครับ เพื่อให้ออกซิเจนสามารถเข้าไปในตัวกรองได้ แล้วก็ระบายความร้อนที่เกิดการกระบวนการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เราจึงเลียนแบบกระบวนการแบบนี้ เพียงแต่ทำให้ต่อเนื่องนะครับ ทำให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ ด้วยการใช้มอเตอร์ เติมอากาศโดยใช้ปั๊มลม มันก็จะทำการผสมและเติมอากาศไปด้วยในเวลาเดียวกัน หลักการของเราคือ เราทำให้ตัวขยะมีการผสมกับอากาศและจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์จะมาจากอากาศทั่วไป ต่อมาในเรื่องการย่อยสลายนั้น ต้องการออกซิเจน ซึ่งจะมีการเติมเข้าไปบริเวณตัวแกน เมื่อปลายมีการผสมขยะ ก็จะปล่อยออกซิเจนออกมาด้วย เพราะฉะนั้นจะทำให้ตัวต้นกรองนั้นเกิดออกซิเจน จึงทำให้เกิดการทำงานได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็วครับ”

ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชน

ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการกำจัดขยะอินทรีย์คือ วัสดุที่จะช่วยดูดซับความชื้นจากขยะ เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายตามที่ผู้ประดิษฐ์ได้ออกแบบไว้เป็นไปโดยสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้ “ขี้เลื่อย” ที่ผ่านการทดลองแล้วพบว่าได้ผลดีที่สุดแล้ว ยังสามารถใช้ “ก้อนเชื้อเห็ด” ที่หมดอายุแล้ว หรือจะใช้ “ขุยมะพร้าว” ผสมกับ “ทางมะพร้าวสับ” ตลอดจนใบไม้แห้งบดละเอียด ในอัตราส่วนขยะ 1 ส่วนต่อวัสดุดูดซับ 1 ส่วน ก็ย่อมสามารถนำมาใช้ได้

อาจารย์ ดร.นรินทร์ ได้อธิบายว่า ผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้เป็นเครื่องช่วยในการย่อยสลายขยะ ไม่ใช่เครื่องทำปุ๋ย สามารถใช้ได้กับขยะอินทรีย์ในลักษณะที่เป็นกาก ทั้งดิบและสุก ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก หรือผลไม้ หรือก้างปลา ซึ่งหากมาในลักษณะที่เป็นน้ำ ควรมีการกรองเอาน้ำออกก่อน หรือถ้าเป็นขยะอินทรีย์ชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกสัตว์อื่นๆ ก็สามารถใช้ได้ หากสามารถทำให้เป็นชิ้นเล็กก่อน ซึ่งกระบวนการย่อยสลายอยู่ที่ภายใน 48 ชั่วโมง โดยผู้ใช้งานสามารถเติมขยะลงในเครื่องได้ โดยขี้เลื่อยหรือวัสดุดูดซับความชื้น สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนถ่ายภายในถัง จากการเสื่อมสลายของวัสดุ

เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์

เมื่อสอบถามถึงผลตอบรับของ “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ มีประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่สนใจและสั่งทำเข้ามาจำนวนมาก เพราะเนื่องจากเมื่อผู้ใช้งานสั่งซื้อและใช้งานจริงแล้ว สามารถใช้งานได้ในระยะยาว อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ภายในตัวเครื่อง เมื่อเกิดการพัง ชำรุด เสียหาย สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ไม่ยุ่งยากและทำได้ไม่ยาก

ในด้านของราคานั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ราคา จะเริ่มต้นที่ราคา 2,000-15,000 บาท ราคาจะแตกต่างกันที่ขนาดและมอเตอร์สำหรับการใช้งาน ดังนี้

  1. ไซซ์คอนโดฯ ขยะไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อวัน
  2. ไซซ์ครอบครัว ขยะไม่เกิน 2 กิโลกรัมต่อวัน
  3. 3. ไซซ์ครอบครัวใหญ่ ชุมชนเล็กๆ หรือวัด

ในอนาคตและก้าวต่อไป ทีมวิจัยเตรียมขยายผลเพื่อใช้จัดการกับอาหารภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มักพบอุปสรรคในการนำไปกำจัด โดยอาจนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการกับอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยติดเตียงตามครัวเรือนได้ต่อไปอีกด้วย

ขนาดของเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ทั้งหมด

สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับ “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ได้ที่ อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Center and Technology Development for Environmental Innovation – REi) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th