สมุนไพรช่วยโรคซึมเศร้า

ในทางการแพทย์มีเกณฑ์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าคือ มีอาการดังต่อไปนี้มากกว่าหรือเท่ากับ 5 อาการ โดยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และต้องมีอาการอยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน เป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ

  1. มีอารณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจจะเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
  2. ความสนใจหรือเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลยใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตายหากท่านผู้อ่านสงสัยว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เป็นหลัก สมุนไพรที่สามารถใช้เสริมการรักษา ได้แก่
  1. ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้าเปรียบเทียบการใช้สารสกัดขมิ้นชัน 500 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้าฟลูออกซิทีน (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าขมิ้นชันช่วยลดความรุนแรงของอาการซึมเศร้าได้ และหากใช้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าฟลูออกซิทีน จะมีเปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษาที่มากกว่าการใช้ยาต้านซึมเศร้าเดี่ยวๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การตอบสนองการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาต้านซึมเศร้า เท่ากับ 64.7 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดขมิ้นชัน และสารสกัดขมิ้นชันจะให้ผลตอบสนองเพิ่มขึ้นเป็น 77.8 เปอร์เซ็นต์ (วัดจากคะแนนความรุนแรงของอาการซึมเศร้าด้วยแบบประเมิน HAM D-17)

วิธีรับประทาน แคปซูลขมิ้นชัน รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ข้อควรระวัง ในการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรระวังการใช้ในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

  1. บัวบก มีการใช้บัวบกเป็นยามาแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน บัวบกสามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้สารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่าภายใน 1 เดือนเริ่มเห็นผล และเห็นผลชัดเจนขึ้นเมื่อผ่านไป 2 เดือนจากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สารสกัดบัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียด และลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ความเต็มใจที่จะปรับตัวและเรียนรู้ดีขึ้น บัวบกจึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล ขนาดการรับประทานสำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบสด ก็สามารถคั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา ส่วนการใช้ใบบัวบกแห้งเป็นยารับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นแล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา ส่วนบัวบกชนิดแคปซูล รับประทานได้วันละ 2-3 แคปซูล

ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป ข้อควรระวังคือ บัวบกเป็นยาเย็น ไม่ควรรับประทานคราวละเยอะๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่รับประทานเป็นกำๆ จะต้องรับประทานบ้างหยุดบ้าง ถ้ารับประทานสดทุกวัน ควรรับประทานแต่น้อยประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลียหรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรรับประทาน ถ้ารับประทานแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจำไม่ควรรับประทาน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษาพบว่าการรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ อาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้