แห่เทียนพรรษาโคราชจัดยิ่งใหญ่ ท้าชม 60 คุ้มวัด ชิงอวดโฉมอลังการ!

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันเข้าพรรษา ซึ่งพุทธศาสนิกชนมักจะพาครอบครัวไปเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ขอพรจากพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว และสิ่งที่จะขาดไม่ได้ นั่นคือการนำเทียนพรรษาไปถวายพระสงฆ์ ตามความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ถวายเทียนพรรษาแก่พระสงฆ์ ในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความความเจริญรุ่งเรือง เหมือนแสงเทียนที่สว่างไสว

ส่วนวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้น เนื่องจากฤดูฝนเป็นช่วงที่เกษตรกรทำนาปลูกข้าว องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่ง ไม่ต้องไปจาริกหรือเดินทางไกลเป็นเวลา 3 เดือน เพราะอาจจะไปเหยียบย่ำทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้ อีกทั้งในอดีตไม่มีไฟฟ้าใช้ จำเป็นต้องอาศัยเทียนจากพุทธศาสนิกชนที่นำมาถวายวัด จุดไว้กลางอุโบสถตลอดทั้งคืน เพื่อเป็นแสงสว่างให้พระภิกษุสงฆ์ได้สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาตลอดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ประเพณีถวายเทียนพรรษานี้จึงได้สืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้

ต่อมาหลายชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากต้องการที่จะจัดกิจกรรมการถวายเทียนพรรษาให้ยิ่งใหญ่ จึงกลายเป็นประเพณีถวายเทียนพรรษาในปัจจุบัน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาถือว่ามีประเพณีแห่เทียนพรรษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยในแต่ละปีจะมีคุ้มวัดต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจกันทำขบวนเทียนพรรษาขึ้นอย่างประณีต มีการแกะสลักต้นเทียนเอกที่วิจิตรสวยงาม โดยช่างฝีมือในชุมชนเอง หลายคุ้มวัดมีการรวมตัวของชาวบ้านช่วยกันทำขบวนเทียนพรรษานานกว่า 3 เดือน และมีการทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธามาลงทุนทำขบวนเทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ บางขบวนต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 300,000 บาท เพียงเพื่อที่จะทำต้นเทียนให้มีความสวยงาม ยิ่งใหญ่ อลังการ นำไปอวดโฉมแก่นักท่องเที่ยวแค่ 2-3 วันเท่านั้น

ในปีนี้ก็เฉกเช่นกัน…คุ้มวัดใหม่สระประทุม อำเภอโชคชัย ซึ่งเป็นแชมป์แห่เทียนพรรษาโคราช 10 สมัยซ้อน มีเพียงปี 2559 ที่ผ่านมาเพิ่งจะเสียตำแหน่งแชมป์อันยืนยาวให้กับวัดนอก อำเภอโชคชัยไปอย่างน่าเสียดาย ปีนี้ทางคุ้มวัดใหม่สระประทุมจึงได้รวบรวมกำลังชาวบ้านช่วยกันแกะสลักเทียนพรรษาอย่างวิจิตรงดงาม ใช้เนื้อเทียนไขหนักกว่า 10 ตัน ทุ่มงบประมาณไปแล้วกว่า 300,000 บาท เพื่อหวังทวงตำแหน่งแชมป์คืนมาให้ได้

ความพิเศษของขบวนเทียนวัดใหม่สระประทุมนี้ คือจะใช้เนื้อเทียนไขบริสุทธิ์ เพื่อให้สีเทียนที่มีความเหลืองอร่ามสม่ำเสมอทั้งขบวน และช่างของวัดแห่งนี้จะแกะสลักรูปเทวดาให้มีความอ่อนหวานมาก อีกทั้งยังนิยมนำเทียนไขสีขาวมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปอยู่ใจกลางเทียนต้นเอกด้วย โดยปีนี้มีเทียนต้นเอกถึง 3 ต้น ต้นแรกแกะสลักเล่าเรื่องราวพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ ต้นที่ 2-3 แกะสลักเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพพาน รอบขบวนจะมีสัตว์ป่าหิมพานต์นานาชนิด เช่น พญานาคราช พญาครุฑ กินรี และพญาหงส์ เป็นต้น

ขณะที่วัดนอก อำเภอโชคชัย ซึ่งเป็นม้ามืดคว้าแชมป์ไปเมื่อปีที่แล้วก็ไม่ยอมน้อยหน้า หวังที่จะรักษาตำแหน่งแชมป์ไว้ให้อยู่กับคุ้มวัดนี้เหมือนเดิม จึงทุ่มแรงกายแรงใจของชาวบ้านในคุ้มวัดกว่า 50 ชีวิตมาช่วยกันแกะสลักเทียนพรรษา ตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว จนถึงขณะนี้ประดับตกแต่งขบวนเทียนพรรษาเสร็จเกือบหมด เหลือเพียงเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ซึ่งยังคงเน้นแกะสลักเทียนบอกเล่าเรื่องราวขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ส่วนหน้าของขบวนเป็นการจำลองเหตุการณ์การขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ส่วนกลางเป็นต้นเทียนพรรษาร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย และส่วนท้ายเป็นพระราชยานจำลองที่จะใช้ในงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้เนื้อเทียนไขไปทั้งหมดประมาณ 9 ตัน

นอกจากนี้ ยังมีขบวนเทียนพรรษาของคุ้มวัดต่างๆ ที่พร้อมท้าชิงตำแหน่งแชมป์ ประเภท ก อาทิ วัดโพธิ์ และวัดหนองบัวรอง จาก อำเภอเมืองนครราชสีมา, วัดบิง วัดเดิม และวัดใหม่ประตูชัย จาก อำเภอพิมาย ซึ่งขณะนี้ทุกคุ้มวัดพร้อมแล้วที่จะเคลื่อนขบวนมาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้ชม ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2560 ของจังหวัดนครราชสีมา

“สุรวุฒิ เชิดชัย” นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา เผยว่า สำหรับประเพณีแห่เทียนพรรษาของ จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่อลังการ จนถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคมนี้ ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งจะมีขบวนเทียนพรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา ร่วมขบวนแห่กว่า 60 ขบวน เริ่มจากในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น. จะแห่ขบวนเทียนพรรษาทั้งหมดไปรอบตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างทั่วถึง จากนั้นในวันที่ 9 กรกฎาคม จะจอดรถขบวนเทียนพรรษารอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และมีการประกวดถ่ายภาพขบวนเทียนพรรษาชิงเงินรางวัลมากมายอีกด้วย

“สำหรับขบวนเทียนพรรษาที่ชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลไปครอง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาชมกว่า 1 แสนคน” สุรวุฒิ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ