ทียูลุยทำตลาด “ล็อบสเตอร์” เล็งยอดขายขึ้นเบอร์ 1 ใน USA อีก 3 ปี

ไทยยูเนี่ยนเล็งขึ้นเบอร์ 1 “ล็อบสเตอร์” ตลาดอเมริกาอีก 3 ปี เผยโรงแปรรูปกุ้งใหม่ในอินเดียเสร็จ ใช้สิทธิ์ GSP เป็นฐานส่งออกไปอียู

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า ปัจจุบันอเมริกาถือเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลอันดับ 5 ของโลก เป็นทั้งผู้ส่งออก และเป็นตลาดสำคัญในการนำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอเมริกาไทยยูเนี่ยนสามารถทำส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ปลาทูน่าได้เป็นอันดับ 3 หลังยกเลิกการซื้อหุ้นบริษัทบัมเบิลบี ส่วนกุ้งและปูพาสเจอไรซ์มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ส่วนล็อบสเตอร์ ตอนนี้มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 หรือ 3 และคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าไทยยูเนี่ยนสามารถจะมีมาร์เก็ตแชร์ขึ้นเป็นอันดับ 1

ปี 2559 ยอดขายของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนที่อเมริกา และอเมริกาเหนือ (แคนาดา) ประมาณ 39% ที่สหภาพยุโรป มีแบรนด์ปลาทูน่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่อังกฤษและฝรั่งเศส ประมาณ 33% ในเอเชีย 14% ที่เหลือตลาดอื่นประมาณ 13% ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของบริษัทสมัยก่อนทำปลาทูน่า กุ้ง ขายตลาดอเมริกา แต่ที่ผ่านมามีความผันผวนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบขึ้นลง วันนี้เราพยายามบริหารกระจายความเสี่ยงวัตถุดิบไปขายล็อบสเตอร์ ปลาแซลมอน ปลาหิมะแช่แข็ง รวมถึงปลาอื่นๆ ปูหิมะ หอยเชลล์ ในตลาดอเมริกา และกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยไทยยูเนี่ยนมีการผลิตและทําตลาดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง 43% และยังรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label) อีก 57% บริษัทมีแบรนด์ทุกสินค้าทั่วโลกรวมกันมากกว่า 100 แบรนด์ อเมริกาส่งออกอาหารทะเลไปทั่วโลก โดยเฉพาะจีนและแคนาดา วัตถุดิบของอเมริกาส่วนใหญ่จับจากทะเล ส่วนการเลี้ยงกุ้งและปลาน้อย กุ้งเป็นอาหารทะเลที่นำเข้ามากที่สุด

ปี 2559 อเมริกามีการนำเข้ากุ้งประมาณ 1,000 ล้านปอนด์ หรือมากกว่า 4.5 แสนตัน โดยนำเข้าหลักจาก 5 ประเทศ คือ 1. อินเดีย 2. อินโดนีเซีย 3. เวียดนาม 4. ไทย 5. เอกวาดอร์ โดยปี 2560 คาดการณ์ภาพรวมผลผลิตกุ้งของไทยเติบโตได้ 10% หรือประมาณ 300,000 ตัน หากเทียบปี 2559 ผลผลิตอยู่ที่ 270,000 ตัน

“สมัยก่อนไทยมีผลผลิตกุ้ง 600,000 ตัน ต่อปี ส่งออกหลักไปตลาดอเมริกามากถึง 60% แต่วันนี้ทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวส่งไปอเมริกาแค่ 42% เป็นเรื่องดีที่ตลาดไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ตลาดใดตลาดหนึ่ง วันนี้ไทยต้องเปลี่ยนบทบาท กลยุทธ์ไทยต้องเปลี่ยนไปหาโปรดักต์ที่เพิ่มมูลค่าอย่างแท้จริง เพราะไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 เหมือนในอดีตแล้ว ในส่วนของไทยยูเนี่ยนเองไม่ได้เน้นต้องทำเยอะ แต่เราเน้นเลือกสินค้าที่ทำแล้ว สามารถเพิ่มมูลค่า แล้วมีกำไรดีที่สุด นั่นคือกลยุทธ์ของเรา ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนใช้วัตถุดิบกุ้งไทยส่งออกประมาณ 22-25% แล้วแต่ช่วง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท”

สำหรับการลงทุนผลิตกุ้งในอินเดีย ปัจจุบันบริษัทอะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ มีโรงงานผลิตกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง แห่งแรกกำลังการผลิต 30-40 ตัน ต่อวัน และอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแปรรูปแห่งใหม่ กำลังการผลิต 80 ตัน ต่อวัน สามารถผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่า พร้อมรับประทานได้ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ในช่วงทดสอบระบบ และการเทรนคน เนื่องจากโรงงานใหม่ปีนี้ถือว่าอยู่ในช่วงการเติบโต ที่สำคัญคือ การสร้างทีมงาน สร้างคน ตอนนี้ได้ส่งทีมวิศวกร ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพเข้าไปช่วยพาร์ตเนอร์ที่อินเดีย เพราะเรื่องคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ ไทยยูเนี่ยนต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ปี 2560 โรงงานที่อินเดียน่าจะเริ่มรับรู้รายได้ และผลกำไรเข้ามาในกลุ่มได้ หากรวมกำลังการผลิตกุ้งทั้ง 2 โรงงานได้ 120 ตัน ต่อวัน โดยอินเดียผลิตกุ้งส่งออกเป็นหลัก ส่วนใหญ่ผลิตเป็นแบรนด์ของลูกค้าในตลาดสหภาพยุโรป เพราะอินเดียได้สิทธิพิเศษเรื่อง GSP ธุรกิจที่อินเดียมียอดขายรวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ