มทร.สุวรรณภูมิ ส่งเสริมการใช้ Collaborative robot สู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัชระ กัญจนกาญจน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า การจัดการแข่งขัน Cobot Contest Thailand 2022 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ  ให้นโยบายและสนับสนุนให้คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ (Hands on) ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ได้มาตรฐาน

การจัดการแข่งขันครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ร่วมกับ บริษัท ยูเอสอีโฟล-ไลน์ จำกัด และบริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ ความสามารถในการใช้ทักษะ เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Cobot (Collaborative robot) อีกทั้งยังเป็นเวทีให้นักศึกษาได้ก้าวไปสู่บุคลากรที่มีศักยภาพสู่ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวไกลในอนาคต

สำหรับการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบที่ 1 เป็นการแข่งขันการทำโปรแกรม ของหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม โดยการหยิบสินค้าไปวางให้ตรงตำแหน่ง ตามรูปทรงของชิ้นงาน ส่วนรอบที่ 2 เป็นการแข่งขันการทำโปรแกรมและการควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์การเขียนโปรแกรมแขนกลเพื่อทำการคัดแยกสินค้า และจัดเรียงสินค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยที่สามารถควบคุม Servo motor ของจานหมุนให้ตรงตำแหน่งที่ต้องการได้ ซึ่งมีทีมที่สมัครทั้งสิ้น จำนวน 60 ทีม ทีมละ 4 คน ประกอบด้วย (อาจารย์ 1 คน นักศึกษา 3 คน) โดยมีทีมผ่านรอบการคัดเลือกเพื่อเข้าชิงชนะเลิศจำนวน 36 ทีม จาก 27 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และผลการแข่งขันพบว่า ทีม Lanna Automation จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของทีม SUCCESS 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นทีม SUCCESS 2 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

สำหรับทีมที่ชนะเลิศ จะได้ไปศึกษาดูงานโรงงานผลิตหุ่นยนต์ ABB ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน (Shanghai factory in 2023) เพื่อเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักศึกษาต่อไป