ทุเรียนน้ำแร่

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงยิ่ง เป็นอย่างไรกันบ้างหนอกับสภาพฟ้าฝนในช่วงนี้ เห็นว่าหลายๆ พื้นที่ต้องประสบภัยกันมากบ้างน้อยบ้างกันหลายพื้นที่เลย ผมเองแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่เว้น คุณน้ำแวะมาเยือนให้เย็นฉ่ำสำราญเบิกบานใจถึงในบ้านเลยทีเดียว ก็ต้องปรับตัวปรับใจให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ให้ได้ครับ ธรรมชาติคือสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเสมอ

ผอ. และสามทหารเสือ พาลุยสวน

อยู่กรุงเทพฯ เจอฝนกระหน่ำ ก็เลยเดินทางขึ้นเหนือไปหาพี่น้องเกษตรกรสักนิดดีกว่า นัดแนะกับสามทหารเสือแห่งพบพระ อันประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม, ผู้ใหญ่ชะลอ เอี่ยมสะอาด และ ผู้ใหญ่สงัด วินนันท์ ผู้นำหมู่บ้านและเกษตรกรที่เดินหน้าทำสวนเกษตรผสมผสาน ในสวนที่ไม่ได้ปลูกเพียงชนิดเดียวแต่มีหลากหลายพันธุ์ไม้ อะโวกาโดเป็นไม้ผลหลักที่สร้างรายได้ต่อต้นเป็นเงินหลักหมื่นถึงหลายหมื่นบาท โกโก้ที่ปลูกแซมไว้ กล้วยหอม มะละกอ กาแฟ บุกไข่ กระทั่งพืชผักสวนครัวต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงทุเรียน ซึ่งที่พบพระปลูกทุเรียนที่ได้ผลผลิตแล้วหลายพันต้น มีเรื่องกระซิบมาว่า พ่อค้าบางคนมาเหมาทุเรียนพบพระไปขายในช่วงที่ผลผลิตทางสวนเขาเองยังไม่มี อ้าว! ยังไงครับเนี่ย เราก็เลยบุกไปสวนผู้ใหญ่สงัดกัน

ชิมทุเรียนน้ำแร่ที่แสนอร่อย
อะโวกาโดพื้นเมืองที่อร่อยมาก

“เป็นยังไงครับผู้ใหญ่ ทุเรียนที่นี่ออกผลไม่เหมือนชาวบ้านหรือ”

“ไม่รู้เหมือนกันครับยังสรุปไม่ได้ แต่ที่สวนผมออกลูกทั้งปีเลย ที่เห็นนี่รุ่นสองแล้ว ยังมีรุ่นเล็กที่น่าจะเป็นรุ่นสามด้วย”

“เร่งปุ๋ยเร่งยาอะไรครับ”

“ไม่เลยครับ ปลูกและดูแลปกติเลย ให้น้ำให้ปุ๋ยบ้างตามปกติ”

ผู้ใหญ่สงัดกับทุเรียนนอกฤดูในสวน

“ที่สวนตอนนี้ปลูกมากี่ปีแล้วครับ”

“หกปีครับ ปีนี้ได้ผลผลิตเยอะหน่อย ก็ต้องเอาไม้อื่นออกบ้าง ให้ทุเรียนได้รับแสงและลมได้เต็มที่”

“เป็นไปได้ไหมครับว่าทุเรียนที่นี่เป็นพันธุ์ทะวาย”

กาแฟดกมากๆ

“ไม่ใช่ครับ หมอนทองทั่วไปนี่แหละ แต่น่าจะเป็นเพราะดิน น้ำ อากาศ และความสูงของพื้นที่มั้ง”

“รสชาติเป็นยังไงบ้างครับ”

“อร่อยครับ หวาน มัน กลิ่นไม่แรงด้วย”

“เอ่อ…มีชิมไหมครับ”

“มีครับ”

ปลูกบุกไข่แซมในสวนทุเรียน

บันทึกไว้เลยว่า เดือนกันยายน ฝนพรำๆ มีตกบ้างหยุดบ้างสลับกันไป อากาศเย็นสบาย ผู้ใหญ่ไพเราะ บอกว่า คนที่นี่ไม่ต้องใช้แอร์ กลางคืนเย็นจนต้องห่มผ้าได้ทั้งปี คนที่มาจากที่อื่นอาจบอกหนาวกันเลยเชียว ผมได้ลองชิมทุเรียนไป 1 พูเล็กๆ กลิ่นไม่แรงจริงๆ ด้วย ได้กลิ่นทุเรียนแต่ไม่ออกฉุนเหมือนที่เคยชิมมาจากที่อื่น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ได้เลย เพราะมีคนอีกมากที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียน โดยเฉพาะฝรั่ง หากใครได้ชิมก็คงจะติดใจและหันมาชอบทุเรียนพบพระกันได้ง่ายๆ รสหวานมันเช่นทุเรียนหมอนทองทั่วไป เนื้อเนียนละเอียดมาก กัดคำแรกแล้วค่อยๆ เคี้ยว แหม! มันละมุนปาก ละมุนลิ้นมากๆ เลยครับ แต่กินมากไม่ไหว ผมต้องชิมผลไม้อีกหลายชนิด เดี๋ยวอิ่มเสียก่อน ได้ยินผ่านๆ จนต้องถามกันอย่างหาคำตอบให้แน่ใจ เพราะสามทหารเสือเอ่ยถึงคำว่า ทุเรียนน้ำแร่

ผลโกโก้กำลังสุก

“ผู้ใหญ่ครับ ไขความข้องใจให้ผมหน่อยครับ ทำไมเรียกทุเรียนน้ำแร่”

“เอ้า! ทิดโสไม่รู้หรือเนี่ย พบพระนี่แหละ แหล่งน้ำแร่เลย”

“จริงอ่ะ”

อะโวกาโดบัคคาเนียร์ดกมาก

“รู้ไหม น้ำแร่ยี่ห้อดังก็ใช้น้ำจากที่นี่แหละ”

“ผมนึกว่ามาจากฝรั่งเศสนะเนี่ย”

“บ้านเรานี่แหละ ผมถึงบอกไงว่า ที่นี่ดินดี น้ำดี อากาศดี ปลูกอะไรก็งาม ปลูกอะไรก็รสชาติดีทั้งนั้น”

ฝรั่งกิมจูและหงเป่าสือ

“แล้วทุเรียนชุดสอง ตอนนี้เริ่มจำหน่ายได้เมื่อไหร่ครับ”

“พฤศจิกายนครับ มีสั่งจองกันมาเยอะเลย เชิญนะครับ มาชิมสุกๆ จากต้นกันเลย”

“ติดต่อได้ทางไหนครับ”

“โทร.หาผมได้ครับ 089-009-9393 ผู้ใหญ่ไพเราะครับ”

ทุเรียนผลสวยๆ

นอกจากอะโวกาโดและทุเรียนที่เป็นรายได้หลักแล้ว บุกไข่ที่ปลูกแซมไว้แต่ละแปลงก็ทำเงินได้หลายแสนในระยะเวลา 3 ปีให้กับเกษตรกรด้วยครับ อาจมีคำถามว่าทำไมต้อง 3 ปี ก็ตอบแทนผู้ใหญ่เลยว่า บุกไข่ ปลูกจากไข่ลูกประมาณหัวแม่มือ ปีแรกก็สะสมอาหารได้ขนาดหัวประมาณ 1-2 กิโลกรัม พอเข้าหน้าหนาวก็ทิ้งต้น พอถึงหน้าฝนก็งอกต้นเทียมมาใหม่ จนเข้าหนาวปีที่ 3 ก็ขุดได้ บางหัวได้น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัมเชียวนะครับ ราคาสูงสุดที่เคยมีการรับซื้อ คือ 27 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ใหญ่บอกออกรถป้ายแดงเงินสดได้เลย ที่สำคัญ พืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ ลดรายจ่ายในแต่ละมื้อได้อีกไม่น้อย นับว่าเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่มีรายได้เข้ามาหลายทางอย่างยั่งยืนได้เลย น่าอิจฉาไม่น้อย

ไข่บุกที่ใช้เอาไปปลูกต่อ

เท่าที่ผมขับรถตระเวนไปหลายๆ พื้นที่ของพบพระ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือสภาพพื้นที่สูง มีภูเขาและพื้นราบสลับกันไป เกษตรกรก็ปลูกพืชผลที่แตกต่างกัน บ้างก็ปลูกข้าวโพด (อาหารสัตว์) พริก มะเขือ กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน ฯลฯ แต่หลายๆ แปลงก็ลงอะโวกาโดผสมผสานไว้ บางแปลงก็ยังมีทุเรียนให้เห็น จากข้อมูลที่ทราบ เกษตรกรที่นี่มีกิจวัตรให้ทำตลอดทั้งปี การปลูกพืชผสมผสานทำให้มีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ สังเกตง่ายๆ น่าจะเกือบทุกบ้านจะมีรถปิกอัพของตัวเองจอดอยู่ และข้อมูลเดิมที่มีอยู่ก็คือ พบพระเป็นพื้นที่ปลูกกุหลาบตัดดอกส่งขายทั่วประเทศ เสียดายว่ารอบนี้ผมไม่มีเวลาพอที่จะไปแปลงกุหลาบครับ ขอไว้โอกาสหน้าจะนำเรื่องราวกุหลาบจากพบพระมาฝากกันแน่นอน