เกษตรกรชุมพร ใช้เวลาว่างทำตู้ฟักไข่อัตโนมัติ ส่งขาย สร้างรายได้ดี

ตู้ฟักไข่ นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญช่วยให้สามารถฟักไข่ไก่ หรือไข่ของสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียของลูกไก่ที่ฟักออกมาให้มีสภาพพร้อมสำหรับการเจริญเติบโต

ตู้ฟักไข่อัตโนมัติ ขนาด 56 ฟอง

การเริ่มต้นทำธุรกิจใดๆ หากเริ่มทำด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริงแล้วย่อมที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีเวลาว่างจากการทำงานประจำก็สามารถนำเวลาเหล่านั้นมา สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดเป็นรายได้นำมาหล่อเลี้ยงชีวิต การทำตู้ฟักไข่อัตโนมัติจำหน่ายในตลาดเพาะขยายพันธุ์ไก่นั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยมีผู้ที่ต้องการใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติเหล่านี้เพื่อทำการขยายพันธุ์ไก่สวยงาม ไก่ชน หรือสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from home) เป็นระยะเวลานานหันมาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์สวยงามเพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้ตลาดตู้ฟักไข่อัตโนมัติเติบโตควบคู่ไปกับตลาดขายไข่เชื้อ (ไข่ไก่) สายพันธุ์ต่างๆ ที่นับวันจะมีมากขึ้นตามไปด้วย

คุณกมลชัย พลชะนา หรือ คุณแจ้

คุณกมลชัย พลชะนา หรือ คุณแจ้ เกษตรกรทำฟาร์มสุกรและผลิตตู้ฟักไข่อัตโนมัติ อาศัยอยู่ที่ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เล่าว่า “ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจฟาร์มสุกรและตู้ฟักไข่อัตโนมัตินั้น ตนเองได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาก็ดำเนินชีวิตเหมือนกับนักศึกษาจบใหม่ทั่วไปที่หางานทำ จนกระทั่งได้เข้าทำงานตำแหน่งสัตวบาลโรงฟักไข่กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ต้องการนำความรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานไปต่อยอดธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อของครอบครัว ในระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นก็ได้พบเห็นเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ที่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ภายในโรงฟักไข่ที่มีประสิทธิภาพสูง แตกต่างจากการใช้งานตู้ฟักไข่ที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่มักพบปัญหาความชื้นและอุณหภูมิเกินค่ามาตรฐาน ในส่วนของโรงฟักไข่ขนาดใหญ่จะมีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวทั้งหมด โดยใช้ห้องควบคุมอุณหภูมิความชื้น (Chamber) เข้ามาทำหน้าที่ในการดักความชื้นและควบคุมอุณหภูมิภายในโรงฟักไข่ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนมากที่สุด

ลูกไก่ในถาด เกิดพร้อมนำออกจากตู้ฟัก

เมื่อสะสมประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีการผลิตสัตว์มาได้ระยะหนึ่ง จึงตัดสินใจลาออกในปี พ.ศ. 2558 เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในแนวทางเกษตรกรที่บ้านเกิดในจังหวัดชุมพร ในช่วงแรกก็ช่วยบิดาเลี้ยงไก่เนื้ออยู่ระยะหนึ่ง ภายหลังจึงตัดสินใจซื้อที่ดินในการทำธุรกิจฟาร์มสุกรอย่างจริงจัง ปัจจุบัน ได้มีการขยายโรงเรือนเลี้ยงสุกรเพิ่มเป็น 2 หลัง เลี้ยงสุกรจำนวน 1,500-1,600 ตัว พร้อมทั้งจดทะเบียนเป็น “บริษัท เคพีฟาร์มชุมพร จำกัด” หากมองโดยผิวเผินธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกรกับการทำตู้ฟักไข่อัตโนมัติอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อมีเวลาว่างก็ได้ทำในสิ่งที่ชื่นชอบควบคู่กันไปด้วย คือ เพาะเลี้ยงสัตว์สวยงามโดยเฉพาะสัตว์ปีก ทั้งนกกระทา ไก่สวยงามสายพันธุ์ต่างๆ จนกระทั่งได้ไปพบกับกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงไก่สวยงามที่มีการจำหน่ายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ รวมไปถึงไข่เชื้อในเฟซบุ๊ก ซึ่งหากต้องการฟักไข่จะต้องใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติในกระบวนการนี้ เมื่อเห็นลู่ทางดังกล่าวจึงได้เริ่มต้นธุรกิจรับสั่งทำตู้ฟักไข่อัตโนมัติเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง

ตัวเซ็นเซอร์สำหรับควบคุมอุณหภูมิในตู้ฟักไข่

 

คัดเลือกอุปกรณ์ผลิตตู้ฟักไข่

“สำหรับความรู้ในการทำตู้ฟักไข่นั้นก็เป็นความรู้ทั่วไปที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว แต่ในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทำตู้ฟักไข่ต้องหาเพิ่มเติมอยู่เสมอ ปัจจุบันอุปกรณ์สำหรับใช้ทำตู้ฟักไข่สามารถที่จะหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด เราเพียงค้นหาอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการของลูกค้าแล้วนำมาประกอบเป็นตู้ฟักไข่เท่านั้น ตู้ฟักไข่มีส่วนประกอบหลายประการที่มีความสำคัญและใช้เป็นตัวกำหนดความต้องการอุปกรณ์นั้นๆ โดยเฉพาะปัจจัยการฟักไข่ ประกอบไปด้วย ระดับอุณหภูมิ, ความชื้นสัมพัทธ์ และการระบายอากาศ เมื่อมีองค์ประกอบ   3 ประการนี้ครบก็สามารถฟักไข่ได้ แล้วนำความรู้รวมถึงปัจจัยในการฟักไข่เหล่านั้นเข้ามาออกแบบตู้ฟักไข่ที่ทำขึ้นเอง

อุปกรณ์ภายในตู้ฟักไข่ 1 ตู้ จะประกอบไปด้วย ชุดมอเตอร์สำหรับใช้ในการกลับไข่และตัวเซ็นเซอร์สำหรับควบคุมอุณหภูมิซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยระบบเซ็นเซอร์จะเข้าไปทำหน้าที่ในการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ฟักไข่ การกลับไข่ และความชื้นภายในตู้ฟักไข่ ลักษณะการทำงานของตู้ฟักไข่อัตโนมัติจะใช้วิธีการกลับถาดไข่ในทุกๆ 1 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 1 ครั้ง หากเป็นไข่ไก่ อุณหภูมิจะตั้งไว้ที่ 37.8 องศาเซลเซียส ส่วนความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60-65 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาโดยทั่วไปของตู้ฟักไข่ที่มักพบเจอกัน คือ ความชื้นและอุณหภูมิที่สูงเกินไป เช่น หากตั้งอุณหภูมิของตู้ฟักไข่เอาไว้ที่ 37.8 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าทำให้ไม่สามารถลดอุณหภูมิภายนอกให้ต่ำไปกว่านั้นได้ วิธีการแก้ไขได้ง่ายๆ คือ ย้ายตู้ฟักไข่เข้าไปไว้ในห้องแอร์เพื่อให้อุณหภูมิภายนอกลดลง แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟที่ใช้เปิดแอร์แทน อย่างไรก็ตาม ต่อให้ได้ตู้ฟักไข่ที่ดีไปแต่อุณหภูมิภายนอกสูงเกินไปองค์ประกอบไม่ได้ย่อมทำให้ไข่เสียหาย นอกจากนี้แล้วขนาดของตู้ฟักไข่เองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นตัวกำหนดมูลค่าของตู้ที่สามารถฟักได้ต่อ 1 รอบ ซึ่งตามปกติแล้วจะติดตั้งถาดฟักไข่ที่สามารถทำการฟักได้ประมาณ 56 ฟอง หากลูกค้าต้องการมากกว่านั้นก็จะต้องใส่ถาดเพิ่มเข้าไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนและขนาดตู้ย่อมต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นแต่หลักการทำงานยังคงเหมือนเดิม

ลูกเป็ดพร้อมนำออกจากตู้ฟักไข่

ทั้งนี้ อุปกรณ์ในการทำตู้ฟักไข่จะเน้นใช้วัสดุที่ราคาไม่สูงมากนักเพื่อให้ลูกค้าประหยัดเงิน เน้นใช้ไม้อัดเกรดพิเศษสามารถกันชื้นได้ โดนน้ำได้บ้าง แต่ไม่สามารถแช่น้ำได้ ถาดกลับไข่ลูกค้าสามารถสั่งได้ตามความต้องการแต่มีขนาดที่มาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนด้านล่าง คือ ถาดเกิด ตามปกติแล้วไข่ไก่จะฟักภายใน 21 วัน แต่ในวันที่ 18-19 ก็จะทำการย้ายไข่ลงมาด้านล่างไว้ในถาดเกิด เพราะในช่วงนี้ไม่ต้องการกลับไข่แล้วและเพื่อให้ลูกไก่เจาะออกมาจากเปลือกไข่ ส่วนอุณหภูมิในการฟักไข่จะสามารถตั้งกำหนดเองได้เพื่อให้เครื่องฟักไข่จดจำและสามารถทำงานโดยอัตโนมัติได้ สำหรับไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่ห่าน จะใช้อุณหภูมิในการฟักอยู่ที่ 37.8 องศาเซลเซียส และอาจมีความแตกต่างกันในไข่แต่ละชนิด แต่ในช่วงที่ฝนตกอุณหภูมิจะลดลงเพราะมีความชื้นในอากาศสูงอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ตัวพ่นหมอกควันในการเพิ่มความชื้นแต่อย่างใด

ส่วนในกรณีที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่ถึง 60-65 เปอร์เซ็นต์ และอากาศภายนอกมีอุณหภูมิที่สูงจะต้องแก้ไขด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยหมอกเพื่อสร้างความชื้นภายในตู้ฟักเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในให้มีความเหมาะสมแก่การฟักไข่ หรืออาจพูดง่ายๆ ว่าการใช้งานตู้ฟักไข่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดผู้ที่ทำการฟักไข่จะต้องมีความเข้าใจในหลักการทำงานของตู้ฟักไข่ในระดับหนึ่ง” คุณกมลชัย กล่าว

ไข่ที่มีการเจริญ อายุ 7 วัน

 

แนะวิธีสังเกตไข่เสีย ไข่ลม

การฟักไข่ไก่จะใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 21 วัน ประมาณวันที่ 3 ต้องมีการส่องไข่เชื้อซึ่งจะเริ่มสังเกตได้ในระยะนี้สามารถส่องเห็นเชื้อไข่ได้ตั้งแต่ระยะ 3 วัน หรือ 7 วัน เมื่อนำไฟฉายส่องดูจะเห็นลักษณะเป็นร่างแหเส้นเลือดของลูกไก่ออกมาให้เห็น ในไข่ทุกใบควรเขียนระบุวันที่เข้าฟักเพื่อให้ทราบได้ว่าไข่ฟองดังกล่าวควรฟักออกมาในวันใดตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น ในระหว่างนี้หากใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติในการฟักจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มอีก รอให้ไก่ฟักออกมาอย่างเดียว หรืออาจตรวจดูอุณหภูมิความชื้นเป็นไปตามที่ตั้งค่าไว้หรือไม่

คุณกมลชัย กล่าวว่า หากเป็นไข่เสีย หรือไข่ลม เมื่อส่องดูแล้วพัฒนาการของตัวอ่อนจะพบว่าเป็นจุดก้อนตายมีลักษณะคล้ายวงแหวน ส่องแล้วไม่เห็นเส้นเลือดและโปร่งแสง หรือใช้ไฟฉายส่องเชื้อขนาดเล็กส่องจะเห็นได้ดีกว่า แต่ก็ไม่จำเป็นใช้ของง่ายๆ ที่มีได้เช่นกัน อาจใช้วิธีการตรวจดูฟองอากาศภายในฟองไข่ เรียกว่า แอร์เซลล์ (Air Cell) สำหรับการทำงานปกติของแอร์เซลล์ภายในไข่จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ เปรียบเสมือนฟองอากาศ หรือ ความชื้นที่อยู่ภายในไข่ และเยื่อหุ้มไข่จะแห้งลดลงมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ การควบคุมน้ำหนักที่หายไปของไข่อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงระยะการฟัก น้ำหนักไข่จะหายไปประมาณ 9-14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะใช้ข้อมูลดังกล่าวมาเป็นตัวกำหนดตั้งค่าความชื้นภายในตู้ฟักไข่ได้อย่างถูกต้อง

ตู้ฟักไข่อัตโนมัตินี้จะมีความชื้นที่ตั้งค่าเอาไว้ให้มีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศด้านนอกของตู้ฟักไข่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำการฟักไข่โดยใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติหากเป็นมือสมัครเล่นมักนิยมนำไข่เข้าตู้ฟักไข่อัตโนมัติในคราวละไม่มาก หรือไม่เต็มแผง อาจนำไข่เข้าตู้ฟักไข่อัตโนมัติประมาณ 5 ฟอง/วัน ในทุกๆ วันและเปิดนำลูกไก่ออกอยู่ตลอดนั่นเอง

ไข่เชื้อสำหรับฟักพร้อมจำหน่าย

 

สร้างตู้ฟัก และตู้เกิดไว้ในที่เดียวกัน

คุณกมลชัย กล่าวว่า ตู้ฟัก และตู้เกิดหากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะมีการแยกส่วนการทำงานออกจากกัน เพราะอุณหภูมิและความชื้นจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าแยกออกลูกค้าจะต้องใช้ถึง 2 ตู้ในการฟัก ซึ่งจะเพิ่มภาระจนเกินไปเลย ทำรวมกันไว้ภายในตู้เดียวกันทั้งถาดเกิดและถาดไข่ สำหรับถาดเกิดด้านล่างนั้น ไก่จะต้องอยู่ในถาดเกิดประมาณ 3 วัน คือ วันที่ 18-21 ในกรณีที่พบว่าไก่ออกจากไข่และขนแห้งดีแล้วภายใน 21 วัน ก็สามารถนำลูกไก่ออกจากตู้ฟักได้ทันที ซึ่งตามปกติแล้ววันที่ 18 ไก่จะเริ่มเจาะเปลือกไข่ เรียกกระบวนการนี้ว่า “ไข่เจาะ, เจาะปากกา” แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้ฟักออกมาที่ 18 วันในทีเดียว เพราะบางครั้งเก็บไข่ออกมาจากรังแม่ไก่แล้วนำมาตั้งพักไว้ด้วย อุณหภูมิในอากาศมีความชื้นเพียงพอทำให้ตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตได้ดีจึงฟักออกมาจากไข่ก่อนกำหนด

ส่วนในกรณีที่ต้องการเก็บไข่เอาไว้โดยที่ไม่ต้องการให้ไก่ฟักออกมาจากไข่จะต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิประมาณ 16-19 องศาเซลเซียส ในอุณหภูมิประมาณนี้ตัวอ่อนภายในไข่จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม หากเลือกการเก็บไข่ไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิอยู่ในระดับดังกล่าวเมื่อเก็บไว้เป็นระยะเวลานานจะต้องคอยหมั่นกลับไข่อยู่ตลอด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไข่แดงแห้งติดผนังของเปลือกไข่อาจจะกลับไข่วันละครั้งก็ได้เช่นกัน

ส่วนการกลับไข่ในตู้ฟักนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่แดงแห้งติดผนังของเปลือกไข่ เนื่องจากในตู้ฟักไข่จะได้รับความร้อนอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่งที่มีการติดตั้งหลอดทำความร้อนเอาไว้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการกลับไข่เพื่อให้ไข่ได้รับอุณหภูมิความร้อนอย่างทั่วถึงและเหมาะสม สำหรับฮีตเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกระจายความร้อนจะใช้เป็นหลอดไส้ ขนาด 40 วัตต์ แต่ลูกค้าก็สามารถที่จะสั่งติดตั้งฮีตเตอร์ทำความร้อนที่มีคุณภาพดีกว่าได้อีกเช่นกัน โดยฮีตเตอร์รูปแบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นขดลวดทำความร้อนแต่ก็เปลืองต้นทุนและมีความยุ่งยากในการซ่อมแซม เพราะฉะนั้นในการทำตู้ฟักไข่ 1 ตู้ จึงเน้นเลือกใช้อุปกรณ์ที่หาง่าย สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เพราะเมื่อลูกค้าซื้อตู้ฟักไข่ไปแล้วหากเกิดการทำงานที่ผิดปกติ หรือเสียหายก็สามารถที่จะทำการซ่อมแซมหาซื้ออะไหล่เปลี่ยนด้วยตนเองได้

 

ตู้ฟักไข่ ออกแบบได้ตามต้องการ

ด้วยเอกลักษณ์ของตู้ฟักไข่ที่สั่งทำจากช่างโดยตรง ลูกค้าจึงสามารถที่จะเลือกขนาดของตู้ฟักไข่รวมถึงอุปกรณ์ในการผลิตได้ด้วยตนเอง แต่ก็มีการแนะนำแลกเปลี่ยนเพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอถึงวัสดุรูปแบบใดราคาเท่าไร เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานมากที่สุด โดยตู้ฟักไข่อัตโนมัติที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม คัดเลือกอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมความชื้นได้ในระดับหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าซื้อได้ในราคาที่ถูก

ในกรณีที่ต้องการใช้วัสดุจำพวกพลาสวูดก็สามารถที่จะทำให้ได้แต่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พลาสวูดเปรียบเสมือนวัสดุทดแทนไม้ที่มีคุณภาพค่อนข้างดี เมื่อมีคราบสกปรกสามารถที่จะฉีดล้างทำความสะอาดได้ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการนำมาประกอบเป็นตู้ฟักไข่ ส่วนด้านข้าง หรือมุม จะใช้อะลูมิเนียมเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนตัวทำความชื้น ลูกค้าสามารถที่จะหามาติดตั้งเพิ่มได้ เนื่องจากมีการทำช่องทางสำหรับติดตั้งอุปกรณ์เสริมเอาไว้ให้ แต่หากลูกค้าต้องการสั่งติดตั้งตัวทำความชื้นเพิ่มเติมก็สามารถที่จะทำให้ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่มีความจำเป็นมากนักเนื่องจากสามารถที่จะใส่ถาดรองน้ำด้านล่างเพื่อเพิ่มความชื้นได้ ส่วนในช่วงฤดูฝนถ้าที่มีความชื้นสูงก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

สำหรับส่วนประกอบที่มีความสำคัญมากที่สุดของตู้ฟักไข่คือ ระบบเซ็นเซอร์ เลือกใช้ยี่ห้อ XM 18 ที่มีฟังก์ชั่นคูลลิ่ง แม้จะมีราคาที่สูงแต่สามารถที่จะทำงานได้ครบจบในที่เดียว สามารถควบคุมฮีตเตอร์ได้ 2 ตัว ในตู้ฟักไข่จะมีการติดตั้งหลอดไฟเอาไว้ จำนวน 2 หลอด หรือ มีฮีตเตอร์จำนวน 2 ตำแหน่งนั่นเอง แต่จะเปิดใช้งานเพียง 1 ตำแหน่ง ส่วนอีก 1 หลอด จะทำงานในช่วงสตาร์ท หรือช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำเท่านั้น ฮีตเตอร์สำรองจะช่วยในการปรับเพิ่มอุณหภูมิ หากอุณหภูมิในตู้ต่ำจนเกินไปเราต้องการไปให้ถึง 37 องศาเซลเซียส ให้เร็วที่สุด ฮีตเตอร์ที่ติดสำรองมาด้วยก็จะทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งจะตัดวงจรการทำงานลงไปเอง เหลือเพียงดวงเดียวเพื่อใช้ควบคุมอุณหภูมิภายในตู้

วิธีการใช้งานมีการตั้งค่าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถนำไปเสียบปลั๊กไฟและเริ่มใช้งานในทันทีและผู้ที่ซื้อตู้ฟักไข่ไปใช้งานส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าไข่ที่ต้องการฟักควรใช้อุณหภูมิเท่าไร หากตู้มีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไป อุณหภูมิผิดปกติ หรือเปิดตู้ค้างเอาไว้ ก็จะมีสัญญาณ Alarm ร้องแจ้งเตือนเพื่อให้ได้รู้ว่าตู้ฟักไข่มีการทำงานผิดปกตินั่นเอง

ในกรณีที่มีอุณหภูมิสูงก็จะมีระบบคูลลิ่ง หรือพัดลมฉุกเฉินติดตั้งเอาไว้เพื่อดูดความร้อนออกมา ซึ่งจะติดตั้งเอาไว้บริเวณด้านข้างของตู้ และอีก 1 จุด บริเวณเพดานตู้ด้านบนซึ่งจะต้องทำงานอยู่ตลอดเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในตู้ เพราะตัวอ่อนไก่นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการออกซิเจน    ตู้ฟักไข่ต้องระบายอากาศได้ดี มีการหมุนเวียนอากาศอยู่ตลอด กอปรกับปัจจัยในการฟักไข่ที่ประกอบไปด้วยอุณหภูมิ การหมุนเวียนอากาศ การระบายอากาศ การกลับไข่ ความชื้น และออกซิเจน

 

เจาะตลาดกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน และไก่สวยงาม

สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน หรือไก่สวยงามอยู่แล้ว เนื่องจากในบางครั้งการเพาะเลี้ยงไก่ชนอาจประสบปัญหาแม่ไก่ตายระหว่างฟัก หรือไม่สามารถฟักไข่ได้ จึงต้องทำการฟักต่อและต้องใช้ตู้ฟักไข่อัตโนมัติเข้ามาในกระบวนการนี้นับเป็นช่องทางให้จำหน่ายตู้ฟักไข่อัตโนมัติเหล่านี้ได้ นอกจากนี้แล้วยังมีนักเพาะพันธุ์ไก่ที่มีการนำเข้าไข่มาฟักด้วยตนเองก็ต้องใช้ตู้ฟักไข่เข้ามาร่วมด้วยอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นการสั่งทำตู้ฟักไข่จึงมีลูกค้าสั่งทำเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นการใช้เวลาว่างสร้างรายได้นอกจากการทำฟาร์มสุกรซึ่งถือเป็นรายได้หลักอยู่แล้ว

ตู้ฟักไข่พร้อมถาดฟัก ขนาด 528 ฟอง และตะกร้าเกิด

คุณกมลชัย กล่าวว่า ตู้ฟักไข่อัตโนมัติมีราคาจำหน่ายตู้ละ 4,500 บาท ไม่รวมตัวทำความชื้นซึ่งมีราคาประมาณ 600-700 บาท และค่าขนส่ง ในระหว่างที่ลูกค้าสั่งทำก็จะมีการแนะนำลูกค้าถึงวัสดุว่าแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี และราคาจำหน่ายตู้ในแต่ละรูปแบบอยู่ที่จำนวนเท่าไร ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้ระยะเวลาผลิตไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก็สามารถที่จะจัดส่งให้ลูกค้าได้ ส่วนตู้ฟักไข่แบบกลับมือจะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ตู้ละประมาณ 3,000 บาท แต่จะไม่ได้รับการติดตั้งชุดมอเตอร์สำหรับใช้ในการกลับไข่ เพราะจะต้องกลับไข่ด้วยมือผ่านวิธีการกวาดไข่จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความยุ่งยากอยู่พอสมควรเพราะต้องกลับไข่วันละ 1-2 ครั้ง หากเป็นการกลับไข่ด้วยตู้ฟักอัตโนมัติจะกลับไข่ในทุกๆ ชั่วโมง แต่ในกรณีที่ลูกค้าบางรายมีกล่องสำหรับติดตั้งอุปกรณ์อยู่แล้วก็มีการแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ หรือวิธีการติดตั้งให้แก่ลูกค้าที่ต้องการประกอบตู้ฟักไข่ไว้ใช้เอง ถือเป็นการหยิบยื่นมิตรไมตรีที่ดีให้แก่ลูกค้า

สำหรับการแข่งขันในตลาดตู้ฟักไข่ ปัจจุบันมีรูปแบบโครงสร้างตู้ที่แตกต่างกัน มีเซ็นเซอร์ มีตัวเลือกที่ต่างกัน แต่โดยรวมแล้วก็ต้องมีการจัดปัจจัยที่มีความเหมาะสมเหล่านี้เข้าไปอยู่ในนั้นทั้งหมด บางรายมีการติดตั้งระบบปรับอากาศเข้าไปในตู้ฟักไข่แต่มีราคาที่สูง หากลูกค้าต้องการก็สามารถสั่งเข้ามาได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีบริการหลังการขายในกรณีที่ลูกค้าต้องการอุปกรณ์เสริมและอะไหล่ก็จะให้คำแนะนำพร้อมจัดส่งให้ตามต้องการ นอกจากนี้แล้วยังมีการขายไข่เชื้อของไก่สวยงามสายพันธุ์ต่างๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจนำไปเพาะฟักภายในตู้ฟักไข่อัตโนมัติด้วยวิธีการจัดส่งทางไปรษณีย์ให้อีกด้วย

คุณกมลชัย กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันยังมีผู้ที่นิยมเพาะฟักไก่สวยงามและไก่สายพันธุ์ต่างประเทศแล้วนำตู้ฟักไข่เข้ามาเป็นส่วนประกอบในขั้นตอนนี้ เพราะฉะนั้นตลาดตู้ฟักไข่จึงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและสามารถทำเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งได้นั่นเอง

ติดต่อเกษตรกร คุณกมลชัย พลชะนา หรือ คุณแจ้ เลขที่ 110 หมู่ที่ 6 ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 86140 โทร. 095-069-3999 เฟซบุ๊ก Kamonchai Phonchana