ดอกมะลิ ตัวแทนแห่งรักอันบริสุทธิ์

คำเอ่ยปากคำแรกของลูกทุกคนที่จะเอ่ยได้คือคำว่า “แม่” ซึ่งทุกชาติ ทุกภาษาต้องเอ่ยที่มีความหมายของคำนี้

อังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย เรียก Mother หรือ Mom mam ลาว เรียก อิแม่ ฝรั่งเศส เรียก La mere ลาแมร์ เขมร เรียก แม จีน เรียก ม๊ะ หรือ ม่า เวียดนาม me ออกเสียง แหมะ โซ่ เรียก เม๋เปะ มลายู มาเลเซีย บรูไน เรียก เมาะ หรือ แมะ จีนกลาง เรียก mama ม๊ามะ อินโดนีเซีย เรียก Ibu อิบู เมียนมา อะเหม่ ไทไต้คง เรียก เม ฟิลิปปินส์ (ตากาล็อก) เรียก Ina อินา

หากจะประมวลคำเรียก “แม่” ทั่วทั้งโลก สำเนียงกล่าวคงไม่แตกต่างกันมากนัก แม้จะอยู่คนละซีกโลก หรือต่างเชื้อชาติ แต่เชื่อว่าความหมายและความรู้สึกคงจะเป็นทิศทางเดียวกันทุกชาติ ทุกภาษา

1470934996

“แม่” ผู้หญิงที่ให้กำเนิดลูก คนไทยเราให้สมญานาม มารดา มารดร และชนนี ถือเป็นความยิ่งใหญ่ที่หาตัวแทนมิได้ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบทั้งขอบเขตที่ใหญ่ยิ่ง นักวิชาการทางภาษาได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำว่า “แม่” ของทุกๆ ภาษา มาจากการออกเสียงของเด็ก หรือทารก ที่มีคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะจากริมฝีปากคู่ ได้แก่ คำ ม, พ, ป, บ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นพยัญชนะชุดแรกที่เด็กสามารถออกเสียงได้ โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่าง

ทุกๆ ปี และหลายปีที่ผ่านมา มีคำขวัญที่เอ่ยถึงพระคุณของแม่ และสำนึกอันพึงสำเหนียกถึงผู้ให้กำเนิด โดยเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยกับสารพัดสิ่ง แต่ก็ไม่ได้เทียบเคียงความเป็นจริงซึ่งได้รับจากแม่ ดังบทเพลง “ใครหนอ” ที่กล่าวไว้ว่า “…จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาเป็นกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ…ฯลฯ” ดังจะขออนุญาตนำคำขวัญมาเป็นอุทาหรณ์ตรึงใจเรา เช่น

คำขวัญวันแม่ ปี 2544

Advertisement

พระองค์แรก ผู้แสนดีให้ชีวิต           ครูคนแรกผู้ประสิทธิ์การศึกษา

หมอคนแรกผู้ถือช้อนคอยป้อนยา   รวมคุณค่านี้ได้แก่แม่เราเอง

Advertisement

คำขวัญวันแม่ ปี 2545

แม่คือพระประจำอยู่ในบ้าน                  บูชาท่านไว้เถิด เกิดมิ่งขวัญ

พระคุณแม่เลิศล้ำเกินรำพัน                        แม่จึงเป็นคนสำคัญทุกวันไป

คำขวัญวันแม่ ปี 2546

สามร้อยหกสิบห้าวันคือวันแม่   มิใช่แค่วันใดให้นึกถึง

สม่ำเสมอสมัครจิตคิดคำนึง                        เหมือนแม่ซึ่งรักลูกครบทุกวัน

     คำขวัญวันแม่ ปี 2555

มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น                   ขึ้นรูปอันอ่อนลออ จนหล่อเหลา

อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา                        อยู่ที่คอยขัดเกลาแต่เบามือ

     คำขวัญวันแม่ ปี 2556

คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่     คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น

จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์                      เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี

จากสำนึกของทุกคนที่ระลึกถึงพระคุณของแม่ อันเป็นที่มาของ “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าเห็นด้วย และสนับสนุนจนขยายขอบข่ายของงานกว้างขวาง รวมทั้งจัดพิธีกรรมทางศาสนา และประกวดคำขวัญวันแม่ ประกวดเรียงความเกี่ยวกับแม่ กล่าวบทร้อยแก้วร้อยกรองสรรเสริญพระคุณของแม่ รวมทั้งการประกวดแม่แห่งชาติ แม่ดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติและตระหนักถึงความสำคัญของแม่ จึงเป็นที่มาของการจัดงานวันแม่ประจำปีแห่งชาติ ตามประกาศจากรัฐบาล ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งงานวันแม่ได้จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร

แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการงดในบางปี เมื่อสงครามสงบลง ก็มีการร่วมกันให้มีงานวันแม่ขึ้นมาอีก โดยมีการเปลี่ยนกำหนดการวันแม่อีกหลายครั้ง และมีการรับรองโดยรัฐบาลประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2493 แต่ก็งดไปอีกเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ทำให้ขาดหน่วยงานที่สนับสนุน และมีการจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งจัดได้เพียงปีเดียว แล้วในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดวันแม่แห่งชาติขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่คือ ดอกมะลิ

1470934973

ดอกมะลิ ดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม ตั้งแต่ดอกตูมถึงบาน ส่งกลิ่นหอมได้ไกล และหอมได้นาน ทั้งสดและแห้ง อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดปี เปรียบได้ดั่งความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างผูกพันธ์ บริสุทธิ์ ไม่มีวันเสื่อมคลายตลอดไป นอกเหนือจากคุณค่าความรู้สึกด้านจิตใจพันผูกระหว่างแม่กับลูกแล้ว ในส่วนของดอกมะลิ ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นคุณค่าในตัวดอกเอง เช่น การนำไปใช้ปรุงยาหอมบำรุงหัวใจ กลิ่นดอกหอมเย็น นำมาลอยในน้ำดื่ม น้ำเชื่อมขนมหวาน กลิ่นหอมเย็นชุ่มชื่นใจ และยังมีสรรพคุณทางยา ซึ่งใช้ได้ทุกประเภทยา รวมทั้งตั้งแต่สมัยโบราณมา ถือว่ามีต้นมะลิในบ้านเป็นสิริมงคล

มะลิ ถือเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่ หรือกล่าวได้ว่าทุกคนรู้จักดอกมะลิเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บ้านใดปลูกไว้ในรั้วรอบขอบชิดบ้าน ก็จะทำให้เกิดความรักความคิดไมตรีต่อกัน ดังความหอมเย็นของกลิ่นดอกที่เชื่อมโยงกับทุกคน สัญลักษณ์แสดงความกตัญญู เป็นเครื่องสักการะบูชาพระ เก็บมาใช้โดยตรง หรือเก็บดอกมาร้อยมาลัยประดับพานพุ่มบูชา ทำพวงหรีด อบขนม โรยหน้าขนมหวาน จนกระทั่งสกัดทำน้ำมันหอมระเหย (absolute) ซึ่งเป็นที่นิยม และมีราคาแพงในตลาดโลก

มะลิ มีชื่อสามัญ Jasmine Arabian

ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasmine sambac

ชื่อวงศ์ OLEACEAE

ชื่ออื่นๆ มะลิป้อม มะลิหลวง มะลิขี้ไก่ มะลิไก่ มะลิเศรษฐี

ไม้ดอกพุ่มเล็ก ก้านเขียว ใบเข้ม ดอกขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอม มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน หรือกึ่งร้อนชื้น มีทั้งประเภทไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้กึ่งเลื้อย พบโดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 200 ชนิด แต่ที่พบในประเทศไทย ประมาณ 45 ชนิด เรียกชื่อเป็นที่คุ้นเคยรู้จักกันดี และที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยเรา ประมาณ 15 ชนิด ที่เรียกชื่อเป็นที่นิยมในกลุ่มมะลิ เช่น มะลิซ้อน มะลิลา มะลิย่าน มะลิไส้ไก่ มะลิทะเล มะลิเขี้ยวงู มะลิป้อม มะลิวัลย์ มะลิพิกุล มะลิฉัตร มะลิพวง มะลิเถา มะลิต้น มะลิเลื้อย มะลิถอด เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์เหล่านี้ก็สามารถซื้อหามาปลูก มาขยายพันธุ์ได้ไม่ยาก

ต้นมะลิเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ได้สะดวก เพียงพื้นที่ปลูกควรจะได้รับแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ได้ทั้งการแยกกอ การชำ รวมถึงการตอนกิ่ง แต่นิยมการปักชำ โดยการชำด้วยกิ่งอ่อน ตัดยาวประมาณ 4-5 นิ้ว แล้วจุ่มฮอร์โมนเร่งราก นำไปปักชำในวัสดุเตรียมไว้ โดยใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ คลุมด้วยวัสดุเพื่อควบคุมความชื้น ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน แล้วแต่ชนิดพันธุ์ เมื่อมีรากออกมาก็นำไปปลูกในกระถางหรือแปลงได้ เมื่อมะลิเติบโตเต็มที่ ควรดูแลด้วยการตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หรือติดโรคแมลงออกไป และควรตัดแต่งกิ่งก้านไปให้โปร่ง ไม่ให้ใบเกาะกันจนแน่นเกินไป มะลิก็จะแตกกิ่งก้านใหม่ ทำให้ออกดอกมากขึ้น และไม่มีโรคแมลงรบกวน

1470934986

ต้นมะลิ และดอกมะลิ เป็นไม้ดอกที่ให้ความรู้สึกเชิงปฏิพัทธ์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของคนเรา เพราะสามารถนำไปใช้เป็นพฤกษาเนื้อนาบุญ นำไปบูชาพระ กราบผู้ใหญ่ขอพร หรือเป็นพฤกษาจินตนาการชวนคิดฝัน เปรียบเหล่านางสนมนมใน หญิงสาววัยรุ่น เปรียบเปรยความหอม ความงามในวรรณคดีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ถ่ายทอดวรรณกรรมอักษรจากเหล่ากวีหลากหลาย นอกจากนั้น ยังเป็นโอสถพฤกษาในกลิ่นอาหารเป็นพฤกษาเภสัช ให้สรรพคุณประกอบในตำรายาไทย รู้จักกันว่าเป็น “ยารสหอมเย็น”

จากฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในเว็บไซต์ Thaicrudedrug.com ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมะลิไว้เป็นที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ ที่จะได้ใช้ดอกมะลิให้ตรงกับคุณค่าสรรพคุณยาไทย ซึ่งดอกมะลิเป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 และทั้ง 9 ซึ่งมีรสหอมเย็นเป็นสรรพคุณบำรุงหัวใจ ให้ความชุ่มชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ร้อนใน กระหายน้ำ ดอกมะลิที่ผสมเข้าในตำรับยาหอมที่มีสรรพคุณดังกล่าว มีตัวอย่างเช่น ยาหอมเทพจิต ยาหอมนวโกฐ ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์

เนื่องจากดอกมะลิใช้ได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง จัดไว้ในทางสุคนธบำบัดก็จะใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิในการกระตุ้นระบบประสาท สำหรับผู้มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย จะช่วยปรับอารมณ์ให้เกิดสภาพสมดุลของจิตใจดีขึ้น บรรเทาความเครียด การปวดกล้ามเนื้อ ความกลัวได้ เพียงใช้ดอกแห้ง 2-3 กรัม ต้มน้ำ หรือทำชามะลิชงน้ำร้อนดื่ม

ในการศึกษาทางเภสัชวิทยา สามารถใช้เพื่อการกระตุ้นหัวใจ มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ รวมทั้งสงบประสาทช่วยให้นอนหลับ ถ้าเป็นน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา จะมีฤทธิ์ไล่หมัดดีกว่าสารเคมีบางชนิดอีก ส่วนทางด้านพิษวิทยา สามารถสกัดสารจากดอกมะลิด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ นำไปใช้ในงานทดลองในห้องปฏิบัติการได้ สรรพคุณทั่วๆ ไปที่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านและชาวเมืองในการนำดอกมะลิมาใช้เป็นส่วนประกอบยังมีอีกมากมาย เช่น

ดอก นำมาตำให้ละเอียดพอกขมับ แก้ปวดศีรษะ ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม แต่ใช้เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน หรือนำดอกสดมาตำใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็ก แก้ทราง แก้หวัด ถ้าเป็นดอกแก่แก้หืดได้ หรือใช้ดอกสดตำให้ละเอียด เช็ดบริเวณเต้านม เพื่อหยุดการหลั่งของน้ำนม ทารักษาแผลเรื้อรัง ฝี หนอง ผื่นคัน ได้

ราก มีรสเผ็ด ขม เป็นยาเย็น ใช้ต้มเป็นยาแก้ปวด รากสดตำแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก บางประเทศใช้รากต้มดื่มน้ำเป็นยาแก้โรคเบาหวาน รากสดนำมาตำผสมน้ำสะอาด นำไปต้มเดือด ใช้น้ำเป็นยาล้างตา หรือช่วยแก้เยื่อตาอักเสบ แก้ตาแดง นอกจากนี้ ยังใช้รากสดทุบแหลกแช่เหล้า พอกบริเวณปวดฟัน ฟันผุ

ใบสดต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย แก้นิ่วในถุงน้ำดี แก้โรคผิวหนัง ผสมน้ำมันมะพร้าวใหม่ ลนไฟทารักษาฝี  แผลพุพอง ต้มน้ำดื่มแก้ไข้

1470935007

ดอกมะลิมีหลายพันธุ์ ทั้งชนิดกลีบดอกชั้นเดียว และหลายชั้น ทั้งดอกเดียวและดอกช่อ ดังคำกล่าวที่ว่า “ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” มีพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริมและนิยมปลูกกันมาก เช่น มะลิลาพันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร ซึ่งปลูกกันในจังหวัดนครสวรรค์ นครปฐม ราชบุรี จันทบุรี นครศรีธรรมราช ลพบุรี นนทบุรี ผลผลิตมีทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทั้งรูปแบบพวงมาลัยดอกมะลิ และดอกสด จนกระทั่งความหอมกระจายไกล เป็นน้ำมันหอมระเหยระดับโลก นาม “King of Essential oil” แต่เราก็ภูมิใจกับฉายาของมะลิไทย ในนาม “King of owner oil”

 

เพลง มะลิขาว

ทำนอง สมาน กาญจนผลิน

ขับร้อง ชรินทร์ นันทนาคร-สวลี ผกาพันธุ์

คำร้อง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

 

หญิง : มะลิเจ้าเอย

ชาย : มะลิเจ้าเอย

หญิง : เก็บมาไว้แต่ตอนเช้า ยามเช้ากลิ่นเจ้าหอมจริงเอย

ชาย : มะลิเจ้าเอย

หญิง : มะลิเจ้าเอย

ชาย : พี่ขอรักใคร่ชมเชย อย่าหอมนักเลย ถ้าไม่มีคนดม

หญิง : มะลิดอกขาว

ชาย : มะลิดอกขาว

หญิง : งามพราวเสียนี่กระไร จะร้อยพวงมาลัยไว้ให้ใครชม

ชาย : มะลิน่ารัก หอมนักกลิ่นชื่นอารมณ์ เจ้าดอกฟ้าที่น่าดม อยากแอบภิรมย์ชื่นใจ

หญิง : มะลิน้อย จะร้อยมาลัยรัก งามหนักหนามิใช่จะแกล้งอวดใคร

ชาย : มะลิน้อย ที่น้องร้อยเอาไว้ ไม่ให้พี่แล้วเจ้าจะเก็บไว้ทำอะไรเอย

 

ต้นมะลิพุ่มกอนี้ ชูช่อส่งกลิ่นหอมผ่านเสียงเพลงคู่นี้มาแล้ว 40 ปี ตั้งแต่สมัยละครโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม (ขาว-ดำ) แต่เดี๋ยวนี้สีสันของโทรทัศน์ชัดแจ๋วแหวว สี เสียง แต่กลิ่นหอมดอกมะลิก็ไม่จืดจาง ไม่ว่าจะฟังเพลงบทไหน “แม้ดอกไร้สีสัน แต่กลิ่นนั้นหอม”

ไม่ว่าบทกวีร้อยแก้ว ร้อยกรอง หากเอ่ยถึงดอกมะลิแล้ว ก็ให้ความรู้สึกสำนึกถึงความบริสุทธิ์ หอม สะอาด เสริมให้คุณค่าทางจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับ “มะลิซ้อนซ่อนกลิ่นรสสุคนธ์ หอมระคนกับบุหงารำไป” จากบทละคร อิเหนา หรือมะลิวัลย์พันกอพฤกษาดาษ เหมือนผ้าลาดขาวลออหนอน้องเอ๋ยฯ จากบทละคร เงาะป่า พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 5

บทเพลงที่กล่าวถึงดอกมะลิมีมากมาย รวมทั้งบทเพลงที่กล่าวถึงพระคุณของแม่กับดอกมะลิ ซึ่งประพันธ์แทนคุณ แทนใจ แทนความรู้สึกเคารพบูชา เช่น “ดอกไม้วันแม่” โดยศิลปิน เอกพล มนต์ตระการ ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า

“คำรักที่บอกด้วยดอกมะลิ คู่ควรกับหนึ่งนารี ที่มีชื่อเรียกว่าแม่ ผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก อุ้มชูดูแล ใจลูกรำลึกถึงแม่ เหมือนมีวันแม่ทุกวัน…ฯลฯ”

เพลงมาลัยดอกมะลิ โดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เพลงแม่ดอกมะลิ โดย แคทรียา อิงลิช เพลงดอกมะลิ โดย วงเฉลียง เพลงก่อนดอกมะลิบาน โดย วงไทม์ รวมทั้งดนตรีกู่เจิง เพลงหอมดอกมะลิ รวมทั้ง “เข็มกลัดมะลิ เฉลิมนรินทร์” ที่ระลึกในวันแม่ จากพันธุ์ไม้สกุลมะลิพันธุ์ใหม่ Jasminum bhumibolianum Chalermglin แต่แม้ว่าจะรวมจำนวนต้นทุกสายพันธุ์ ทุกจำนวนดอกมะลิมากมาย ก็มิอาจเทียบเทียมสายใยรักได้สมค่าความรักจากพระคุณของแม่ด้วยจิตพิสุทธิ์รัก