เผยแพร่ |
---|
ธ.ก.ส. ชูชุมชนห้วยเสือเต้น จังหวัดขอนแก่น ต้นแบบการใช้โมเดล D&MBA ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยคนในชุมชน เริ่มจากปลูกผักยกแคร่ หนีน้ำท่วม สู่การทำเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หนุนคนรุ่นใหม่เป็นหัวขบวนในการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมเติมทุนต่อยอดธุรกิจสู่มาตรฐานผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายศรัทธา อินทรพรหม และ นายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมงาน สวนลุงทิด (เพาะความสุข) ของนายอาทิตย์ แสงโลกีย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่หันมาปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ไผ่บงหวานพันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ดอกกระเจียวหวาน ผักหวานป่า มะเดื่อฝรั่ง กล้วย ผักสลัดต่างประเทศนานาชนิด และไข่ไก่พื้นเมืองจากไก่แดงดอกคูณ เป็นต้น
ผลผลิตจากสวนลุงทิดได้รับการรับรองแหล่งผลิตอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตรและมาตรฐาน GAP จากการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model มีการปลูกผักยกแคร่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช มีการนำผลผลิตกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปหลากหลายช่องทาง อาทิ ตลาดชุมชน หน่วยงานต่างๆ และซูเปอร์มาร์เก็ต
สวนลุงทิดยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ที่เปิดสวนให้เข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการขยายต้นพันธุ์พืชจำหน่ายให้กับผู้สนใจเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและขยายเครือข่ายการเกษตรควบคู่ไปด้วย
นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวว่า สวนลุงทิด เป็นหนึ่งในธุรกิจหัวขบวนของชุมชนห้วยเสือเต้น ซึ่งมีสมาชิกในชุมชนจำนวน 338 ครัวเรือน โดยคนในชุมชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อุทกภัยและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้
ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางการจัดการ-การออกแบบเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” หรือ Design & Manage by Area : D&MBA เริ่มตั้งแต่การประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ เพื่อคลายความกังวลและลดภาระในการชำระหนี้ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้โดยเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการหมู่บ้านสีขาวมั่นยืน
เพื่อเข้ามาช่วยเติมองค์ความรู้และเสริมทักษะด้านการพัฒนาอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ ให้คนในชุมชน เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักบนแคร่และบนโต๊ะ การแปรรูปอาหาร หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนด้วยการเปิดร้านค้าชุมชน โรงสีชุมชน โรงกรองน้ำดื่มชุมชนและชุมชน OTOP นวัตวิถี โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรในชุมชน ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อแปลงใหญ่ และสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรกลเป็นจำนวนกว่า 34 ล้านบาท