ผักดาดฟ้า ทางเลือกคนเมือง

ช่วงโรคระบาดร้ายแรงโควิด ระบาดเป็นที่น่ากลัวของทุกคน ในชุมชนเมืองมีการล็อกดาวน์ห้ามคนออกนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจชนิดหนึ่งรุ่งเรืองจนถึงบัดนี้คือ อาชีพไรเดอร์รับส่งอาหารถึงบ้าน เป็นความสะดวกที่เราต้องจ่ายค่าขนส่งไม่มากนัก แต่พอรับได้ ผู้คนในบ้าน คอนโดฯ ห้องเช่า ต่างถูกบังคับให้อยู่บ้านโดยไม่มีการสนับสนุนด้านอาหารจากภาครัฐอย่างเพียงพอที่มักจะเป็นมาม่ากับเครื่องกระป๋อง แต่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากญาติมิตร ส่งข้าวน้ำโดยแขวนไว้หน้าประตู พอเริ่มอยู่ๆ นานเข้าเริ่มเบื่อมาม่ากับปลากระป๋อง

บัสเตอร์เฮด
ผักสลัด กำลังเติบโต

เมื่อเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร แต่ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ก็คิดได้ว่าเราควรจะปลูกผักไว้กินเอง อะไรก็ได้ ตอนเป็นเด็กก็พอคิดได้ว่าเห็นหรือมีส่วนร่วมการปลูกผักหลังบ้านบ้าง จึงอยากทดลองทำบ้างแต่ด้วยความรู้ไม่เต็มองค์ประกอบทำให้ผิดพลาด บางคนก็เรียนรู้จากความผิดพลาดก็ทดลองทำใหม่ แต่บางคนวางมือเลย คอลัมน์เกษตรในเมือง อยากมีส่วนให้ความรู้และความมั่นใจในการทำแปลงเกษตรในเมือง ในอนาคตเราอาจจะมีเกษตรผู้ประสบความสำเร็จเพราะเริ่มต้นจากการทำเกษตรในเมืองที่เป็นผู้อ่านวารสารเทคโนโลยีชาวบ้านก็เป็นได้

โควิด เป็นเหตุสังเกตุได้

ในช่วงปี 2564 เกิดโควิดอีกรอบ การล็อกดาวน์ทำให้ขาดแคลนอาหารสด การออกจากบ้านไปซื้ออาหารเป็นเรื่องค่อนข้างน่ากลัวว่าจะเสี่ยงเอาโรคโควิดเข้ามาเสี่ยงทั้งตัวเองและคนในครอบครัวอีก ของสดเช่นผักหาซื้อไม่ง่ายนัก และการซื้อมาตุนไว้ก็ทำไม่ได้ เพราะผักไม่สามารถแช่แข็งเหมือนเนื้อสัตว์ได้ ความต้องการผักเพื่อการบริโภคให้ต่อเนื่องยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ

คุณแนน

การอยู่แต่ในบ้านเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย บางครอบครัวมีเด็กกำลังซุกซน ยิ่งเป็นเรื่องเบื่อหน่ายสำหรับเด็ก การหากิจกรรมให้เด็กตลอดทั้งวันเป็นเรื่องยุ่งยาก คุณชนิดา ทองดี หรือ คุณแนน มีที่อยู่เป็นตึกแถวซอยสุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้นครึ่ง จำนวน 7 ห้อง เจอปัญหานี้เพราะมีเด็กในความดูแลสองคนพร้อมกับคุณแม่ มีปัญหาว่าผักสดที่บริโภคหาซื้อยากและที่หาซื้อได้เป็นผักเก่าโทรมๆ บวกกับต้องหากิจกรรมสันทนาการให้กับเด็กอีกสองคน จึงเป็นเหตุให้หาเรื่องปลูกผักเพื่อการบริโภค

ใช้แรงงานคุณแม่
ผักสลัด กำลังเติบโตเต็มที่ พร้อมตัด
ผมจะเรียนเกษตรครับ

เริ่มต้นจากการดูเรื่องราวการเกษตรในออนไลน์ ก็เริ่มปลูกผักโดยใช้กระถางที่ชั้นล่าง มีมะเขือ กระเจี๊ยบ ผักบุ้ง แต่ผักไม่ค่อยสวยเนื่องจากโดนแดดน้อย จึงคิดขึ้นได้ว่าดาดฟ้าเป็นสถานที่รับแดดเต็มๆ ทั้งวัน การจัดการคือเริ่มทาสีกันชื้นพื้นดาดฟ้าทั้งหมด และติดตั้งระบบประปา ใช้เงินประมาณ 10,000 บาท ส่วนการปลูกพืชจำเป็นต้องใช้โต๊ะสำหรับปลูก ซึ่งคุณแนนได้ติดต่อร้านที่รับทำโต๊ะปลูกผักโดยเฉพาะ ความกว้าง 1.5 เมตร ยาว 3 เมตร มีโครงเหล็กเป็นหลังคาและพลาสติกใสคลุม พร้อมดินใส่กระบะ และต้นกล้าผักสลัด จำนวน 98 ต้น ราคารวม 15,000 บาท มาทดลองปลูกก่อนหนึ่งโต๊ะ โดยร้านที่ทำมาจัดการให้ทุกอย่างและสอนวิธีการปลูก การดูแลรักษาอีกด้วย

น้องญาดา และน้องเทียน

ครั้งแรกที่ปลูกประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ยังไม่มีประสบการณ์การดู ทำให้ผลการผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อได้ผลผลิตแล้วจึงทำการปรุงดินและปลูกอีกครั้ง คราวนี้มีความชำนาญขึ้น การเจริญเติบโตของผักเริ่มดีขึ้น และในรอบที่สามสามารถปลูกผักจนประสบผลสำเร็จ จึงมีการสั่งโต๊ะเพิ่มจำนวนอีก 2 โต๊ะ ช่วงนี้ผลผลิตเริ่มมีจำหน่ายจนไม่พอขายจึงเห็นว่าควรเพิ่มจำนวนอีก 2 โต๊ะ รวมปัจจุบันคุณแนนมีโต๊ะผักรวมจำนวนทั้งหมด 5 โต๊ะ

เพิ่มเป็น 5 โต๊ะ
เพาะกล้าก่อนลงถาด

ในการปลูกครั้งต่อๆ มาคุณแนนได้เพาะกล้าผักเองโดยใช้เข่งใส่ขนมจีนขนาดเล็ก หลังจากนำ   พีสมอสใส่ให้เกือบเต็มเข่ง รดน้ำให้ชุ่มแล้วโรยเมล็ดผักลงไป นำไปไว้ที่ร่มและชื้นใช้เวลาประมาณ 2 วัน ผักจะเริ่มงอกออกก็นำมาไว้ที่โต๊ะปลูกทั้งตะกร้าเพื่อให้ได้รับแสงแดดเต็มที่  ต้นกล้าจะยืดตรงและแข็งแรง ช่วงนี้รดน้ำตามปกติจนกระทั่งครบ 7 วัน ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นค่อยๆ แคะขึ้นมาอย่าให้รากขาดปลูกลงใส่ถาดหลุม เมื่อผักตั้งตัวแข็งแรงดีก็จะนำมาปลูกลงบนโต๊ะที่เตรียมไว้ เพื่อให้เหมาะกับขนาดโต๊ะก็จะปลูกได้ จำนวน 98 ต้น ตามจำนวนพอดี รดน้ำด้วยน้ำประปาโดยใช้สายยางสวมหัวฝักบัวให้น้ำกระจายเป็นฝอยรดวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น นับเวลาตั้งแต่เพาะกล้าใช้เวลาประมาณ 38 วัน ก็จะเลือกตัดต้นที่สมบูรณ์และจะค่อยๆ ทยอยตัดส่งลูกค้าจนหมด บางครั้งก็ไม่ถึง 45 วันตามกำหนด การนำมาบริโภคแต่ละรอบในครอบครัวคุณแนนบอกว่า ประมาณ 2 กิโลกรัม ก็เพียงพอต่อการบริโภคแล้ว

โต๊ะแรก หลังจากปรับปรุง

การดูแลรักษา

จากประสบการณ์ที่ไม่เคยปลูกผักกลายเป็นสามารถปลูกผักเพื่อการบริโภคภายในครอบครัวและนำมาจำหน่ายได้ เมื่อตัดผักไปแล้วคุณแนนจะนำเศษผักและรากมาหมักในถุงเพื่อเป็นปุ๋ย ส่วนดินในแปลงก็จะพลิกขึ้นมาให้ทั่วเพื่อทำการตากดิน ประมาณ 5-7 วัน โดยการรดจุลินทรีย์น้ำหมักลงไปเพื่อปรับปรุงดิน หลังจากนั้นก็จะเติมปุ๋ยมูลวัวที่หมักแล้วลงไปผสมกันให้ทั่ว แล้วจึงเริ่มปลูกผักรอบใหม่ การใช้น้ำหมักก็จะใช้น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย น้ำหมักน้ำซาวข้าว รดทุกๆ 7 วัน ส่วนน้ำหมักนมสดจะใช้ก่อนเก็บ คือผักจะมีขนาดโตพอสมควรแล้ว ใช้รดโดยตักทีละช้อนรด เนื่องจากจำนวนผักมีไม่มาก และใช้น้ำหมักนมสด 2 ครั้ง ทำแบบนี้คุณแนนบอกว่าจะทำให้ผักมีรสชาติดี กรอบอร่อย จากผลผลิตโต๊ะละ 10 กิโลกรัม หลังจากมีประสบการณ์แล้วสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 15 กิโลกรัม ต่อโต๊ะ ผักอินทรีย์ที่แท้จริง ผักสามารถเก็บใส่ถุงไว้ในตู้เย็นนานถึง 2 สัปดาห์

ผักเคลใส่กระถาง

การตลาดแบบเล็กๆ ที่คุณแนนได้ทำเกี่ยวกับเรื่องผักคือการโพสต์หน้าเฟซตัวเอง เมื่อเพื่อนในเฟซเห็นก็ได้สั่งผักไปรับประทานแล้วก็บอกต่อๆ เนื่องจากมั่นใจว่าเป็นผักอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณแนนได้โพสต์ขั้นตอนการปลูกผักให้เห็นเกือบทุกขั้นตอน ราคาจำหน่ายผักสลัดคือ กิโลกรัมละ 150 บาท ส่งโดยการใช้แกร็บ เอกเพรส ที่รับส่งสินค้าโดยเฉพาะ ราคาค่าส่งอยู่ที่ประมาณ 100-200 กว่าบาท แล้วแต่ระยะทางโดยค่าส่งผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากซอยสุขุมวิท 101 ในปัจจุบันคุณแนนยังคงปลูกผัก 5 โต๊ะอยู่โดยไม่คิดที่จะเพิ่มการผลิตเนื่องจากไม่มีเวลาทำ เพราะคุณแนนมีอาชีพเป็นหลักอยู่ การปลูกผักเป็นการทำเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ในการปลูกผักขนาดนี้คุณแนนมีรายได้เดือนละประมาณ 5,000-6,000 บาท

อินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์
เหลือทานก็แจก หรือขาย

คุณแนน ฝากถึงผู้ที่อยากทำเกษตรว่า การปลูกผักต้องลงมือทำ เป็นการลองผิดลองถูก ซึ่งจะต้องเกิดปัญหาอยู่แล้ว เมื่อเกิดปัญหาก็จะค่อยๆ แก้ไขปรับเปลี่ยนไป ความรู้อยู่ในสื่อออนไลน์มากมาย อยู่ที่ความตั้งใจมากกว่า ปัญหาที่พบก็ไม่ได้ยุ่งยากมากขนาดไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รวมถึงต้นทุนการเริ่มทำเกษตรในเมืองไม่ได้แพงมาก เพราะเราปลูกแค่เล็กน้อย ปลูกผักที่เรากินก่อนเป็นสิ่งที่สมควรทำ

พริก มะเขือ ก็ปลูก
ดาดฟ้าเก่า ก่อนดัดแปลงเป็นแปลงผัก

ต้องการติดตามเฟซคุณแนนเพื่อปรึกษาการทำเกษตรในเมือง สามารถติดตามได้ที่       Nan Chanida