ณ ที่ฟ้าร้อนดินแล้ง

คราวที่แล้วเราพูดถึงการทำเกษตรกลางทะเลทราย (แถมมีสงครามอีกต่างหาก) ในอิสราเอล ดูว่าเขาพลิกดินและอากาศที่ไม่เป็นใจให้กลายมาเป็นมิตร ทำการเกษตรห่มเขียวไปทั้งทะเลทราย ส่งให้อิสราเอลเป็นผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปทั่วโลกได้อย่างไร

วันนี้พาไปอเมริกา ประเทศที่เจริญร่ำรวย รวยและเสียงดังจนน่าหมั่นไส้

แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจู่ๆ ก็รวย

ถ้าเราศึกษาชีวิตคนอเมริกันอย่างแท้จริง ไม่ได้ดูเอาจากหนังที่พระเอกหล่อนางเอกสวยขับรถเล่นทั้งวันเท่านั้น เราจะรู้ว่าเขายืนหยัดขึ้นมาบนประเทศที่มีปัญหาให้ต้องสู้ อเมริกามีปัญหามากมาย ผ่านมาได้อยู่ได้จนถึงวันนี้ ต้องเรียกนักสู้

ฟาร์มแพะในอริโซนา ภาพโดย U.S. Forest Service

ทางตอนบนของเขา หรือที่เรียกว่าแถบ Midwest ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ เป็นฐานผลิตข้าวโพดใหญ่ที่สุดของโลก จนถูกเรียกว่า corn belt (ไม่แปลว่าเข็มขัดข้าวโพดนะ แต่มันคือแถบพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด หลายรัฐเรียงกันเป็นแถบ ฝรั่งเขามองอะไรเป็นแถบๆ เหมือนที่เรามองอะไรเป็นกลุ่มๆ อย่างประเทศลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรามองเป็นกลุ่ม เขาจะมองเป็นแถบแทน) ดินดีน้ำดี แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีพายุทอร์นาโดพัดผ่านตลอดเวลา จนถูกเรียกว่า Tornado belt ไปด้วย

ชาวบ้านจะเผชิญกับลมพายุทำผลผลิต บ้านเรือนเสียหายตลอด แถมหน้าหนาวก็หนาวจัด หิมะหนาหลายฟุต หนาวติดลบต่อเนื่องหลายเดือน แต่เขาก็สู้

แปลงปลูกอินทผลัมในอริโซนา เขาใช้น้ำเฉพาะส่วนที่ปลูก ที่เหลือก็ปล่อยแห้งไป ภาพโดย Carol M Highsmith

ช่วงหน้าหนาวเขาไม่หยุด เขาก็ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หรือกระทั่งเลี้ยงปลาในโรงเรือนที่ปรับอุณหภูมิให้มันไม่หนาวจนผักช็อกสัตว์ช็อก แต่กระนั้นผลผลิตช่วงหน้าหนาวก็ลดลงมาก จำได้ว่าตอนอยู่ที่นั่นเราต้องกินผักแช่แข็งเป็นหลักในช่วงฤดูหนาว ผักสดๆ มีให้กินตลอดปีอย่างบ้านเรานั้น นับว่าสวรรค์

เราอาจมองว่าเขามีเงินเขาจะลงทุนทำโรงเรือนอย่างไรก็ได้ แต่ต้องคิดถึงตอนบรรพบุรุษเขามาก่อร่างสร้างตัวใหม่ๆ เขาต้องเจอกับภาวะทารุณแบบนี้และสู้กับมันเรื่อยมา ไม่หนีไปไหน ไม่ยอมแพ้ ไม่คร่ำครวญ เวลาคนอเมริกันมีความสุขจะเสียงดัง เสียงดังจนเรารำคาญ แต่เวลาพวกนี้สู้ เขาสู้เงียบๆ แล้วสู้ตายประสาคนอเมริกัน พวกนี้ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ไม่เป็น

และเอาเข้าจริง พอเป็นประเทศที่ร่ำรวยขึ้น แทนที่ลูกหลานเขาจะหยิบโหย่งกลัวลำบาก เขากลับเดินหน้าพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกเขาต่อ ลูกหลานเกษตรกรอเมริกันทิ้งเรือกสวนไร่นาน้อยมาก ขณะที่ลูกหลานเกษตรกรบ้านเราบ่ายหน้าเข้าเมือง ตกงานถึงกลับมา

แต่ก็โทษลูกหลานเราไม่ได้ เกษตรกรอเมริกันทำไร่ทำนาหากินได้ตลอดปี ไม่มีหน้าแล้งให้หยุดพัก เขามีการบำรุงดินจนมันสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ดินดีน้ำดี เขาจึงทำกินได้ทั้งปี ไม่ต้องกระเสือกกระสนไปหางานอื่น

ฟาร์มไก่งวงในอริโซนา ภาพโดย Carol M Highsmith

อเมริกายังมีพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย อากาศร้อน อย่างที่รัฐเทกซัส หรืออริโซนา ซึ่งเหมือนจะเพาะปลูกอะไรไม่ได้ เพราะมันคือทะเลทรายทั้งเทือก แต่มนุษย์ที่ไม่ยอมแพ้ก็กัดฟันสู้

เขาจัดการน้ำอย่างดี ส่งน้ำจากแหล่งเท่าที่มีน้อยนิดเข้าไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก บำรุงดินตลอด รัฐอริโซนาที่อยู่กลางทะเลทรายมีต้นกระบองเพชรเป็นพืชประจำถิ่น สามารถปลูกพืชผลสดหลากหลายชนิดเติบโตตลอดทั้งปีบนพื้นที่กว่า 400,000 ไร่

ส่วนเทกซัสซึ่งอยู่ใจกลางแผ่นดินมากกว่า มีทะเลทรายกว้างใหญ่ครอบคลุมทั้งแถบ (คือนอกจากรัฐนี้แล้วยังคลุมเป็นแถบยาวเหยียด) เอาแค่ทะเลทรายเดียวคือ ทะเลทราย Chihuahuan ก็ใหญ่ใกล้เคียงกับประเทศเราแล้ว

แต่เขามีเรือกสวนไร่นากว่า 248,000 แห่ง มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 300 ล้านไร่ มากที่สุดในประเทศเขา เขาปลูกส้ม ปลูกอ้อย เลี้ยงวัว 13 ล้านตัว ในรัฐเขามีพื้นที่ที่เรียกว่าแห้งแล้งน้อยที่สุดคือริมแม่น้ำริโอแกรนด์ ซึ่งก็เป็นแม่น้ำไหลผ่านหุบเขา พื้นที่ลาดเอียงอย่างหนัก เขาก็ปลูกบนหุบเขานั่นแหละ แถบนั้นเป็นฐานของการผลิตโคเนื้อ โคนม และฝ้าย

เก็บเกี่ยวฝ้ายในเทกซัส ภาพโดย U.S. Department of Agriculture.

และเหลือเชื่อว่าอากาศแห้งแล้งนั้นเขาผลิตได้ครบทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง เมล็ดพืช วัว ควาย หมู ไก่ ไก่งวง สตรอเบอรี่ องุ่น หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ พืชที่ต้องการอากาศ ดิน น้ำ ที่หลากหลาย เขาทำได้หมด

กลับมาที่อริโซนา ด้วยความที่เป็นทะเลทรายทั้งรัฐ แถมมีพรมแดนติดเม็กซิโก ประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจน มีคนคอยเล็ดลอดหนีข้ามพรมแดนเข้ามาทุกวัน อริโซนาจึงเป็นทางเลือกท้ายๆ ของคนอเมริกัน เวลาคิดอยากจะปักหลักมีบ้านเรือน คือร้อนก็ร้อน แล้ววันดีคืนดีมีเม็กซิกันอพยพหน้าหมองๆ เดินผ่านหน้าบ้านอีก เขาก็ไม่ชอบ

แต่เหมือนอีกหลายๆ รัฐที่รู้ตัวเองว่าสวยไม่พอ อริโซนาเสนออัตราภาษีที่ต่ำเตี้ย น้อมรับประชากรมาใหม่ด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน ต้อนรับขับสู้สุดชีวิต คนหาบ้านจะได้บ้านราคาถูก ต้นทุนการใช้ชีวิตถูก สิ่งแวดล้อมดี (คือร้อนนะ แต่พื้นที่ไม่แออัด) เกษตรกรได้รับการสนับสนุนเรื่องน้ำอย่างดี บำรุงดินอย่างดี นักธุรกิจได้รับการปฏิบัติอย่างดี ไม่บีบคอรีดภาษี การคมนาคมสะดวกสบาย สาธารณูปโภคครบครัน รองรับสนับสนุนตั้งแต่ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจดิจิทัล ไปจนถึงอุตสาหกรรมอวกาศ

อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแล่นปราดไปทั่วทุกตารางนิ้ว แรงงานมีคุณภาพ เพราะมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเปิดสอนสิ่งที่ธุรกิจในพื้นที่ต้องการแล้วส่งให้ไม่อั้น เน้นธุรกิจแห่งอนาคตคือทุกอย่างที่เป็นดิจิทัล

ลายิ้มตัวนี้อยู่ในเทกซัส ภาพโดย Carol M Highsmith

จึงมีคนย้ายธุรกิจจากเมืองใหญ่ๆ อย่าง ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก หรือนิวยอร์ก ไปอยู่อริโซนามากมาย ยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมดิจิทัลของโลก บัดนี้ย้ายไปอยู่อริโซนาเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างเบาๆ เช่น เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล อินเทล กูเกิล หรือจะยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างแอลจี ก็ไปแล้ว

อริโซนา ถูกเรียกว่า New Silicon Valley หรือไม่ก็เรียกว่า Silicon ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแคลิฟอร์เนีย 36%

พูดมาหมดนี่เหมือนไม่ตรงกับการเกษตรเท่าไหร่ แต่อยากเล่าเรื่องการต่อสู้ท่ามกลางความแร้นแค้นของเขา ทั้งเกษตรกรและคนกลุ่มอื่นๆ

เราโชคดีแค่ไหนแล้วที่เกิดในแผ่นดินที่น้ำดินสมบูรณ์มาแต่เดิม

แต่ทำไมเกษตรกรเรายังยากจน ทำไมยิ่งนานวันน้ำเรายิ่งหาย ดินเรายิ่งจืด?

อันนี้ต้องเค้นหาคำตอบให้ได้ แล้วแก้ไขให้มันลุล่วงให้ได้ในรุ่นของเรา