เรียนรู้ “อาชีพแก้จน” กับ กศน.อำเภอกุดบาก สกลนคร

“จังหวัดสกลนคร” เป็น 1 ในพื้นที่นำร่องโครงการสร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและออกแบบกระบวนการติดตามประเมินผลแผนแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก ภายใต้นโยบาย “กุดบากออนซอน” เพื่อสร้างชุมชนออนซอนมีอาชีพเสริมสร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

ประชาชนที่สนใจอบรมอาชีพเลี้ยงปลาดุกกับ กศน.ตำบลกุดบาก

นโยบาย “กุดบากออนซอน” แบ่งเป็นแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น 3-6 เดือน เป้าหมายคือ “ความอยู่รอด” โดยมุ่งยกระดับรายได้ เช่น เลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าคราม “ออนซอนผ้าคราม” เพื่อเพิ่มรายได้ แผนระยะกลาง 1-3 ปี เป้าหมายคือ “อยู่ได้” ให้มีอาหารในครัวเรือนที่เพียงพอ ยกระดับรายได้ครัวเรือน มีแหล่งอาหารในธรรมชาติเพิ่มขึ้น แผนระยะยาว เป้าหมายคือ กุดบากออนซอน เกิดชุมชนสุขภาวะ ฐานะเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น

ปลาดุก ปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่าย ขายดี

เลี้ยงปลาในบ่อผ้าพลาสติก

กศน.อำเภอกุดบาก สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดสกลนคร ต้องการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพประชาชนให้มีทักษะชีวิต รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม และชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมเพิ่มทักษะด้านการเตรียมอาชีพ ให้มีการประกอบอาชีพอิสระตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

นายสามิตร แก้วก่า รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอกุดบาก มอบหมายให้ นายวัชระ สุริยวงศ์ ครูอาสาสมัครฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างความรู้ด้านอาชีพในการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าพลาสติก เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และมีทักษะในวิชาชีพการเลี้ยงปลา เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพหารายได้ต่อไป

ผ้าฝ้ายย้อมคราม สินค้าโอท็อปของจังหวัดสกลนคร

ข้อดีของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติกคือ ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ การก่อสร้างบ่อเลี้ยงง่าย สะดวกรวดเร็ว ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น แต่ละรุ่นใช้เวลาเลี้ยงเพียง 90-120 วัน ปลาดุกเป็นปลาที่อดทนต่อสภาพน้ำได้ดี สามารถเลี้ยงและดูแลรักษาได้สะดวก นอกจากจับมาบริโภคในครัวเรือนแล้ว ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

การเลือกสถานที่สำหรับสร้างบ่อเลี้ยงปลาดุก ควรอยู่ใกล้บ้าน อยู่ที่ร่มหรือมีหลังคา มีแหล่งน้ำสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวก วิธีการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าพลาสติก เริ่มต้นจากสร้างบ่อผ้าพลาสติก โดยปรับพื้นที่หน้าดินให้เรียบเท่ากัน กำจัดเศษใบไม้ ใบหญ้า วัชพืชต่างๆ ออกให้หมด วางแนวความกว้างของบ่อที่จะสร้าง

Advertisement
ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หลักสูตรผ้าฝ้ายย้อมคราม

หากพื้นที่ไม่มาก ควรวางแนวด้วยเชือก กว้าง 2 เมตร ยาว 3.50 เมตร โรยปูนขาวบนพื้นดินที่เตรียมไว้ จากนั้นโรยแกลบทับ (เปลือกข้าวจากโรงสี) ตามแนวความกว้างและยาวให้เต็ม ให้ชั้นแกลบหนาประมาณ 2 นิ้ว จากนั้นนำกระสอบใส่ดินวางทับซ้อนกันเป็นแนวรอบๆ ตามความกว้างและความยาว 3 ชั้น เป็นคันบ่อ (ขึ้นอยู่กับความต้องการให้บ่อลึกขนาดไหน) หลังจากนั้นนำผ้าพลาสติกขนาดหนาพอสมควรที่น้ำไม่สามารถรั่วออกได้ ขึงปูทับพื้นแกลบและแนวคันกระสอบ

อบรมวิธีทำราวตากผ้าจากท่อพีวีซี

ขั้นตอนต่อมา นำกระสอบดินวางทับผ้าพลาสติกตามแนวคันเดิมที่ได้วางกระสอบดินไว้ให้ขึ้นสูงอีก 1 ชั้น รวมแล้วคันบ่อจะสูงประมาณ 3-4 ชั้น เจาะก้นบ่อ โดยการเจาะผ้าพลาสติก นำท่อสายยางเข้าสวมให้แน่น โดยใช้กาวทาให้สนิทป้องกันรอยรั่วของน้ำ ท่อสายยางดังกล่าวจะใช้เป็นท่อระบายน้ำ โดยท่อสายยางลากยาวผ่านคันบ่อไปยังบริเวณแปลงผักสวนครัว น้ำที่เหลือจากบ่อปลา ในช่วงที่เปลี่ยนถ่ายน้ำสามารถใช้เป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับรดน้ำแปลงผัก

Advertisement

ต่อมาใช้น้ำหมัก พด.2 ตามอัตรา น้ำหมัก พด.2 จำนวน 50 ลิตร ผสมน้ำในบ่อประมาณ 1.00 ลิตร (ขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อ) แช่บ่อ 7-8 วัน เทน้ำออกจากบ่อโดยปล่อยให้น้ำออกไปตามท่อสายยาง จากนั้นเติมน้ำลงไปอีกให้พอกับจำนวนปลาดุกที่จะนำมาเลี้ยง ถ้าเป็นบ่อกว้าง 2 เมตร ยาว 3.50 เมตร สามารถเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 500 ตัว นำปลาดุกเล็กลงเลี้ยง ตกแต่งบริเวณรอบๆ บ่อโดยการนำผักกูดหรือผักที่กินได้มาปลูกรอบๆ บ่อ นำจอกหรือแหนลงปล่อยในบ่อปลา จัดตกแต่งให้ใกล้เคียงกับบ่อปลาตามธรรมชาติให้มากที่สุด ให้อาหารปลาดุกทุกๆ เช้า-เย็น อาจจะใช้เศษเนื้อ เศษเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เหลือจากร้านอาหารมาเลี้ยง ช่วยประหยัดต้นทุนได้ ใช้ระยะเวลา 45 วัน ปลาดุกที่เลี้ยงสามารถนำไปขายสู่ท้องตลาดได้

อบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

ผลิตภัณฑ์จากผ้าคราม

กศน.อำเภอกุดบาก ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในระดับตำบล เพื่อเป็นศูนย์แนะแนวอาชีพของชุมชน เป็นจุดสาธิต ฝึกประกอบอาชีพ และจำหน่ายผลผลิตที่เกิดขึ้น ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เปิดฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชนผู้ว่างงานที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไป ที่ต้องการเข้าสู่อาชีพใหม่ หรือประชาชนที่มีอาชีพอยู่แล้ว ต้องการพัฒนาต่อยอดอาชีพเดิม ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอาชีพด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านพาณิชยกรรมและบริการ กลุ่มอาชีพด้านความคิดสร้างสรรค์ และหลักสูตรกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง

กศน.อำเภอกุดบาก มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้มีความรู้ ความสามารถ และพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพของบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน เช่น ทำราวตากผ้าจากท่อพีวีซี ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ฯลฯ

คณะครู กศน.อำเภอกุดบาก

หลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์จากผ้าครามมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น และเพื่อประกอบอาชีพสร้างรายได้ จัดการเรียนการสอนโดยการใช้สื่อ VTR ประกอบการเรียนการสอนหลักสูตรต่อเนื่อง วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตร 31 ชั่วโมง เพื่อจัดการศึกษาอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนมีความเข้าใจในการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนผลิตชิ้นงานได้เร็ว ทำให้พัฒนาอาชีพของประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่งมอบหนังสือให้ชุมชนได้ใช้อ่าน

ทำลูกประคบสมุนไพร คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำสมุนไพรหลายชนิดมาผ่านกระบวนการทำความสะอาด แล้วนำมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ ตำพอแตก ใช้สมุนไพรสดหรือตากแห้งนำมาห่อรวมกันในผ้าให้ได้รูปทรงต่างๆ เช่น กรณีทำเป็นรูปทรงกลม ปลายผ้าต้องรวมแล้วมัดให้แน่น ทำเป็นด้ามจับ หรือทำเป็นรูปทรงหมอนสำหรับใช้นาบหรือกดประคบส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

กศน.สุพรรณบุรี จับมือ กศน.อ่างทอง จัด “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด”

สำนักงาน กศน.จังหวัดสุพรรณบุรี และ กศน.อำเภอ ทั้ง 10 แห่ง โดย นางสมควร วงษ์แก้ว ผอ.กศน.อำเภอบางปลาม้า นางชิดชนก หนูทอง ผอ.กศน.อำเภออู่ทอง คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา องค์กรนักศึกษา อาสาสมัคร กศน.อำเภอ ร่วมจัดกิจกรรม “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด”

เมื่อเร็วๆ นี้ สนามหน้าอำเภออู่ทอง นายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง เป็นประธานกล่าวปฏิญาณตนประกาศเจตนารมณ์ รวมพลังสร้าง “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด” พร้อมด้วยพิธีมอบธงและป้าย พิธีเปิดกิจกรรม เดินรณรงค์ ต่อต้านยาเสพติด บริเวณตลาดอู่ทอง สุพรรณบุรี ขอขอบพระคุณ อำเภออู่ทอง สถานีตำรวจภูธรอู่ทอง เทศบาลตำบลอู่ทอง ทีมงาน กศน.อู่ทอง และสำนักงาน กศน.จังหวัดสุพรรณบุรี คณะผู้บริหารรักษาการ และบุคลากร กศน.ทั้ง 9 อำเภอ และภาคีเครือข่ายทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือในการจัดกิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี