สศก. ลงพื้นที่ โคราช-เลย สำรวจแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเลย แหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2565/66 ทั้ง 2 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมประมาณ 0.98 ล้านไร่ (นครราชสีมา 615,213 ไร่ และ เลย 369,149 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 14.46 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ซึ่งลดลงจากปี 2564/65 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 2 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกมันสำปะหลังที่มีต้นทุนต่ำและให้ผลตอบแทนดีกว่า

ด้านผลผลิตรวมของทั้ง 2 จังหวัด คาดว่ามีปริมาณ 0.74 ล้านตัน (นครราชสีมา 497,871 ตัน และเลย 246,100 ตัน) คิดเป็นร้อยละ 15.02 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2564/65 ที่มีปริมาณ 0.75 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.33 ตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูก มันสำปะหลังที่มีต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่า และจากการที่ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นมาก เกษตรกรจึงลดปริมาณการใช้ลง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตของทั้ง 2 จังหวัด เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 – พฤษภาคม 2566 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดถึงร้อยละ 46.68 ของผลผลิตรวมทั้ง 2 จังหวัด

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ความชื้น ไม่เกิน 14.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของทั้ง 2 จังหวัดออกสู่ตลาดมากที่สุด พบว่า ราคาสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับราคาในตลาดโลก มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติลง รวมถึงค่าขนส่งและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.28 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.76 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น ร้อยละ 17.35