จบไปแล้วกับการ Workshop สร้างอาชีพสุดปัง! ในงาน ‘SMEs HERO FEST’ สร้างอาชีพสุดปัง! ในหัวข้อ ‘เทคนิคจัดบอนไซ จากไม้ไทย’

จบไปแล้วกับการ Workshop สร้างอาชีพสุดปัง! ในงาน ‘SMEs HERO FEST’ สร้างอาชีพสุดปัง! ในหัวข้อ ‘เทคนิคจัดบอนไซ จากไม้ไทย’
คุณเชน นครปฐม หรือ คุณณรงค์ศักดิ์ ล้ำกิจเสรีชัย ได้มาแนะนำการทำบอนไซจากไม้ไทย โดยนำเสนอในการเลือกไม้ให้ถูกหลักการทำบอนไซ ไม้ที่มีโคนใหญ่ปลายยอดเรียว ส่วนไม้ที่เป็นลำต้นที่เป็นแท่งตรงๆ จะไม่เลือกแต่จะเลือกต้นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีความคดโค้งมีความแปลก ซึ่งอายุของไม้ที่นำมาทำบอนไซไม่ได้กำหนดเรื่องอายุ
คุณเชน บอกอีกด้วยว่า การปลูกไม้ที่นำมาทำเป็นบอนไซจะบังคับให้อยู่ในกระถางเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ รากจะแผ่ขยายเต็มพื้นที่ ในทุกๆ 2-3 ปี ก็จะทำการตัดแต่งราก เพื่อให้รากเกิดเป็นเซลล์รากใหม่ที่สามารถดูดซึมอาหารไปเลี้ยงต้นได้ดีขึ้น ส่วนในเรื่องของการตัดแต่งกิ่งจะทำปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่เหมาะสม
โดยการตัดแต่งจะขึ้นอยู่กับจินตนาการของเขาที่มองเห็นในตัวไม้ว่าจะทำ หรือจะกำหนดรูปทรงแบบใด มีทั้งทำทรงให้โค้งงอยอดตกลงมาต่ำกว่ากระถาง หรือเป็นทรงตั้งตรงสง่างามดูมั่นคง สำหรับเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชที่ต้องระวัง หลักๆ จะป้องกันในเรื่องของเชื้อรา เพราะจะทำให้รากของไม้เน่า การป้องกันคือจะดูแลในเรื่องของวัสดุปลูกให้มีความโปร่ง ไม่ให้อัดแน่นมากจนเกินไป สามารถระบายน้ำได้ดี ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้รากเน่าที่เป็นสาเหตุจากเชื้อราเข้ามาทำลาย
หรือกรณีที่รากเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ขั้นสุดท้ายจะป้องกันด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้ามาช่วยป้องกันและรักษา ส่วนแมลงศัตรูพืชไม่ค่อยพบปัญหามากนัก เพราะไม้แทบทุกต้นค่อนข้างมีความคงทนแข็งแรง
“วัสดุปลูกในสวนผม ก็จะเน้นที่ระบายน้ำได้ดี มีความโปร่ง ประกอบไปด้วย แบล็กลาวา หินภูเขา ดินเผาดินอบ กรวดแม่น้ำ และถ่านไบโอชาร์ นำส่วนประกอบเหล่านี้มาผสมเข้าด้วยกัน และใช้เป็นวัสดุปลูกทั้งหมดให้กับไม้ เพราะพวกนี้คุณสมบัติเหมาะสมมาก ทำให้พื้นที่ในกระถางโปร่ง ช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกไปได้ดีมาก พร้อมกับเก็บความชื้นได้ดีเยี่ยม และที่สำคัญเมื่อปลูกไปนานๆ วัสดุปลูกพวกนี้ไม่ย่อยสลายตัว เราก็ไม่ต้องใส่หรือเปลี่ยนบ่อยๆ มากเกินไป” คุณเชน บอก
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำบอนไซให้ได้คุณภาพ คุณเชน แนะว่า ช่วงแรกอยากให้ทำเป็นงานอดิเรกที่มีความสุขเสียก่อน จากนั้นเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เมื่อยึดการทำบนพื้นฐานของการทำแบบมีใจรัก ไม่นานสิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างแน่นอน
จากการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทั้งหมดต่างกล่าวว่า ได้รับความรู้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำไปปรับใช้กับไม้ทีปลูกได้ ทำให้ได้รับเทคนิคในเรื่องของการทำบอนไซอย่างถูกจต้องและพร้อมจะนำองค์ความรู้ทีี่ได้ในครั้งนี้ไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพต่อไป