สะแล “สลอง” ชื่อดอยแม่ แต่ “สะแล” แม่แกงส้ม

ชื่อวิทยศาสตร์ Broussonetie kurreii corner.a

ชื่อวงศ์ MORACEAE

ชื่ออื่นๆ สาแล (ภาคเหนือ) แกแล (ปราจีนบุรี) ชะแก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) แทแหล (ชลบุรี) ชง (สุราษฎร์ธานี) คันชง ชงแดง (ปัตตานี) ข่อยย่าน (สงขลา)

หนูตัดสินใจไม่ถูกที่จะบอกว่าหนูเป็นสาวภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคใต้ เพราะญาติพี่น้องของหนูอยู่กันมากในแถบจังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ แล้วถูกรวบรวมเป็นแหล่งรับซื้อ นำไปขายได้ราคาดีที่เชียงใหม่ ใครๆ ก็ชอบหนู จึงคิดว่าหนูเป็นสาวจาวเหนือ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นสาวเหนือตอนล่างหรือสาวภาคกลางตอนบนดี ส่วนทางใต้ที่สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี ก็มีคนรู้จักรักชอบหนูนะจ๊ะ

ที่หนูเอ่ยว่าจะเป็นสาวเหนือก็เพราะหนูถูกนำไปขายในตลาดเชียงใหม่มาก แต่จริงๆ แล้วหนูอยากขึ้นไปมีชื่อที่ “ดอยแม่สลอง” จังหวัดเชียงราย ให้มันเหนือสุดไปเลย เผื่อจะได้ไป “แลหมอกให้สะใจ” อ้อ..! แล้วจะ “ชวนใคร” ไปแลดีน๊า? จะได้ไปเที่ยวไร่ชา สุสานนายพล พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ถนนซากุระ ไปยืนชมพระอาทิตย์ตกจากดอย แต่ที่แน่ที่สุดหนูจะต้องไปให้ถึง “พระตำหนักดอยตุง และสวนแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งถือว่าหนูมาถึงดอยแม่สลองแล้ว และถ้าหนูได้อยู่บนดอย หนูจะตั้งร้านชงชาขาย ชาชงตั้งชื่อว่า “ชาลอง-แล” เท่มั๊ยหละ

หนูพร่ำเพ้อเรื่องท้องถิ่นที่หนูชอบมากไป จริงๆ แล้วก็มาจากชื่อแปลกๆ ของหนูนั่นแหละ ที่เอ่ยแล้วคนมาหยอกเย้าเป็นคำคล้องคำผวนอีกมาก เช่น สลัม สลึม สลือ สลิง แต่มีอยู่ชื่อหนึ่งหนูออกเสียงไม่ถูก เพราะมีคนพูดทั้งภาคใต้และภาคอีสาน คือคำว่า “สลุย” จะอ่านว่าสะลุย หรือสะหลุยดีคะ เพราะเป็นชื่อตำบลสลุย ในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร มีทั้งศาลพ่อตาหินช้าง และตลาดกล้วยเล็บมือนางใหญ่ที่สุด แต่ถ้าเขียนว่า “กะลุย” จะแปลว่า มาก ส่วนอีกคำว่า สลุยในภาคอีสาน จะแปลว่า สลัว โอ๊ย..! หนูปวดหัวนักแล!

Advertisement
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขอพูดเรื่องหนูต่อนะคะ ที่หนูพูดว่า “สะแลแม่แกงส้ม” เพราะความเป็นจริงหนูคือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ประเภทยืนต้นที่มีอายุหลายปี เมื่อถูกตัดกิ่งก้านบ่อยๆ ต้นตอเดิมยังไม่ตายก็แตกกิ่งก้านใหม่ แตกแขนงอีก ดูเหมือนเป็นกิ่งกอใหญ่ขึ้น แล้วต่อมาผลัดใบออกดอกติดผลใหม่ จึงมีคนมาตัดมาริดกิ่งทุกปี ทั้งๆ ที่ออกดอกปีละครั้งเท่านั้น สมัยก่อนคนนิยมเข้าหาตัดกิ่งดอกผลในป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ แต่ปัจจุบันบางท้องถิ่นก็นำมาปลูกในไร่ในสวนกันบ้างแล้ว เช่น ชาวบ้านนาทะเล ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ปลูกมากขนาด Thai PBS รายการทุกทิศทั่วไทย ยังไปถ่ายทำสัมภาษณ์ออกทีวี จึงอยากให้คนรู้ว่าที่ “เมืองลับแล” มีดอกผลสะแลมากด้วย

Advertisement

สะแล เป็นพืชผักพื้นบ้าน จัดเป็นสาวชาวป่าก็ไม่ผิด สด บริสุทธ์ ปราศจากสารพิษ ส่วนที่ใช้ทำอาหารก็คือดอกอ่อน มองดูคล้ายผลเล็กๆ ลูกกลม มีผิวตะปุ่มตะป่ำ แต่ถ้าเป็นช่อดอกอ่อนมีขนเกสรสีขาวแทงออกมา เมื่อผสมเกสรแล้วติดเป็นผลเล็กๆ แก่สุกจนเหลือง หรือสลับเขียวเข้ม ออกเต็มช่อชูสวยงาม แต่ไม่นิยมรับประทานแล้ว เพราะจะมีรสขม ในท้องถิ่นเรียกกันหลายกลุ่ม   เพราะมีความแตกต่างกันในแต่ละชื่อ เช่น สะแลสร้อย มีลูกกลมยาว ออกลูกเดี่ยว ส่วนสะแลป้อม มีลูกกลมออกเป็นช่อ สะแลเป็นพืชใบเดี่ยวสีเขียว ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย แยกกันอยู่คนละต้น ออกดอกตามฤดูกาลช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ถ้าออกนอกฤดู เรียกว่า สะแลทะวาย จะออกดอกช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีราคาแพงพอๆ กับเนื้อหมู หรือกุ้ง คือราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250-300 บาท และเป็นอาหารโปรด ทำแกงส้มของชาวเหนือ ถ้าเป็นภาคกลาง อาจจะเป็นยำสะแล หรือแกงส้มพื้นเมืองไม่ใส่กะทิ โดยใส่มะเขือส้มลูกเล็กๆ  เพื่อจะแกงส้มปลาช่อน ปลาย่าง ใส่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ไม่มีข้อจำกัดจะใส่หนังวัวหนังหมูแห้งก็ไม่ขัด ดอกสะแลเพศผู้ลักษณะยาวรีคล้ายก้านพริกไทยสด เรียกกันว่า “สะแลยา” ส่วนดอกเพศเมียรูปร่างกลมคล้ายดอกกะหล่ำจิ๋ว เรียก “สะแลมน” หรือ “สะแลป้อม” มีเทคนิคในการเก็บดอกหรือผล ซึ่งตัดกิ่งมารูด นำไปใช้ทำอาหาร แกงเลียง ยำ แกงส้ม จะต้องรูดให้ติดก้านไปด้วย หากเก็บมารูดเยอะๆ ต้องใส่ถุงมือรูดจะได้ไม่เจ็บมือ ช่วงที่ผลแก่สุกจะเป็นสีเขียวมีขน พอแก่สุกจัด ขนจะร่วงแล้วเป็นสีเหลือง ชาวบ้านเรียกชื่อมีทั้งสะแลพันธุ์เบา และสะแลพันธุ์หนัก

ดอกสะแลรสชาติจืด มีความมัน ลื่นเล็กน้อย ไม่ถึงกับเมือก แต่มีคุณค่าทางอาหารอย่างยิ่ง ให้พลังงาน เยื่อใย แคลเซี่ยม วิตามิน และสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย หมอพื้นบ้านใช้เปลือกต้นสะแล และใบต้มน้ำดื่มแก้อาการบวม แก้โรคไต น้ำเหลืองเสีย ปรับระบบการย่อยอาหาร รักษากรดไหลย้อน โรคกระเพาะลำไส้ได้ ดังนั้น ปัจจุบัน จึงนิยมนำมาปลูกในพื้นที่บ้านเพราะเก็บเกี่ยวได้นาน  ปรุงอาหารได้สารพัดสูตร โดยเฉพาะแกงส้มดอกสะแล จะเลือกปลาช่อน ปลานิล ปลาทับทิม จัดสูตรเครื่องแกงตามชอบ หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ กะปิน้ำปลา กระชายแล้วแต่เลือก ให้น้ำแกงข้นๆ ก็โขลกเนื้อปลาลงผสม ใส่มะขามเปียก จะสูตรปลาร้า ก็เลือกเอา โอ๊ย….! น้ำลายไหล..? ภาคเหนือชอบแกงใส่ปลาย่างหรือกระดูกหมู บางท้องถิ่นดัดแปลงเป็นแกงเลียง รวมทั้งใช้ดอกต้มจิ้มน้ำพริกก็ชั้นยอด กลายเป็นพืชอาหารยาดีพื้นบ้านที่ต้องอนุรักษ์แล้ว หากจะปลูกขยายพันธุ์ตามสวนหรือแนวรั้วบ้านก็จะอยู่ได้ 3-4 ปี นิยมใช้วิธีตัดชำกิ่งแก่ ประมาณ 1 ฟุต ปักชำลงหลุม 1-2 กิ่ง ในที่ร่ม สะแลจะแตกกิ่งหรือเลื้อยเกาะกับไม้ใหญ่ได้ จะให้ต้นโตเร็วกว่าการเพาะชำด้วยเมล็ด

หากจะแลหาพืชพื้นบ้านปลอดสารพิษมีฤทธิ์เป็นยาดีก็ “ลองหาสะแล-แลตะ” แม้ไม่เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ให้ชีวิตที่ได้รับคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอาหารท้องถิ่นที่น่าภูมิใจ ธำรงวัฒนธรรมไทยการกินอยู่ ผสมผสานกันแต่ละภูมิภาค ทั้งเหนือ บน ล่าง ภาคกลาง ภาคใต้ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์เมนูเด็ด กลายเป็น “ลองแลแกงส้มสะแลสูตรเด็ด 77 จังหวัด” ที่แน่ๆ ชัดๆ คือ สะแลจะออกดอกไม่ทันแกง…!