เกษตรกรต้องรู้ ห่วงโซ่การผลิต BCG โมเดล

สวัสดีครับท่านผู้อ่านและเกษตรกรที่รักทุกท่าน ข้อคิดและความคิดเห็นสำหรับตอนนี้ ในมุมมองของผู้เขียน และจากการติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างรอบด้านมาแล้ว ในช่วงนี้ถ้าหากจะไม่กล่าวถึงการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 ที่เราเรียกการรวมตัวของประเทศเหล่านี้อย่างง่ายๆ ว่า กลุ่มเอเปค (APEC) ที่ครั้งนี้ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการประชุมได้เสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีผู้นำในประเทศสมาชิกต่างๆ ทุกมุมโลกมาร่วมประชุมกันทั้ง 21 ประเทศ นอกจากผู้นำหรือผู้แทนประเทศสมาชิกแล้ว ก็ยังมีแขกรับเชิญจากประเทศที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอีกบางส่วนด้วย ซึ่งถ้าจะถามว่าการประชุมในครั้งนี้ เกี่ยวข้องอะไรกับภาคเกษตรไทย หรือเกี่ยวข้องอะไรกับสินค้าเกษตร หรือจะเกี่ยวกับทางเลือกบนความอยู่รอดของเกษตรไทยเราตรงไหนบ้าง เราลองมาถอดรหัสและเรียนรู้หัวข้อสำคัญในการประชุมหารือครั้งนี้กันดูนะครับ

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เขาคุยกันถึงเรื่องทิศทางของโลกและเศรษฐกิจโลก ต่อจากนี้ไปว่าจะต้องดำเนินไปอย่างไร โดยเขาใช้ concept ในการประชุมหารือครั้งนี้ที่เรียกว่า BCG โมเดล ดังนั้น ในฐานะที่เกษตรกรไทยเราอยู่ในกระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เราจึงต้องรับรู้เรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้งไว้ด้วย ซึ่งผู้เขียนจะพยายามใช้คำง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อมาสนทนาในคราวนี้ ให้เราทราบกันง่ายๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

 

BCG model หรือ บีซีจี โมเดล

คำภาษาต่างประเทศนี้ เขาจะใช้เขียนเป็นภาษาสากลกันอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะมีหลายประเทศที่มาร่วมประชุม เขาจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลเพื่อการสื่อสารทั่วไป ซึ่งเราก็สามารถปรับมาคุยให้เป็นภาษาง่ายๆ กันได้เสมอ เพราะการประชุมทุกระดับที่เป็นทางการก็ต้องดำเนินการไปตามหลักการสากล ซึ่งก็ต้องมีความเป็นทางการเป็นเรื่องปกติ แต่เพื่อให้เราเข้าใจง่ายๆ เราก็คงต้องมาสร้างความเข้าใจต่อกันในที่นี้ว่า ตกลงเขาพูดเรื่องอะไรกัน เขาจะทำอะไรกัน แล้วจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับเราบ้าง เราจะไม่รับรู้คงไม่ได้ล่ะ เพราะในประเทศเหล่านี้ เขาย่อมจะเป็นทั้งประเทศผู้ผลิต ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกันเสมอ เพียงแต่อาจจะคนละชนิดสินค้าเกษตรกันเท่านั้น เพราะแต่ละประเทศอาจจะมีการผลิตหลักๆ ที่แตกต่างกันไป ไม่ได้ผลิตเหมือนกันทุกประเทศ นั่นคือเหตุผลที่แต่ละประเทศต่างก็จำเป็นต้องซื้อสินค้าเกษตรที่ตนเองไม่ได้ผลิตหรือผลิตแล้วไม่เพียงพอมาจากประเทศอื่น ในขณะเดียวกัน เขาก็ขายสินค้าที่ประเทศตนเองผลิตได้มาก ส่งออกไปประเทศปลายทางที่ต้องการสินค้านั้นๆ ด้วยเช่นกัน

คราวนี้เราลองมาทำความเข้าใจกันครับว่า BCG model ที่เขาคุยกันในการประชุมกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ว่าแต่ละเรื่องมันคืออะไรกันบ้างที่เราต้องตระหนักและนำมาใช้เพื่อให้อยู่ในกระแสของการตลาดสินค้าเกษตรว่าเขาต้องการและมีทิศทางไปแบบไหนกันบ้าง ดังต่อไปนี้

  1. B : Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ

เรื่องนี้ในความหมายของการประชุมในครั้งนี้ จะหมายถึงแต่ละประเทศในโลกย่อมมีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งความหลากหลายของทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ สามารถนำมาประยุกต์และใช้ได้แบบไม่มีวันหมด หากไม่คิดทำลายอย่างเดียว

ประเทศไทยเราก็เช่นกัน ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ธาตุ และสรรพสิ่ง มีความหลากหลายที่จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้คนได้มากมายจริงๆ ถ้าจะกล่าวถึงความหลากหลายนี้ให้ง่ายๆ และคุ้นเคยก็อาจจะเปรียบได้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั่นเองคือ ถ้าเกษตรกรมีที่ดินเพียงเล็กน้อย ก็ควรต้องใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดและอยู่ได้แบบมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดีนั้นเอง มีที่ดินส่วนหนึ่งปลูกไม้ผล ไม้กินได้ หรือพืชผักบ้าง ใช้เลี้ยงสัตว์ก็ได้ มีส่วนหนึ่งปลูกข้าวไว้บ้างเพื่อบริโภค ถ้าเหลือก็ขาย และส่วนหนึ่งสามารถขุดบ่อไว้เป็นแหล่งน้ำและอาจจะเลี้ยงปลาเลี้ยงสัตว์น้ำได้ด้วย นี่คือแนวปฏิบัติของความหลากหลายอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถทำให้มีกินมีใช้ มีประโยชน์สูงสุด ซึ่งเกษตรกรยุคปัจจุบันควรเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติเป็นอาชีพที่แต่ละคนทำได้อย่างดี ไม่ปลูกแค่พืชเชิงเดี่ยว แต่ควรมีการผลิตที่หลากหลายและสอดคล้องกัน

ในเรื่องความหลากหลายนี้ยังคำนึงถึงการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัย วิทยาศาสตร์การเกษตร มาใช้ในการผลิตด้วย เพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น ผลิตเมล่อน มะเขือเทศ ให้ผลผลิตมีขนาดเท่าๆ กัน หรือผลิตผลไม้ มะม่วง ลำไย ส้มเขียวหวานอย่างไรก็ทยอยออกผลเป็นรุ่นๆ หรือออกนอกฤดูกาลโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรมาช่วย นี่ก็เป็นเรื่องของความหลากหลายทั้งสิ้น

  1. C : Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่ผ่านๆ มา เกษตรกรบ้านเราอาจจะไม่ได้คิดคำนึงในเรื่องนี้ ผลิตอะไรก็จะมุ่งให้ได้สินค้าปฐมภูมิแล้วก็ขายผลผลิตนั้นไป ส่วนอื่นที่ก็จะปล่อยทิ้งหรือทำลายทิ้งอย่างผิดวิธี ตัวอย่างเช่น เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อโคขุน หรือเลี้ยงสุกรขุน ในขณะที่เราให้อาหารข้นหรืออาหารหยาบแก่โคและสุกรไปแล้ว โคและสุกรก็จะกินอาหารไป หลังจากนั้นก็จะขับถ่ายมูลสัตว์ออกมา โดยปกติชาวบ้านทั่วไปก็จะปล่อยทิ้งไว้ในคอก พอมีปริมาณมากๆ ก็จะตักหรือโกยออกมาทิ้งไว้ข้างนอก บ้างก็รอให้มูลสัตว์แห้งก่อน แล้วก็ขายให้ผู้รับซื้อไป ได้เงินมาเล็กน้อยก็ขายไปล่ะ นี่คือวิธีชาวบ้าน แต่ถ้าจะให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุด ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ จำเป็นต้องใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาบริหารจัดการฟาร์ม นั่นคือ มูลสัตว์สามารถนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพได้ โดยมีภาชนะที่เหมาะสมสำหรับใส่มูลสัตว์แล้วจะเกิดเป็นก๊าซ ต่ออุปกรณ์ไปใช้ในการหุงต้มได้ ไม่ซับซ้อน ถ้าเกษตรกรรายใดทำได้ ก็จะลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ เราก็จะเห็นทางเลือกและทางรอดเพิ่มขึ้น แล้วต่อจากนั้น มูลสัตว์ที่เหลือก็นำไปใช้หมักเป็นปุ๋ยชีวภาพได้อีก นำไปใช้กับพืชได้ทุกชนิด ลดต้นทุนได้อีก หรือจะขายเป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ก็สามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าเกษตรกรจะผลิตอะไร ทั้งพืช ทั้งปศุสัตว์ สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้ทั้งสิ้น นี่คืออนาคตแนวทางใหม่ของเกษตรกรไทย ลองทำความเข้าใจดูนะครับ

  1. G : Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียวนั้น น่าจะเป็นเรื่องแนวโน้มของโลกปัจจุบันและอนาคตเลยทีเดียว เหตุเพราะว่าทุกประเทศอยู่ในโลกเดียวกัน มีอะไรก็เกิดผลกระทบถึงกันได้เสมอ ปัจจัยที่กล่าวถึงนี้เริ่มตั้งแต่ดิน น้ำ อากาศ แร่ธาตุ สารเคมี การใช้แรงงาน การทำตามกฎหมายและกติกาการค้าโลก รวมถึงผลกระทบต่างๆ ทั้งสิทธิมนุษยชน และในบางครั้งก็ยังคำนึงถึงเรื่องการเมืองในประเทศนั้นๆ เลยทีเดียว หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้แคบลงมาง่ายๆ ก็คือเกษตรกรที่บ้านอยู่ติดกัน คนหนึ่งปลูกพืช คนหนึ่งเลี้ยงสัตว์ ถ้าคนที่ปลูกพืชฉีดพ่นสารเคมีอาจจะส่งผลถึงชีวิตของสัตว์ที่บ้านใกล้กันเลี้ยงไว้ หรือบ้านที่เลี้ยงสัตว์ปล่อยน้ำเสียทิ้ง อาจจะกระทบถึงบ้านข้างเคียงที่ปลูกพืชจนเสียหายได้ นี่ยังไม่นับถึงเรื่องของคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนด้วยที่อาจจะกระทบไปอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ดังนั้น เรื่องของการผลิตแบบเศรษฐกิจสีเขียวหรือการผลิตแบบคำนึงและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะโลกใหม่จะใช้มาตรการเหล่านี้กำหนดว่าจะซื้อสินค้าจากเกษตรกรเหล่านี้หรือไม่ และจะซื้อในราคาเท่าไร ถ้ารายใดผลิตแบบรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะได้ราคาสูง ใครไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมก็อาจจะไม่สามารถจำหน่ายได้ นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลย นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น หลายประเทศไม่ซื้อไก่เนื้อจากประเทศที่นำข้าวโพดที่ผลิตจากพื้นที่ทำลายป่าและใช้สารเคมีไปทำอาหารสัตว์ให้ไก่กิน หรือกรณีที่ครั้งหนึ่งประเทศในกลุ่ม EU หรือสหภาพยุโรปไม่รับซื้อน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และกระทบมาถึงเมืองไทยด้วย เพราะสาเหตุเริ่มมาจากการพบว่าประชากรลิงอุรังอุตังที่เกาะบอร์เนียวในฝั่งของอินโดนีเซีย มีจำนวนลดลงจากการรุกป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน รวมถึงพบว่าที่มาเลเซียและประเทศไทยก็มีการใช้พื้นที่ป่าไม้บางส่วนที่ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนำไปปลูกปาล์มน้ำมัน ตลอดจนมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียวมีความสำคัญยิ่ง เพราะโลกมีการรับรู้อย่างกว้างขวาง ถ้าไม่ดำเนินการตามแนวทางของข้อตกลงร่วมกัน การกีดกันการค้าก็จะมากขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เป็นเรื่องใกล้ตัวของเกษตรกรไทยในการค้าขายสินค้าเกษตรในเวทีโลกทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องสร้างทางเลือก เพื่อแสวงหาทางรอดไว้แต่ต้นทางนะครับ

ขอขอบคุณ แล้วพบกันในฉบับหน้านะครับ