จังหวัดพังงา ขับเคลื่อน “มังคุด ทิพย์พังงา” โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (FFS)

จังหวัดพังงา ขับเคลื่อนไม้ผลเศรษฐกิจ โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ตั้งเป้าหมายอย่างน้อย 43 กลุ่ม ในพื้นที่ 8 อำเภอ เกษตรกรเข้าร่วมกว่า 1,300 ราย

โรงเรียนเกษตรกรมังคุด อำเภอคุระบุรี

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จังหวัดพังงา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ได้ดำเนินการโครงการยกระดับการผลิตและการตลาดไม้ผลเศรษฐกิจจังหวัดพังงาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ภายใต้โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดพังงา มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตไม้ผล ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาสทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการผู้บริโภค รวมทั้งจัดการข้อมูลแผนการผลิต ปริมาณผลผลิตที่แม่นยำ เพื่อวางแผนปริมาณสินค้าที่จะออกสู่ตลาดในการทำการตลาดล่วงหน้า โดยให้ความสำคัญกับมังคุด

โรงเรียนเกษตรกรมังคุด อำเภอตะกั่วป่า

ซึ่งเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัดพังงา ด้วยลักษณะโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ผิวผลมีสีน้ำตาลอมแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ทำให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งชื่อมังคุดของพังงาว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ลำดับที่ 3 ของจังหวัดพังงา อย่างไรก็ตามจังหวัดพังงายังคงให้ความสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาทุเรียนสาลิกา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพไม้ผลเศรษฐกิจอื่น ๆ และไม้ผลพื้นถิ่นของจังหวัดพังงา เช่น จำปาดะ มะละกะ ให้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด เกิดรายได้ที่มั่นคง และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

โรงเรียนเกษตรกรมังคุด อำเภอตะกั่วทุ่ง

จังหวัดพังงา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ดำเนินการจัดเวทีสัมมนาและฝึกอบรมการดำเนินงานรูปแบบกลุ่มและผู้นำกลุ่ม ภายใต้โครงการยกระดับการผลิตและการตลาดไม้ผลเศรษฐกิจจังหวัดพังงาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ โดยคัดเลือกเกษตรกรกรต้นแบบด้านไม้ผลเข้าร่วม จากพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดพังงา ได้แก่ อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมืองพังงา อำเภอทับปุด และอำเภอเกาะยาว รวม 100 ราย เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตไม้ผลและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล เน้นการดำเนินงานตามแนวทางโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่องการจัดการสวนไม้ผลตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการผลิตมังคุดและทุเรียนคุณภาพ รวมทั้งเรื่องกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) อีกด้วย

โรงเรียนเกษตรกรมังคุด อำเภอท้ายเหมือง

นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า จากความตั้งใจของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา โดยมอบหมายสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ให้ดำเนินการโครงการยกระดับการผลิตและการตลาดไม้ผลเศรษฐกิจจังหวัดพังงาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ จัดเวทีสัมมนาและฝึกอบรมการดำเนินงานรูปแบบกลุ่มและผู้นำกลุ่ม โดยคัดเลือกเกษตรกรกรต้นแบบด้านไม้ผลจากพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดพังงา รวม 100 ราย เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น จากอาจารย์และผู้ที่มีประสบการณ์ตรงด้านไม้ผล

โรงเรียนเกษตรกรทุเรียน อำเภอกะปง

เพื่อเป็นต้นแบบและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ ผ่านการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรด้านไม้ผล ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างน้อย 43 กลุ่ม ประกอบด้วย อำเภอกะปง 8 กลุ่ม อำเภอท้ายเหมือง 8 กลุ่ม อำเภอตะกั่วป่า 6 กลุ่ม อำเภอคุระบุรี 5 กลุ่ม อำเภอตะกั่วทุ่ง 5 กลุ่ม อำเภอเมืองพังงา 5 กลุ่ม อำเภอทับปุด 4 กลุ่ม และอำเภอเกาะยาว 2 กลุ่ม โดยสนับสนุนงบประมาณในการก่อตั้งและเริ่มดำเนินการกลุ่มตามแนวทางโรงเรียนเกษตรกร จำนวน 2 ครั้ง และให้กลุ่มดำเนินการด้วยตัวกลุ่มเองอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต ภายใต้กิจกรรมสัมมนาและฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร

โรงเรียนเกษตรกรทุเรียน อำเภอทับปุด

จังหวัดพังงา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา และสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ดำเนินการกิจกรรมสัมมนาและฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร จำนวน 43 กลุ่ม ครั้งที่ 1 ไปแล้ว ระหว่างวันที่ 19 – 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีวัตุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตไม้ผลและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล เน้นการดำเนินงานตามแนวทางโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งเป็นกระบวนการที่กระตุ้นให้เกษตรกรเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างถูกต้องและเหมาะสม จนเกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติของเกษตรกร โดยมีการดำเนินกิจกรรมตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ครอบคลุมทุกระยะพัฒนาการของไม้ผล รวมทั้งการปฏิบัติและการจัดการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระบวนการฝึกอบรมจะเลือกใช้วิธีที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการมีส่วนร่วมและอาศัยกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ การปฏิบัติจริง ดังนั้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จึงทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสอน หรือกำลังได้รับการฝึกอบรมอยู่ กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้เกิดการยอมรับองค์ความรู้ และนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และด้วยความเต็มใจ

โรงเรียนเกษตรกรทุเรียน อำเภอเมืองพังงา

โรงเรียนเกษตรกรมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ กลุ่มเกษตรกรหรือสมาชิกโรงเรียนเกษตรกร ต้องมีการเรียนในแปลงปลูกพืชและมีระยะเวลาอย่างน้อย 1 ฤดูกาลเพาะปลูก ต้องพบปะกันเป็นประจำ ต้องดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิธีตามหลักวิชาการและวิธีแบบเกษตรกรทั่ว ๆ ไป ต้องมีการทำแปลงศึกษาเฉพาะเรื่อง ซึ่งหัวข้อที่ศึกษาขึ้นอยู่กับปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งมีการกำหนดหัวข้อเรียนรู้พิเศษ ซึ่งเกษตรกรเป็นผู้เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ สมาชิกโรงเรียนเกษตรกรพบปะในแต่ละครั้งอย่างน้อยที่สุดต้องมีกิจกรรมการวิเคราะห์ระบบนิเวศเกษตรแปลงปลูกพืช และปิดท้ายด้วยการตัดสินใจร่วมกันในการจัดการแปลงปลูก และที่สำคัญอีกอย่าง คือ โรงเรียนเกษตรกร 1 กลุ่ม ต้องมีวิทยากรพี่เลี้ยง โดยเฉพาะนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ อย่างน้อย 1 ราย เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้เกิดประสบการณ์

โรงเรียนเกษตรกรไม้ผล อำเภอเกาะยาว

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมสัมมนาและฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร ครั้งที่ 2 สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา และสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 8 อำเภอ มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน ปี 2566 เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือ เกิดโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบด้านไม้ผลที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะโรงเรียนเกษตรกรมังคุด ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาต้องการเห็น “มังคุดทิพย์พังงา” เป็นมังคุดที่ได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้ที่มั่งคงให้กับเกษตรกรจังหวัดพังงาต่อไป

การถ่ายทอดความรู้ตามแนวทางโรงเรียนเกษตรกร
การจัดทำปฏิทินการดูแลรักษามังคุด