ระดับของสังคมเกษตร ชนบทแบบง่ายๆ

ครั้งที่แล้ว เราสร้างความเข้าใจกันถึงเนื้อหาในบางเรื่องที่ผู้นำชาติในกลุ่มเอเปค (APEC) ได้มาประชุมกันในเมืองไทย แล้วได้พูดคุยกันถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบของ BCG model ใน 3 มิติ คือเศรษฐกิจต่อยอดที่ยั่งยืน เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามที่เราได้นำเสนอไปแล้ว

ส่วนในตอนนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนคุยลงไปในรายละเอียดอีกหน่อยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับยุคสมัยที่ผู้คน รวมทั้งเกษตรกรไทยต้องผ่านในช่วงของความยากลำบากไปให้ได้จริงๆ ผมจึงอยากเริ่มต้นคุยแบบที่ใช้ปัญญาของคนรุ่นเก่า กับวิชาการของคนรุ่นใหม่ มาผสมผสานกันด้วยการนำจุดแข็งที่มีอยู่มาร่วมกันคิดรูปแบบการพึ่งพาตนเองในแบบสังคมสร้างสุขและเกื้อกูลกัน ซึ่งอาจจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางก็ได้ ซึ่งในที่นี้ผมจะไม่กล่าวถึงพวกเกษตรกรรายใหญ่ เกษตรเพื่อการอุตสาหกรรมที่คนรวยเขาทำกัน เพราะนั่นเขาอยู่รอดของเขาแล้ว เราไม่ต้องไปยุ่งกับเขามาก แต่อาจจะต้องพึ่งพาเขาในด้านการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในแนวนั้นมากกว่าครับ

ดังนั้น ในที่นี้ผมจึงจะขอกำหนดระดับของสังคมเกษตรแบบชนบทแบบง่ายๆ เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับในครอบครัวหรือบุคคล
  2. ระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน
  3. ระดับตำบลหรือเทศบาล

 

ระดับในครอบครัวหรือบุคคล

เรื่องนี้จะขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแนวทางของการจัดการผลผลิตในครัวเรือน แน่นอนว่าบางครอบครัวทำนา ทำไร่ ปลูกพืชผัก ผลไม้ ไม้ผล ไม้ยืนต้น บางครอบครัวเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ หรือสัตว์ปีก สัตว์บก สัตว์น้ำ ก็ตาม ต่อไปนี้เราต้องคิดใหม่ล่ะครับว่าผลผลิตที่เราปลูกหรือเราผลิตนั้น มันสามารถทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่างเช่น ฟักทอง 1 ต้น ถ้าปลูกฟักทอง 1 ต้นสามารถให้ผลได้ 5-7 ผล หรือถ้าเป็นดอกก็เรียกว่าดอกตัวเมีย และฟักทอง 1 ต้นนั้นจะมีดอกตัวผู้อีกมากมาย มีก้านดอก มียอดอ่อน มีก้านเถา มีใบ มีก้านใบ ซึ่งส่วนมากที่เราเห็นๆ กัน คนเราจะนำมาจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อรับประทานก็มีเพียงแค่ผลแก่เป็นหลัก และอาจจะมีดอกและยอดอ่อนบ้างเล็กน้อยเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว เกษตรกรยุคใหม่นั้น อย่างน้อยต้องเป็นคนช่างสังเกตและต้องเป็นคนอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากเรียนรู้ด้วย ต้องศึกษาให้รู้ว่า ฟักทองต้นหนึ่งที่มันมีทั้งผลอ่อน ผลแก่ เมล็ด ยอดอ่อน ดอก ก้าน ใบ แม้กระทั่งเถา มันอาจจะมีคุณค่ามีราคาขึ้นมาก็ได้ คนในครัวเรือนต้องช่วยกัน พ่อแม่อาจจะเป็นเกษตรกร ลูกหลานอาจจะเรียนหนังสือและกำลังศึกษา ก็สามารถช่วยพ่อแม่เรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ ในโลกดิจิทัลที่เปิดกว้างมากมาย อย่าเพิ่งทิ้งอะไรไปในขณะที่เราไม่ได้เรียนรู้ เราอาจจะเสียอะไรไปโดยไม่ทราบประโยชน์ของมันเลย

ที่กล่าวถึงฟักทอง ก็เพียงจุดประกายให้เห็นเท่านั้นว่าส่วนประกอบของพืชผัก ผลไม้ มันมีมากมายหลายส่วน ก็คงคล้ายๆ กับเกษตรกรชาวนาปลูกข้าวแล้วขายข้าวเปลือก แล้วก็เผาฟางทิ้งไป ทั้งๆ ที่ฟางนั้นมีมูลค่าไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น ใครปลูกพืชอะไร เลี้ยงสัตว์อะไร ก็ควรต้องศึกษาให้ครบทุกส่วนของผลผลิตนั้นด้วย จึงจะถือว่าเป็นเกษตรกรมืออาชีพหรือเกษตรกรยุคใหม่ที่แท้จริงครับ

ระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน

ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็อยากขอเกริ่นว่าเกษตรกรทุกคนเป็นประชาชนของแผ่นดิน หน่วยทางสังคมที่เป็นหน่วยระดับชุมชนจะเป็นหน่วยหรือกลุ่มคนที่เริ่มมีพลังของการร่วมกัน เพื่อคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน และนำจุดเด่นๆ ของแต่ละคน หรือจุดเด่นของผลผลิตของสมาชิกในชุมชนที่ผลิตมาศึกษากัน เพื่อให้รู้ว่าผลผลิตในชุมชนเรา มีอะไรบ้าง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรได้บ้าง เข้าตำราที่ว่า หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ตัวอย่างเช่น คนที่ทำนาอาจจะลืมคุณค่าของฟางข้าว คนที่ปลูกข้าวโพดอาจจะละเลยและไม่เห็นค่าของเปลือกข้าวโพด

ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำให้คนในชุมชนควรร่วมกัน ทำบัญชีผลผลิตของคนในหมู่บ้านว่า มีอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไร หลังจากนั้นก็มาดูว่าผลผลิตแต่ละอย่างมีอะไรที่เป็นผลผลิตหลัก อะไรที่ชาวบ้านคิดว่ามันเป็นของเสีย ซึ่งถ้าทำข้อมูลทางบัญชีผลผลิตกันจริงๆ เราจะพบว่ามีผลผลิตในชุมชนหรือหมู่บ้านของเรามีอะไรบ้าง เราอาจจะพบว่าของเหลือหรือของทิ้งต่างๆ อาจจะสร้างมูลค่าได้มากมายก็เป็นได้ ดังเช่น ฟางข้าวกับเปลือกข้าวโพดที่สามารถนำไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ เป็นอาหารสัตว์ เป็นวัสดุรองรับแรงกระทบในกล่องสินค้าที่ส่งทางไปรษณีย์หรือขนส่งเอกชน อาจจะสร้างมูลค่าและสร้างธุรกิจให้ชุมชนอีกทางหนึ่งก็เป็นไปได้ จึงอยากนำเสนอเป็นแนวคิดไว้เพื่อปลุกระดมให้เราสามารถสร้างทางเลือก หาทางรอดให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งได้ อย่ามองข้ามสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยิ่งถ้าได้รับการช่วยเหลือหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการศึกษา องค์กร หรือเอกชน ในการส่งเสริมนำงานนวัตกรรมมาช่วยชุมชนก็ยิ่งจะเป็นการดียิ่ง และจะเป็นประโยชน์ได้มากมาย

ระดับตำบลหรือเทศบาล

เมื่อมีการบูรณาการระดับครอบครัวหรือระดับบุคคล และระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน สามารถจะสร้างการจัดการตนเองมาเป็นลำดับได้แล้ว คราวนี้ก็จะถึงอีกระดับหนึ่งที่กว้างและใหญ่กว่า นั่นคือ สร้างสังคมเกษตรกรรมในระดับตำบลขึ้นมา ซึ่งในระดับนี้จะมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาและเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีหน้าที่สนับสนุนประชาชนในเขตอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนผู้เลือกตั้งก็ควรจะใช้สิทธิการเป็นประชาชนในการผลักดันให้องค์กรท้องถิ่นของตนเองสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนด้วย ทั้งงบประมาณ ทั้งสถานที่ และความรู้ต่างๆ ที่ อบต. หรือเทศบาลพึงมีให้การสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ของตนเอง

ซึ่งถ้าทุกชุมชนหรือหมู่บ้าน นำข้อมูลผลผลิต ข้อมูลต่างๆ ในแต่ละชุมชน นำมารวมกันเป็นระดับตำบล ก็จะทำให้มีขอบข่ายที่ใหญ่ขึ้น เป็นปึกแผ่นขึ้น รวมทั้งจะมีอำนาจต่อรองได้มากขึ้นด้วย

ถ้าเรามีการรวมกันเป็นเครือข่ายในตำบล โดยมี อบต. หรือเทศบาลเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุน ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนในการหาตลาด สนับสนุนการวิจัยพัฒนา รวมถึงการนำงานนวัตกรรมมาพัฒนาได้ด้วย ไม่เพียงเฉพาะผลผลิตของเกษตรกรเท่านั้น หากแต่ในตำบลก็จะมีเรื่องของทรัพยากรทางธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ถ้ามีงานนวัตกรรมไปช่วยเกษตรกร ดังเช่น ชุมชนใช้วัสดุจากผักตบชวาที่เป็นวัชพืชนำมาผลิตเป็นของใช้ทั้งระดับพื้นบ้าน ไปจนถึงงานประดิษฐ์ระดับคุณภาพหรือระดับพรีเมี่ยม สร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรและคนในชุมชนได้ด้วย

และการรวมกันในระดับตำบลก็จะมีพลังสูงขึ้น ทั้งการรวมเก็บ รวมกันผลิต ไปจนถึงรวมกันขาย รวมกับบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการช่วยเหลือตนเอง สอดคล้องกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในแนวทางของโลก คือ BCG model ด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากเกษตรกรท้องถิ่นใดพยายามรวมตัวกันได้ดังนี้ เราก็เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนที่สนใจต้องการสินค้าจากชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรยังคงต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างผลิต หรือต่างคนต่างทำแบบเดิมๆ เกษตรกรก็จะยังคงไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทิศทางเช่นเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้น เกษตรกรก็จะยังคงผลิตกันไปตามใจชอบ หรือแบบไม่มีทางเลือก ก็คงจะมีทางเลือกเพื่อทางรอดได้ยาก

แต่ถ้าเกษตรกรเริ่มต้นคิด และค่อยๆ ผลักดันตัวเองให้ร่วมกับคนอื่นได้อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ก็เชื่อว่าจะเป็นทางเลือก บนทางรอดของเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดีครับ

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับ