เกษตรกรปัตตานี ปลูกพืชผสมผสาน หมั่นบำรุงดินอยู่เสมอ ช่วยมีผลผลิตสูง

“ดิน” เป็นอีกสิ่งสำคัญในการผลิตสินค้าทางการเกษตร ถ้ามีการจัดการและบำรุงดินอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยให้การปลูกพืชได้ผลผลิตที่ดี เมื่อมองไประยะยาวยังช่วยส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรให้เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างน้อยในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอยู่ตลอด ก็ช่วยทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง  

กำลังเก็บตัวอย่างดิน

คุณดีน หะยีมะแซ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรต้นแบบ ที่ได้ยึดมั่นในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินเป็นอย่างมาก ซึ่งวันดินโลก World Soil Day 2022 ที่ผ่านมา ได้จัดงานภายใต้หัวข้อ Soils, where food begins (อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน) จากคำที่แปลเป็นภาษาไทยที่มีจำนวน 8 คำนี้เอง มีความลึกซึ้งและจะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้กับเขาว่า สิ่งที่กำลังทำเขาได้มาถูกทาง และจะเดินในเส้นทางนี้ต่อไป คือการทำเกษตรในแบบที่เขารัก พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกรรายอื่นๆ

พื้นที่ปลูกผัก 

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รู้จักการทำเกษตร

คุณดีน เล่าให้ฟังว่า พื้นเพเดิมครอบครัวทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมอยู่แล้ว มีพื้นที่ในการผลิตสินค้าทางการเกษตรออกจำหน่าย ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเองได้ไปทำงานประจำอยู่ เป็นงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขามีเหตุจำเป็นต้องการกลับมาอยู่บ้านในระยะยาว อาชีพทางการเกษตรคือสิ่งเดียวที่เขาต้องทำหลังจากนี้จึงได้มองปัญหาที่สะสมมานานของพื้นที่ในครอบครัวตัวเองก่อน แล้วนำสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่มาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

ผลผลิตแตงกวา ถั่วฝักยาว เตรียมส่งลูกค้า

“ช่วงแรกผมมองเห็นเลยว่า ครอบครัวผมมีการทำเกษตรมานานแล้ว ด้วยสภาพดินที่นี่เป็นดินทราย เมื่อมาอยู่บ้านได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มหลงรักในสีเขียวของพืช จึงได้สมัครเป็นหมอดินอาสา เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านสามารถแก้ปัญหาได้หมดทุกอย่างในเรื่องของดิน จากจุดนั้นเอง เราอยากที่จะแก้ไขดินทรายในพื้นที่การทำเกษตรของเรา จึงได้เรียนรู้และต่อยอดพัฒนามาเรื่อยๆ จนเวลานี้ดินในพื้นที่ของเรามีความอุดมสมบูรณ์ และปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้จัด”

สอนการทำปุ๋ยหมัก

เนื่องจากพื้นที่บ้านเป็นดินทราย เทคนิคการจัดการดินทราย คุณดีน บอกว่า มีการจัดการด้วยกัน 2 แบบ คือ 1. การปรับโครงสร้างของดินด้วยการทำปุ๋ยหมักนำเปลือกมะพร้าวที่ได้จากท้องถิ่น มาเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมักเพื่อช่วยปรับโครงสร้างดิน เพราะถ้าดินทรายมีสิ่งช่วยอุ้มน้ำไว้ได้ก็จะทำให้ดินมีความชุ่มชื่นมากขึ้น และ 2. การขุดทำบ่อจิ๋ว ที่เป็นตัวช่วยในการกักเก็บน้ำไว้ได้ดี พร้อมทั้งมีการทำน้ำหมักต่างๆ เข้ามาช่วยบำรุงดินและช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

สมาชิกกลุ่มร่วมทำน้ำหมักชีวภาพ 

ปลูกพืชสลับกัน ช่วยให้ดินได้พัก

ในช่วงแรกพืชผักที่เลือกปลูกทำรายได้ เขาจะเน้นเป็นแตงกวาและถั่วฝักยาวเป็นหลัก เพราะราคาและความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อสภาพดินได้รับการปรับปรุงแก้ไข การปลูกพืชชนิดอื่นก็ตามมาด้วย เช่น คะน้า กวางตุ้ง และผักสลัดกินใบอีกหลายชนิด นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชบนโต๊ะปลูก หรือที่เรียกว่าการปลูกพืชบนแคร่ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ทำให้ไม่ต้องก้มเงยลุกนั่งในการเก็บผลผลิตที่อาจทำให้หน้ามืดและเป็นอันตรายได้

การปลูกผักที่มีความหลากหลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ที่ดี คุณดีน ให้เหตุผลว่า ผักแต่ละชนิดมีอายุการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นถ้ามีการวางแผนการปลูกที่ดี จะช่วยให้ผลผลิตที่ได้สร้างรายได้ได้ทุกวัน อย่างช่วงแรกที่ปลูกแตงกวากับถั่วฝักยาวค่อนข้างมีอายุเก็บเกี่ยวที่มากกว่า 40 วัน แต่เมื่อมีการวางแผนการปลูกผักใบเข้ามาเสริมด้วย จึงทำให้ผลผลิตไม่หยุดชะงัก

การเป็นหมอดินอาสา

“เมื่อเรามีการจัดการที่ดี เลือกการปลูกพืชแบบมีระบบ เงินที่ได้จากการจำหน่ายจะมีทุกวัน จะช่วยให้เรามีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายได้ ใน 1 ปี พืชผักกินใบสามารถปลูกหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีที่แตกต่างออกไปคือ การปลูกแตงกวาและถั่วฝักยาว จะปลูกปีละประมาณ 3 รอบเท่านั้น เพราะว่าเวลาที่เหลือจะทำการพักแปลงปลูก ด้วยการบำรุงดิน ด้วยการหว่านปอเทือง ก็จะทำให้ดินที่ผ่านการปลูกแตงกวาและถั่วฝักยาวมีความสมบูรณ์กลับมาให้ผลผลิตที่ดีต่อไป”

จากการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ทำให้สวนพืชผักของเขาลดการใช้ปุ๋ยเคมีไปได้อย่างมาก รวมทั้งการนำสารชีวภัณฑ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ นอกจากจะทำให้ตัวเขาเองปลอดภัยแล้ว ผู้บริโภคเองก็มีความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพราะผลผลิตที่จำหน่ายทั้งหมดภายในสวนเป็นสินค้าอาหารปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานจีเอพี (GAP)

พื้นที่ปลูกข้าวโพด

อีกสิ่งที่เป็นเทคนิคการทำเกษตรของเขาคือ ถ้าช่วงไหนรู้สึกว่ามีการปลูกพืชผักและเก็บจำหน่ายมาจนรู้สึกว่าอยากหยุดพัก จะมีการพักปลูกพืชผักใบด้วยการมาปลูกข้าวโพดเข้ามาแทน เพราะช่วงที่รอข้าวโพดออกฝักเขาสามารถมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นได้ ซึ่งพืชไร่อย่างข้าวโพดไม่ต้องการการดูแลมากเท่ากับพืชผัก ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้หลากหลายของเกษตรกรท่านนี้

ผักสลัด 

ตลาดรับซื้อต่อเนื่อง จนเกิดการรวมกลุ่ม

การที่ใส่ใจในเรื่องของการตลาดนำการผลิตนี้เอง ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าผลผลิตของเขาจะออกมามากเพียงใด พ่อค้าแม่ค้าก็รับซื้อหมดหรือเรียกว่ากำลังผลิตของเขาเองอาจจะไม่พอเสียด้วยซ้ำไป จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรท่านอื่นๆ ในพื้นที่ จำนวนกว่า 40 ท่าน เพื่อผลิตผักคุณภาพส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้อย่างต่อเนื่อง

โดยจำหน่ายแตงกวาราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท ถั่วฝักยาวราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนถ้านำไปขายให้กับลูกค้าทั่วไปในชุมชน ก็จะทำแยกเป็นถุง ถุงละ 10 บาท ส่วนผักกินใบและผักสลัดอื่นๆ ราคาจำหน่ายทั้งส่งและปลีกเริ่มต้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-200 บาท

รับรางวัลกับผู้ว่าราชการจังหวัด

“การปลูกผักของกลุ่มเราในเวลานี้ ต้องบอกเลยว่า ค่อนข้างตอบโจทย์ สามารถสร้างกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง และเกษตรกรผู้สูงอายุสามารถมีรายได้จากการทำเกษตรเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่สนใจอยากทำเกษตร สิ่งแรกเลยต้องบอกว่าต้องมีใจรัก เพราะฉะนั้นความยั่งยืนที่สำคัญมาก โดยเฉพาะดิน ถ้าดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ก็จะช่วยให้ผลผลิตที่ได้สูงและมีกำไรมากขึ้น”

คุณดีน หะยีมะแซ

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตร หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณดีน หะยีมะแซ ณ บ้านเลขที่ 47 หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หมายเลขโทรศัพท์ 081-959-7797