เผยแพร่ |
---|
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด และพบปะสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประยูร พะมะ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนิตย์ ตั่นอนุพันธ์ ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ปัญหาที่ดินทำกินในสหกรณ์นิคมบางสะพานเป็นปัญหาที่มีมานานกว่า 40 ปี กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเครือข่ายนิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพราะการสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเป็นเรื่องที่ดี แต่จะให้เกษตรกรที่เดือดร้อนเหล่านี้มีสถานะทางที่ดินอย่างไร ต้องให้ภาครัฐเร่งหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะแต่ละพื้นที่สภาพปัญหาต่างกัน จะต้องมีการร่างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
“เราในฐานะรัฐมนตรีช่วยฯ ที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไม่นิ่งเฉยกับความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร หลังจากนี้จะลงพื้นที่เพื่อติดตามและรับฟังความเดือดร้อนในอีก 9 จังหวัดที่มีปัญหา เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลสำเร็จ เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ เวลาเกิดความเดือดร้อนประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือทันที แต่หากไม่มีกรรมสิทธิ์การช่วยเหลือจากภาครัฐก็จะล่าช้า ซึ่งในวันนี้ได้ลงมาดูพื้นที่จริงเพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจะรวบรวม นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณาต่อไปซึ่งจะต้องเร่งหารือเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน” รมช.มนัญญา กล่าว
ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามนโยบายของ รมช.มนัญญา สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำลังรวบรวมหนังสือที่เครือข่ายสหกรณ์นิคม 4 ภาค 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการทำเรื่องไปถึงกรมป่าไม้ เพื่อแสดงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจะหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้พื้นที่นี้ ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นรูปแบบนิคมสหกรณ์ไว้แล้ว สามารถไปสู่การจัดตั้งนิคมตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอต่อคทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพื่อความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และเป็นหลักประกันในการยื่นสินเชื่อมาประกอบอาชีพ และได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 และวันที่ 13 สิงหาคม 2517 ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรม คือในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาไชยราช และป่าคลองกรูด-ป่าพุน้ำเค็ม อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย เนื้อที่ 156,078 ไร่ 1 งาน 53 วา ไปบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสหกรณ์นิคม โดยมีนิคมสหกรณ์บางสะพานเป็นผู้รับผิดชอบการจัดพื้นที่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ตั้งแต่ปี 17 โดย พื้นที่สหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิกใน 2 อำเภอ คือบางสะพาน และบางสะพานน้อยรวม 10 ตำบล มีพื้นที่ 160,000 ไร่ มีเกษตรกร 7,000 กว่าราย ประกอบอาชีพในที่ดิน 9,000 กว่าแปลง ต่อมาปี 2562 สิ้นอายุสัญญาอนุญาตของกรมป่าไม้ ทางนิคมสหกรณ์จึง ได้ประสานหมู่บ้านต่าง ๆ ทำประชาคมเพื่อทำเรื่องขออนุญาตใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามส่งหนังสือถึงกรมป่าไม้ ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อขออนุญาตใช้เป็นหนังสือ ป.ส.23 ต่อมาได้มีมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่การแก้ไขปัญหาพื้นที่นิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า ภายใต้การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.)
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปพบปะสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด จำนวน 3 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านนายลด วงศ์เณร หมู่ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านนายวัน วงค์จันทร์ทอง หมู่ ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบ้านนายลำดวน หนูยิ้มซ้าย หมู่ที่ 4 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาของสมาชิกสหกรณ์นิคม