ภูมิปัญญาชาวบ้าน หนุ่มช่างไฟฟ้า ประยุกต์ทำเกษตรอินทรีย์ หลากหลาย

คุณวิสูตร วงศ์ไชย คือช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก เขาชื่นชอบเรื่องราวการทำการเกษตร จึงศึกษาความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์จากอินเตอร์เน็ต หลังเกิดปัญหาเรื่องสุขภาพจากอาการแพ้สารตะกั่วในเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ปัจจุบัน เขาสร้างนวัตกรรม (Innovation) ด้วยการผลิตสินค้าชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชหลายประเภท เขาเรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์และพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชุมชนที่เขาอาศัย

คุณวิสูตร วงศ์ไชย กับผู้เขียน

ทางออกของปัญหาสุขภาพคือเกษตรอินทรีย์ คุณวิสูตร เล่าว่า เปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานและเรียนจบครุศาสตร์บัณฑิตอุตสาหกรรมศิลป์ วิทยาลัยครูเชียงราย หลังจากทำงานมานานหลายปี เริ่มมีอาการแพ้สารตะกั่ว เกิดผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง ร่างกายผมทนสารเคมีสารพิษไม่ไหว จึงหันมาทำการเกษตรอย่างจริงจังในช่วง พ.ศ. 2563 ก่อนหน้านั้น เขาซื้อที่ดินและเริ่มทำสวนพุทรา โดยปลูกพุทราปลอดสารพิษสายพันธุ์ไต้หวัน เมื่อได้ผลผลิตก็มีปัญหาด้านการตลาด ผลผลิตพุทราเน่าเสียขายไม่ทัน จึงลดพื้นที่ปลูกพุทราเปลี่ยนแนวคิดสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณวิสูตรศึกษางานวิจัย อ่านงานเขียนเก่าๆ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ หลังจากนั้นนำความรู้มาทดลองทำ เริ่มตัดแต่งกิ่งพุทรา การตัดแต่งกิ่งจะเหลือเศษกิ่งไม้ จึงนำกิ่งก้านของต้นพุทรามาเผาในกระทะด้วยความร้อนสูงแล้วดับไฟด้วยน้ำ จนได้สิ่งที่เรียกว่า ไบโอชาร์ (Biochar)

คุณวิสูตร วงศ์ไชย

หลังจากนั้นนำมาผ่านกระบวนการทำเป็นผลผลิตน้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรคในดิน ไล่แมลง เร่งผลไม้ให้มีรสหวาน เร่งให้การออกดอก ด้วยจุดเริ่มต้นแบบนี้จึงทำให้เขาเริ่มเติบโตขึ้นในสายเกษตรอินทรีย์ ถ่านมี 3 ชนิดตามลักษณะอุณหภูมิการเผา ถ่านหุงต้มคือชาร์โค (Charcoal) เผาด้วยความร้อน 600-800 องศาเซลเซียส ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) จะใช้อุณหภูมิในการเผาสูงขึ้นทำให้มีรูพรุนในถ่านมากขึ้น เขาใช้ประโยชน์จากถ่านไบโอชาร์ในการดูดซับหรือเก็บกักสารไล่แมลง สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ให้อยู่ในรูปของถ่านหรือคาร์บอน ถ่านอีกประเภทคือถ่านแบบแกร่ง หรือ ถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) ใช้ทำเครื่องกรองน้ำ หน้ากากกรองกลิ่น กรองอากาศ คุณสมบัติของถ่านสามารถบรรเทาอาการปวดท้อง ใช้ถ่านหุงต้มอาหาร ดูดความชื้นหรือซับน้ำ ปัจจุบัน คุณวิสูตรทำงานวิจัยร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการสร้างผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์ (Biochar)

หลังการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์ คุณวิสูตร บอกว่า ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเคมี เร่งออกดอก ขยายผล ยืดช่อดอก เพราะได้ศึกษาเรียนรู้การใช้น้ำหมัก มีโจทย์การทำงานว่า จะทำอย่างไรในช่วงฝนตกให้พุทราเกิดการออกดอก นั่นคือโจทย์ การใช้งานน้ำหมักชีวภาพเพื่อทดแทนสารเคมี

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาใช้เองและจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ

ผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชระดับชุมชน คุณวิสูตรผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช (biotechnology) โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยา สามารถพัฒนาคุณสมบัติ พัฒนารูปลักษณ์ ลวดลาย โลโก้ ผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช มีอยู่ 3 ชนิด

1. เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria) เป็นจุลินทรีย์ก่อโรคกับแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงหวี่ขาว ไรแดง และหนอนแมลงศัตรูพืช

2. เชื้อราเมธาไรเซียม (Metarhizium) จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ทำให้เกิดโรคกับแมลงเมื่อสปอร์ของเชื้อราดลงบนลำตัวของแมลง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสภาพความชื้นสูงจะมีการเจริญงอกเข้าไปในตัวแมลง ระยะแรกจะเห็นจุดสีน้ำตาลบนผนังลำตัว และต่อมาสามารถมองเห็นเส้นใยสีขาวเจริญเติบโตบนลำตัวแมลง หลังจากนั้นจะพบสปอร์ลักษณะคล้ายฝุ่นสีเขียวปกคลุมทั่วตัวของแมลง

3. เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) เชื้อราที่ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อรา สำหรับการใช้ทางใบ การรักษาเมล็ดพันธุ์และการบำบัดดินเพื่อปราบปรามโรคที่ก่อให้เกิดเชื้อรา เป็นราที่กินรา ขยายตัวได้ดีมาก ป้องกันโรคโคนเน่า

แนะนำวิธีใช้ให้กับผู้สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้

คุณวิสูตร มีแนวคิดเรื่อง 5 ธนาคารฟาร์ม

1. ธนาคารดิน คือกระบวนการปรับปรุงดิน

2. ธนาคารน้ำหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อทดแทนสารเคมี

3. ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ทำเมล็ดพันธุ์ เพื่อใช้เพาะปลูกเอง หรือจะขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

4. ธนาคารชีวภัณฑ์ เราได้รับการสนับสนุนโครงการผลิตชีวภัณฑ์จากหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ

5. ธนาคารความรู้ เราพัฒนาความรู้ ทำงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร.วาสนา พิทักษ์พล และ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เราศึกษาและจดบันทึกความรู้ของปราชญ์ท้องถิ่น ทดลองจนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความรู้เหล่านั้นนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงหรือนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี

คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยาในฐานะที่ปรึกษาและช่วยผลักดันเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา (SDGsPGS)

สินค้าเกษตรอินทรีย์มีอัตลักษณ์ของชุมชน ปัจจุบัน คุณวิสูตรผลิตสินค้าแปรรูปแป้งข้าวหมากหรือแป้งข้าวหมัก อันจะอยู่ในรูปของยีสต์ จุลินทรีย์หรือรา เมื่อกินจะก่อให้เกิดสาร Probiotics หรือกลุ่มแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร คนไทยสมัยก่อน เมื่อเกิดอาการแขนชามือชาเขากินแป้งข้าวหมากเพื่อรักษาอาการ ตัวอย่าง เช่น เรากินข้าวกล้องเราไม่ได้รับวิตามินบีข้าวกล้องในทันที เราต้องอาศัยยีสต์ช่วยย่อยสลายสารข้าวกล้องด้วย Probiotics

วิทยากรเจ้าของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนต้นแบบ

คุณวิสูตร เล่าต่อว่า ล้มเหลวด้านการเกษตรเพราะไม่ยอมใช้สารเคมี ปลูกผักสวนครัวเมื่อไม่ใช้สารเคมีพืชผักก็ตายหมด เขาจึงศึกษางานเกษตรอย่างจริงจัง สมัยก่อนเราอ่านหนังสือแปลประเทศเกาหลี เป็นเรื่องเกี่ยวกับ IMO หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่น หนังสือเล่าถึงกระบวนการหมัก การเปรียบเทียบระหว่างเกษตรทั่วไปกับเกษตรอินทรีย์ เขาเริ่มศึกษาจากการอ่าน อ่านหนังสือ อ่านงานวิจัย เพราะรักเกษตรอินทรีย์ ทำการเกษตรด้วยตนเอง เริ่มก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ผลผลิตพุทราอินทรีย์จากสวนของคุณวิสูตรได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา (SDGsPGS) ผลผลิตจำหน่ายให้กับ บริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ opse ปีละ 100 กิโลกรัม โดยได้รับองค์ความรู้ด้านการจัดการและการตลาดจาก ผศ.ดร.บังอร สวัสดิ์สุข คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เตาเผาสกัดน้ำส้มควันไม้

อีกไม่นานเขาจะวางสินค้าที่ร้านค้าบริเวณโรงพยาบาลพะเยา สินค้าของสวนมีพุทราสด พุทราแห้ง น้ำพุทรา กล้วยอบแห้ง น้ำผึ้ง ฟ้าทะลายโจรอัดเม็ด มีตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานจังหวัดพะเยา คุณวิสูตรสร้างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีสมาชิกจำนวน 30 คน เขาบอกว่าเกษตรอินทรีย์สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขาทุกอย่างแล้ว บางครั้งมีคนต่อต้านแนวคิดเกษตรอินทรีย์ของเขา เกษตรกรบางคนใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) แต่ตอนนี้ไม่มีคนใช้สารเคมีแล้ว เขาบอกเกษตรกรอยู่เสมอว่า หญ้ามีประโยชน์มากเพราะรากหญ้าจะเป็นท่อนำน้ำลงไปสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่เชื่อลองเทน้ำลงบริเวณที่มีหญ้าดูครับ หญ้าจะดูดน้ำลงดินอย่างรวดเร็ว การทำเกษตรอินทรีย์ต้องค่อยเป็นค่อยไป หากเราไปแอบใส่ปุ๋ยเคมี ก็ไม่มีหัวใจเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว เริ่มแรกเราต้องมีใจ

แปลงพุทรานมสดกางมุ้งอินทรีย์

คุณวิสูตรทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง 2 ปี ตอนนี้วัตถุดิบมีมากขึ้น มีสินค้าหลากหลายขึ้น มีอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ก็อยากแสดงอัตลักษณ์เรื่องการจักสาน สุ่มไก่ ซึ่งเป็นแนวคิดชุมชน บ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ชุมชน (Branding) เริ่มตั้งแต่การทำสื่อ ทำแอปพลิเคชั่น อยากทำสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีอัตลักษณ์ของชุมชนอยู่ด้วยให้ยั่งยืนตลอดไป

แปลงฟักทองอินทรีย์

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือศึกษาดูงาน ติดต่อ คุณวิสูตร วงศ์ไชย บ้านบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ขอบคุณข้อมูลและถ่ายภาพบางส่วน ร.ต.อ. ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) และ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ มหาวิทยาลัยพะเยา

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566