ผ้าทอขนแกะปางตอง แม่ฮ่องสอน หัตถกรรมภูมิปัญญา ชาวไทยภูเขา

ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมอาชีพด้านงานหัตถกรรมที่ใช้ผลผลิตพื้นฐานของกิจกรรมด้านปศุสัตว์ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าขนแกะปางตอง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน (ศูนย์ปางตอง) ตั้งอยู่ภายในศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ขนแกะที่ไปทำความสะอาด ซัก ต้มให้ไขมันออกแล้วนำไปตากให้แห้งสนิท

มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อรวมกลุ่มกิจกรรมด้านงานหัตถกรรม โดยนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญา การย้อม และประสบการณ์ด้านการทอผ้ามาช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากเส้นใยขนแกะออกมาเป็นเสื้อ กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และอื่นๆ จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และทรงไว้ตามวิถีชุมชนดั้งเดิมให้คงอยู่ยาวนาน

ขนแกะที่ย้อมด้วยลูกหม่อน
ขนแกะที่ย้อมด้วยกาแฟ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะเป็นการผสมเส้นใยขนแกะกับเส้นใยฝ้าย ไหม หรือแม้แต่กันชง ผ่านกระบวนการย้อมสีจากวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ผสมผสานด้วยฝีมือการถักทอของลวดลายตามแนวทางภูมิปัญญาโบราณแบบฝีมือเฉพาะ (handmade) เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยไม่สามารถเลียนแบบได้

นำขนแกะที่ย้อมด้วยกาแฟแล้วนำมาตั้งไฟโดยใช้อุณหภูมิไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส

วิสาหกิจชุมชนทอผ้าขนแกะปางตองมีความเข้มแข็งทั้งทางด้านทักษะ ความชำนาญ ผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนทอผ้าขนแกะปางตองเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างเป็นรายได้เสริม ผลิตผลงานมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวและผู้สนใจในแวดวงทอผ้าจนได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จมากมาย

สีที่ย้อมจากเปลือกเพกาแล้วนำมากรองเพื่อไม่ให้มีเศษเปลือกเพกา

คุณสุภารัตน์ สิทธิ์คงขจร ประธานกลุ่ม ให้รายละเอียดว่า กลุ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2560 และได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2562 ถึงตอนนี้มีสมาชิกรวม 16 คน มีผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ หมวก ตุ๊กตา

ตำใบไม้สักเพื่อจะนำมาย้อม

ต่อมาสมาชิกได้พัฒนาฝีมือ ทักษะการทอและการย้อมขนแกะเพิ่มขึ้นอีกจากกลุ่มทอผ้าขนแกะห้วยฮ่อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่มีความชำนาญเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพผ้าทอขนแกะให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มเทคนิคการทอผ้าจากหน่วยงานเฉพาะด้านอย่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยการเพิ่มทักษะด้านการย้อมสี และการทอด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่หลากหลาย

ระหว่างย้อมควรหมั่นพลิกบ่อยๆ เพื่อให้ขนแกะที่ย้อมได้สีสม่ำเสมอทุกเส้นใย

สำหรับขนแกะที่นำมาผลิตเป็นสิ่งทอและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ได้ซื้อมาจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอนที่เลี้ยงแกะอยู่ในโครงการตามพระราชดำริ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายที่ทำการของกลุ่มซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ ตามงานสำคัญ และทางออนไลน์

เปลือกเพกาที่ต้มเสร็จเพื่อนำมาย้อมผ้า 
ตำเปลือกเพกาให้ละเอียดก่อนนำมาต้ม

ขั้นตอนและกระบวนการผลิตผ้าทอขนแกะ

เริ่มจากนำขนแกะดิบที่ตัดจากแกะมาแช่น้ำยาขจัดคราบไขมัน เช่น น้ำยาล้างจานหรือแชมพู โดยแช่ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อจากนั้นนำมาแช่ล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด แล้วต่อด้วยการนำไปต้มน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ประมาณ 10 นาที เพื่อขจัดไขมันให้ออกจากขนแกะ แล้วมาใส่ภาชนะกะละมังทิ้งไว้ให้เย็น

ซักขนแกะด้วยแชมพูเพื่อให้ไขมันออกก่อนนำมาต้ม

ขนแกะที่เย็นแล้วมาซักล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ล้างจนน้ำใส แล้วให้นำไปผึ่งแดดจนแห้งสนิท จากนั้นนำขนแกะที่แห้งสนิทมาแยกขนดีออกจากเศษฝุ่น

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ทอผ้าของกลุ่มทอผ้าปางตอง

เมื่อแยกขนแกะแล้วให้นำมายีกับอุปกรณ์ปั่นกรอให้เป็นเส้นด้ายแล้วม้วนให้เป็นใจ จากนั้นนำมาชุบกับน้ำต้มแป้งข้าวเจ้าจำนวน 2 นาที แล้วบีบน้ำออกพอประมาณแล้วนำไปผึ่งจนกว่าด้ายจะแห้งสนิท แล้วให้นำด้ายมาม้วน แล้วให้นำมาขึ้นเส้นกับอุปกรณ์ทอผ้าให้ได้ตามขนาดของผ้าแต่ละชนิดแล้วเริ่มทอจนเสร็จ

ตุ๊กตาขนแกะทางกลุ่มทำขาย แล้วสอนเด็กนักเรียนด้วย 

การย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติ

ผ้าทอขนแกะที่นำมาใช้จะต้องผ่านกระบวนการย้อมด้วยวัสดุจากธรรมชาติเพื่อให้มีความสวย สีทนนาน แล้วยังปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม โดยวัสดุที่นำมาย้อมสีล้วนมาจากธรรมชาติในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกเพกาจะได้สีเหลือง ย้อมด้วยลูกหม่อนเป็นสีม่วง ย้อมด้วยใบไม้สักเป็นสีแดง ย้อมด้วยเมล็ดกาแฟเป็นสีน้ำตาล ย้อมด้วยลูกมะขามป้อมเป็นสีเทาและดำ ย้อมด้วยเปลือกต้นสาโก่แระเป็นโทนสีส้ม โดยออกแบบลายทอผ้าจำนวนหลายลาย แต่ลายทอหลักที่ใช้เป็นประจำมีจำนวน 6 ลาย ได้แก่ ลายผ้ามัดหมี่ ลายดอกเข็ม ลายลูกแก้ว ลายข้าวโพด ลายไทย และลายสี่เหลี่ยม

หมวกขนแกะสวมสบาย
เสื้อขนแกะได้รับความนิยม

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะวิสาหกิจชุมชนปางตองมีอะไรบ้าง

1. ผ้าทอขนแกะที่ใช้ขนแกะล้วน 100 เปอร์เซ็นต์ 2. ผ้าพันคอขนแกะขนาดกว้าง 10 นิ้ว ยาว 175 เซนติเมตร ผสมขนแกะ 50 เปอร์เซ็นต์ และฝ้าย 50 เปอร์เซ็นต์ 3. ผ้าคลุมไหล่ขนาดกว้าง 20 นิ้ว ยาว 175 เซนติเมตร ใช้ขนแกะล้วน 100 เปอร์เซ็นต์ 4. ผ้าคลุมไหล่ผสมที่ใช้ขนแกะ 50 เปอร์เซ็นต์ และฝ้าย 50 เปอร์เซ็นต์ 5. หมวกขนแกะ 100 เปอร์เซ็นต์ 6. ผ้าคลุมโต๊ะขนแกะ 7. ผ้าคลุมเตียงขนแกะ แต่ปัจจุบันทางกลุ่มผลิตเฉพาะบางรายการยังไม่ครบทุกผลิตภัณฑ์เนื่องจากต้องอบรมทักษะการทอเพิ่มเติม นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังใช้เศษเส้นใยที่เหลือมาทำเป็นของชำร่วยหรือของฝากขนาดเล็กอย่างตุ๊กตาขนแกะและพวงกุญแจขนแกะ

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะจากกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าปางตอง

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้กิจกรรมผ้าทอขนแกะของกลุ่มนี้ได้เริ่มมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาอย่างผ้าทอขนแกะผสมใยกันชงที่ประกอบด้วยขนแกะ 75 เปอร์เซ็นต์ กับใยกันชง 25 เปอร์เซ็นต์

ปฏิบัติการตัดเลาะขนแกะ 

หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

กิจกรรมทอผ้าขนแกะของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าขนแกะปางตองไม่อาจสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์หากไม่ได้รับการแนะนำสนับสนุนและส่งเสริมด้านความรู้ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ จากหน่วยงานสำคัญ อันได้แก่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน, ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, สำนักงานพัฒนาชุมชนแม่ฮ่องสอน, สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.), สถาบันพัฒนาสิ่งทอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน

กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าขนแกะปางตอง แม่ฮ่องสอน

นอกจากการทอผ้าขนแกะเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมแล้ว ทางกลุ่มยังนำความรู้การทอผ้าถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนร่มเกล้าปางตอง เป็นการสอนให้เด็กๆ รู้จักทำตุ๊กตาและของใช้เล็กๆ จากขนแกะเพื่อต้องการให้ผลิตขายเป็นรายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัว

สมาชิกกลุ่มถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน

สนใจต้องการเข้าชมกิจกรรมทอผ้าขนแกะของกลุ่มวิสาหกิจปางตอง โทรศัพท์ 089-560-6589 หรือเฟซบุ๊ก กลุ่มทอผ้าขนแกะปางตอง