กาวแท่ง จากหนังปลา เปลี่ยนขยะเป็นนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง ขอเชิญเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กาวแท่งในรูปแบบ “กาวจากปลา (Fish glue)” ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติประเภทโปรตีนที่มีคุณสมบัติในการยึดติดวัสดุเข้าด้วยกัน ผลิตได้จากหนังและกระดูกของปลาที่เป็นเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูป โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นคอลลาเจนหรือเจลาติน อยู่ในรูปของเหลวหรือกึ่งของเหลว สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น งานกระดาษ งานไม้ งานในครัวเรือน อุตสาหกรรมเครื่องหนัง งานเคลือบที่ต้องการความโปร่งใสบนวัสดุ เป็นต้น

สำหรับการประดิษฐ์นี้เป็นการต่อยอด จากอนุสิทธิบัตรเรื่อง กาวจากหนังปลา อนุสิทธิบัตรไทยเลขที่ 11584 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “การผลิตกาวน้ำจากหนังของปลา” มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับกาวแท่งทางการค้า และปัจจุบันงานประดิษฐ์นี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว คือ อนุสิทธิบัตรไทยเลขที่ 19021 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “กรรมวิธีการผลิตกาวแท่งจากหนังของปลา” โดยอนุสิทธิบัตรทั้ง 2 ใบ เป็นผลงานการประดิษฐ์จาก รศ.ดร.กังสดาลย์ บุญปราบ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“กาวจากปลา” มีประโยชน์คือ สามารถทดแทนการสร้างกาวจากการใช้สารเคมี ลดภาวะมลพิษที่เกิดจากการสร้างของเสียจากอุตสาหกรรม สารเคมี ที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความสะดวกต่อการใช้ การประดิษฐ์เป็นแท่งที่มีขนาดเล็กทําให้ง่ายในการพกพา การใช้เนื้อที่น้อยในการเก็บสินค้าก่อนใช้ มีความคงตัวที่อุณหภูมิห้อง และการใช้กาว ปริมาณน้อยเพื่อทําให้วัสดุเช่นกระดาษติดกัน มีความสามารถติดวัสดุได้หลากหลาย เรียงจากความสามารถสูงไปต่ำ คือ กระดาษ ผ้า ไม้ และพลาสติกและโฟม

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ที่ “งานเกษตรแฟร์ 66” ระหว่างวันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่บริเวณโซน H69 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยภายในงานมีการแจกกาวจากปลาจำนวน 20 ชิ้นต่อวัน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.กังสดาลย์ บุญปราบ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 089-891-5267 หรือ อีเมล : [email protected]