ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
ชุมชนห้วยเสือเต้น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในชุมชนเกษตรต้นแบบที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้โมเดล D&MBA ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยคนในชุมชน เริ่มจากปลูกผักยกแคร่หนีน้ำท่วม สู่การทำเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรคนรุ่นใหม่เป็นหัวขบวนในการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมเติมทุนต่อยอดธุรกิจสู่มาตรฐานผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
ชุมชนห้วยเสือเต้น
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ชุมชนห้วยเสือเต้นซึ่งมีสมาชิกในชุมชนจำนวน 338 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ปัญหาอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตพลังงาน ปัญหาปุ๋ยแพง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้
ธ.ก.ส. เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางการจัดการ-การออกแบบเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” หรือ Design & Manage by Area : D&MBA เริ่มตั้งแต่การประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ เพื่อคลายความกังวลและลดภาระในการชำระหนี้ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้โดยเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการหมู่บ้านสีขาวมั่นยืน
สวนลุงทิดเพาะความสุข ของ คุณอาทิตย์ แสงโลกีย์ นับเป็นหนึ่งในธุรกิจหัวขบวนของชุมชนห้วยเสือเต้น ที่เข้ามาเติมองค์ความรู้ชาวบ้านภายใต้หลักแนวคิด BCG Economy Model เริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำการเกษตร จากทำมากแต่ได้น้อย ไปสู่ทำน้อยแต่ได้มาก และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการลดต้นทุน การทำปุ๋ยใช้เอง และการทำการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ชาวบ้านในชุมชนได้เรียนรู้เสริมทักษะด้านการพัฒนาอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักบนแคร่ การแปรรูปอาหาร หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนด้วยการเปิดร้านค้าชุมชน โรงสีชุมชน โรงกรองน้ำดื่มชุมชนและชุมชน OTOP นวัตวิถี โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับลงทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรในชุมชน ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อแปลงใหญ่ และสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรกล เป็นจำนวนกว่า 34 ล้านบาท
สวนลุงทิดเพาะความสุข
สวนลุงทิดเพาะความสุขของคุณอาทิตย์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 15 บ้านหินกอง ตำบลน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โทร. 081-263-2638 ปัจจุบันสวนแห่งนี้นับเป็นฟาร์มตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) โดยใช้ฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมาใช้ร่วมกันในลักษณะการทำการเกษตรครบวงจร แบบเกษตรผสมผสานบนเนื้อที่ 7 ไร่
คุณอาทิตย์เพาะปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ไผ่บงหวานพันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ดอกกระเจียวหวาน ผักหวานป่า มะเดื่อฝรั่ง กล้วย ผักสลัด องุ่น มะม่วง เลี้ยงปูนา เลี้ยงกบ และเป็นแกนนำส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่พื้นเมืองพันธุ์ไก่แดงดอกคูณ ที่รู้จักกันดีในชื่อกลุ่ม “ไข่นัว บ้านเสือ” กิจกรรมการเกษตรที่หลากหลายรูปแบบ ทำให้คุณอาทิตย์สามารถสร้างรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี
ผลผลิตของสวนลุงทิดเพาะความสุข ได้รับการรับรองแหล่งผลิตอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตรและมาตรฐาน GAP จากการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model มีการปลูกผักยกแคร่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช มีการนำผลผลิตกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ และนำหญ้าหวานมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นการพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรไปสู่ SME อุตสาหกรรมเกษตร ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 5 และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น ผลผลิตส่งขายหน่วยงานต่างๆ ตลาดจริงใจ (TOP Super market) ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ มีรายได้ต่อเดือนกว่า 30,000 บาท
สวนลุงทิดเพาะความสุข เป็นตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ในการใช้ฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมาใช้ร่วมกันในการทำการเกษตรครบวงจร และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ธ.ก.ส. จึงคัดเลือกสวนแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น
ทุกวันนี้ สวนลุงทิดเพาะความสุข เปิดสวนให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังขยายต้นพันธุ์พืชจำหน่ายให้กับผู้สนใจเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและขยายเครือข่ายการเกษตรควบคู่ไปด้วย
สูตรการทำปุ๋ยน้ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ปุ๋ยนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการเพาะปลูก หากพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว คงไม่ไหว เพราะปุ๋ยเคมีราคาสูง คุณอาทิตย์จึงชักชวนเพื่อนเกษตรกรให้หันมาทำปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสูตรการทำปุ๋ยน้ำของฟาร์มแห่งนี้มีหลายรูปแบบ ทั้ง สูตรอาหารจานด่วน ฮอร์โมนไข่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย (บำรุงต้น บำรุงราก) การทำแคลเซียมโบรอนใช้เอง ฯลฯ ซึ่งหลายคนนำไปปรับใช้ในไร่นาของตัวเองก็ได้ผลผลิตคุณภาพดี ทั้งลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน
ฮอร์โมนไข่
ส่วนผสม 1. ไข่ไก่ 5 ฟอง 2. น้ำตาลทรายแดง 3. นมเปรี้ยว
วิธีทำ ตีไข่ทั้ง 5 ฟองให้ละเอียด แล้วผสมนมเปรี้ยวลงไป 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะ คนส่วนผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลทรายแดงละลายหมดแล้วเทใส่ภาชนะหมักปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 3 วันก็สามารถนำมาใช้ได้
จุลินทรีย์หน่อกล้วย (บำรุงต้น บำรุงราก)
ส่วนผสม 1. หน่อกล้วยขุดมาทั้งเหง้า (ขนาดสูงเมตรกว่า) 2. กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 3. น้ำ
วิธีทำ นำหน่อกล้วยมาสับให้ได้ประมาณ 3 กิโลกรัม แล้วนำกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม มาคลุกให้เข้ากันในถังหมักแล้วใส่น้ำลงไปให้พอท่วม ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม 7 วัน ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยการกรองเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำมาใช้ ส่วนกากของกล้วยก็สามารถนำไปเทใส่โคนต้นไม้เป็นปุ๋ยได้ (อัตราส่วนการใช้ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร)
อาหารจานด่วน
ส่วนผสม 1. ฮอร์โมนนมสด 2. ฮอร์โมนไข่ 3. ฮอร์โมนหน่อกล้วย
วิธีทำ ฮอร์โมนนมสด 3 ส่วน ฮอร์โมนไข่ 1 ส่วน จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ส่วน นำมาผสมกันสามารถนำไปใช้ได้เลย เมื่อพืชได้อาหารจานด่วนแล้ว ช่วยให้พืชเติบโตงอกงามเร็วขึ้นอีก แนะนำให้ผสมแคลเซียมโบรอนเข้าไปในถังพ่นอีก 1 ช้อนชา
การทำแคลเซียมโบรอนใช้เอง
ส่วนผสม 1. แคลเซียมไนเตรต (15-0-0) 2. โบรอนผงหรือกรดยูริก 3. น้ำเปล่า 4. แมกนีเซียมซัลเฟต (จุลธาตุ )
วิธีทำ นำแคลเซียมไนเตรต 1 ช้อนโต๊ะ กับแมกนีเซียมซัลเฟต 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 1 ลิตรคนให้ละลายจนหมด แล้วนำกรดบอริกมาละลายน้ำต่างหาก 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร เสร็จแล้วเอาส่วนผสมทั้ง 2 อย่างมาเทรวมกัน จนได้ 2 ลิตร สามารถเก็บไว้ใช้งานได้นานเป็น 2 เดือน หรือจนกว่าจะหมด
ฮอร์โมนนมสด
ส่วนผสม 1. นมสด นมวัวแดง หรือยี่ห้ออะไรก็ได้ 1 กระป๋อง (รสจืด) 2. นมเปรี้ยวยี่ห้อใดก็ได้ 1 ขวด 3. น้ำตาลทรายแดง
วิธีทำ เทนมจืดลงในภาชนะที่จะหมักแล้วเทนมเปรี้ยวลงไปผสม 1 ช้อนโต๊ะ แล้วใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปผสม 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคนส่วนผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลทรายแดงละลายแล้วปิดฝาภาชนะเก็บไว้ในที่ร่ม 3 วันจึงนำมาใช้
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ธ.ก.ส. และเฟซบุ๊ก ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งขอนแก่น สวนลุงทิด