สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ร่วมกับ NIA เปิดรับทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ SidUP-Isan ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA เปิดรับทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ SidUP-Isan ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปีงบประมาณ 2566 โดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เปิดให้คณาจารย์ นักวิจัย เข้าร่วมส่งผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ ในโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นผลงานวัตกรรมพร้อมใช้ที่ตอบโจทย์ต้นทุนทางทรัพยากรของพื้นที่เป้าหมาย มุ่งหวังพัฒนาผลงานนวัตกรรมมให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด และยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ Finalists ในโครงการทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” SIDUP-Isan ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้กับนักวิจัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก นายเฉลิมพงษ์ กล้าขยัน นักพัฒนานวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ประธานหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกต วรชัยรุ่งเรือง รองประธานหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา สุดเจริญ คณะกรรมการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ในครั้งนี้

นอกจากยังมีบุคลากรสถาบันวิจัยและพัฒนาและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA เข้าร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ จำนวน 11 โครงการ ซึ่งการนำเสนอนอกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ยังมีหน่วยงานที่เข้าร่วม อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยนครพนม และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสกลนคร อีกด้วย

ทั้งนี้ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ Finalists เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 9 เทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกศักยภาพชุมชนในรอบต่อไปเพื่อชิงการได้ทุนสนับสนุนทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” SIDUP-Isan ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สำหรับผลงานนวัตกรรมฯ ที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ นับเป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ตอบโจทย์ต้นทุนทางทรัพยากรของพื้นที่เป้าหมายโดยมุ่งหวังพัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายได้ดังวัตถุประสงค์โครงการเป็นอยู่