อุปสรรคต่อการอยู่รอดของเกษตรกรไทย

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในตอนที่ผ่านๆ มา เราพยายามสื่อสารให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงทางรอดต่างๆ ของเกษตรกรไทย ซึ่งเราก็เน้นไปที่เกษตรกรรายย่อย ระดับชาวบ้านธรรมดาเป็นหลัก ส่วนรายใหญ่ๆ ระดับนายทุนหรือนักธุรกิจเกษตร เราคงไม่ต้องไปห่วงเขา เพราะเขามีทุน มีเทคโนโลยี มีความสามารถจะแสวงหาทางรอดของเขาได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ในตอนนี้ก็เช่นกัน เราคงจะยังคงพูดคุยกันถึงทางออก หรือทางรอดของเกษตรกรรายย่อยกันต่อครับ เพราะเกษตรกรเหล่านี้ คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้ผลิตระดับต้นน้ำที่สำคัญ หากคนกลุ่มนี้อยู่ไม่ได้ มีหนี้สิน ยากจน ไม่หลุดพ้นกับดักแห่งความยากจน ประเทศก็จะอ่อนแอลง ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจก็อ่อนด้อยลง ประเทศก็จะพัฒนาต่อไปยากครับ

ดังนั้น จึงอยากจะกล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข ในประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการอยู่รอดของเกษตรกรไทย ดังนี้

  1. การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในที่ดินทำการเกษตร
  2. การสร้างแนวทางการบริหารตลอดห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร
  3.  การสนับสนุนการปรับระบบการผลิตของภาครัฐให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
  4. การสนับสนุนทุนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ
  5. การสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ให้กับสินค้าของเกษตรกร

การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในที่ดินทำการเกษตร

ถ้าจะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรไทยนั้น เราพบว่าพี่น้องเกษตรกรเรายังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มศักยภาพ ในขณะที่เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่สัมพันธ์กับผลผลิตทางการเกษตรเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีพื้นที่ 10 ไร่ เกษตรกรไทยจะได้รับผลผลิตหัวมันสดปีละไม่เกินประมาณ 3-4 ตันต่อพื้นที่ 1 ไร่เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ 10 ไร่จึงได้ผลผลิตประมาณ 30-40 ตัน แต่ความจริงแล้วพื้นที่ 10 ไร่ ควรจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 80 ตัน หากใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยดเพื่อการผลิต รวมทั้งการใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ รวมถึงการเตรียมดินที่ถูกต้อง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าน่าเสียดายที่เราใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพดังตัวอย่างข้างต้น เพราะถ้าผลิตแบบเดิมๆ กว่าที่เกษตรกรเราจะได้ผลผลิต 80 ตัน เราต้องใช้พื้นที่ถึงประมาณ 20 ไร่ แทนที่จะใช้เพียง 10 ไร่เท่านั้น นี่คือโจทย์ที่อยากจะแนะนำทางรอดว่าควรจะนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อการผลิตได้แล้ว เราไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ แต่เราสามารถเพิ่มผลผลิตจากพื้นที่เท่าเดิมนั้นได้ครับ

การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าการเกษตร

สำหรับในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนั้นมีหลายวิธีการ ในเมื่อมีการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำมาเป็นผลผลิตแล้ว จึงต้องข้ามไปมองถึงการตลาดหรือผู้ซื้อด้วยว่าเขาต้องการสินค้าแบบไหน ตัวอย่างเช่น หากเราไปเดินตลาดสดจำหน่ายสินค้าเกษตร แล้วเราลองไปดูการจำหน่ายผักสดบางอย่าง เราจะพบว่าคนขายจะขายปลีกเป็นขีดบ้าง เป็นครึ่งกิโลกรัม หรือหนึ่งกิโลกรัมบ้าง ดังนั้น ถ้าเราเป็นผู้ปลูกผักเหล่านั้นขาย ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้งจีน มะเขือ พริกสด เป็นต้น ซึ่งหากเราขายส่งไปเป็นแพ็กใหญ่ๆ คนขายก็ต้องนำไปแบ่งเป็นกำ เป็นถุง แบ่งเป็นน้ำหนัก หรือเป็นกำ ถ้าเป็นเช่นนี้ เกษตรกรก็ควรจะต่อรองจัดเป็นกำ หรือบรรจุเป็นขีด เป็นครึ่งกิโลกรัมไปเลย โดยเราคิดราคาเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

คนที่ซื้อไปขายปลีกก็ไม่ต้องไปเสียเวลาในการจัดแบ่ง ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเป็นตัวอย่างทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งยังไม่รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการเพิ่มประเภทปลูกพริกขายน้ำพริก เลี้ยงปลาช่อนขายปลาย่าง และอีกหลายแนวคิดที่จะทำให้มูลค่าเพิ่มอยู่ที่ผู้ผลิตต้นน้ำ มิใช่ไปอยู่ที่คนกลาง หรือปลายทางจนผู้ผลิตต้นน้ำไม่เหลืออะไร ฝากให้คิดดูนะครับ

การสนับสนุนการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรของภาครัฐ ให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

เรื่องการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรให้กับภาคเกษตรนั้น คงต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ผ่านมารัฐบาลหลายๆ ยุคสมัยก็พยายามกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนการผลิตกันมากมาย เช่น การลดพื้นที่ทำนาข้าวไปเป็นการทำสวนผลไม้ ที่เรียกว่าโครงการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรในอดีต (คปร.) เป็นต้น แต่รัฐบาลก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนด้านการตลาดไว้รองรับ จึงทำให้เกษตรกรผู้ปรับเปลี่ยนไม่ประสบผลสำเร็จ จึงทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งติดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกในที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอย่างเป็นระบบที่ภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพหลัก แล้วดำเนินการร่วมกับภาคเกษตร เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันเกษตรกร รวมไปถึงผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตที่เป็นองค์ประกอบหลักของห่วงโซ่มูลค่าการผลิตด้วย เรียกกันว่าต้องปฏิรูปกันขนานใหญ่เลยครับ ปรับให้มีความสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาด หรืออุปสงค์กับอุปทานที่สมดุลกันให้ได้ ไม่เช่นนั้น เกษตรกรไทยอาจจะรอดยากครับ ถ้ารัฐบาลไม่เป็นเจ้าภาพเรื่องนี้เองอย่างจริงจัง

การสนับสนุนเงินทุนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

ในการปรับระบบการผลิตหรือการใช้เทคโนโลยีในการผลิต จำเป็นต้องใช้ทุนเพื่อการดำเนินการทั้งสิ้น ลำพังทุนของเกษตรกรเองคงจะดำเนินการได้ยากยิ่ง เพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีความยากจนและมีภาระหนี้สินที่มากอยู่แล้ว หากรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านองค์กรหรือสถาบันการเงินภาครัฐหรือผ่านองค์กรสหกรณ์การเกษตรไปยังเกษตรกรแล้ว ลำพังเกษตรกรคงจะเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากยิ่ง เพราะสถาบันการเงินมีความเสี่ยงและไม่สามารถสนับสนุนได้

เพราะหากสถาบันการเงินใช้เกณฑ์ปกติในการสนับสนุนเงินทุน เขาต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องบริหารจัดการด้านความเสี่ยงของสถาบันการเงินเอง ซึ่งเกษตรกรกลุ่มมีศักยภาพสูงเท่านั้น จึงจะเข้าถึงได้ ส่วนพวกที่ศักยภาพปานกลาง หรือกลุ่มศักยภาพต่ำ คงจะไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ และหากว่าดำเนินการไม่ได้ทั้งระบบ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย แล้วปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาของเกษตรกรและเป็นปัญหาของชาติบ้านเมืองอย่างน่าเป็นห่วง ผู้เขียนจึงเรียกร้องผ่านคอลัมน์นี้เพื่อช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดให้เกษตรกรไทยครับ

การสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ให้กับสินค้าของเกษตรกร

โจทย์สุดท้ายของเรื่องในตอนนี้ ก็คงจะต้องเป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าเกษตรไทย หรือสร้างความต้องการจากผลผลิตประเภทใหม่ๆ สำหรับการผลิตทางการเกษตร ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเคยพบเห็นที่จะขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น เกษตรกรที่เคยใช้พื้นที่ทำนาข้าว ทำไร่ข้าวโพด ซึ่งก็มีตลาดเดิมๆ ทั้งการรับซื้อข้าวเปลือกและข้าวโพดเท่านั้น แต่ต่อมาตลาดมีความต้องการผลผลิตเมล่อนหรือมะเขือเทศราชินี ซึ่งถือเป็นอุปสงค์ใหม่ๆ จากการตลาด เราก็สามารถที่จะสร้างทางเลือกให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่มาทำโรงเรือนปลูกเมล่อนหรือมะเขือเทศราชินีเพื่อจำหน่ายป้อนตลาดใหม่ได้ นี่ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการที่จะนำไปสู่ทางเลือกบนทางรอดของเกษตรกรไทยได้ในที่สุด

ขอขอบคุณผู้อ่าน ที่ได้ติดตามแนวทางที่ผู้เขียนมีเจตนาจะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีพได้อย่างดีภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความยากลำบากอย่างเช่นปัจจุบันครับ