เผยแพร่ |
---|
สำนักงาน กปร. นำสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ เยี่ยมชม โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง และ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ณ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ
โดยมี นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปความเป็นมาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ และศูนย์สาขา และ ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานและการขยายผลความสำเร็จของศูนย์สู่เกษตรกรในพื้นที่ และนำชมการดำเนินงานของศูนย์ ในด้านต่างๆ อาทิ การขยายพันธุ์พืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตไม้ผล การผลิตแกลดิโอลัส พร้อมสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกแกลดิโอลัส การผลิตพืชปทุมาและกระเจียวนอกฤดู การผลิตไม้ใบกระถาง และการผลิตกล้วยไม้แวนด้า พร้อมสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกปทุมาและกระเจียว ที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ
สำหรับศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบเนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 80,000 บาท ให้ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินงานในปีแรกได้ใช้พระราชทรัพย์ไปเพียง 40,000 บาท และประสบผลดี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 300,000 บาท พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการว่า โครงการศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล งานสาธิตฝึกอบรม และส่งเสริมอาชีพราษฎรตามพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2527 พระองค์เสด็จเยี่ยมสมาชิกโครงการกลุ่มบ้านโรงวัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งข้อความโดยสรุปว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริงอย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีพระบรมราโชบายให้ยกฐานะของโครงการขึ้นเป็นศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งได้เพิ่มภารกิจให้ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาไม้ดอกไม้ผลด้วย ในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดให้โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2540 ศูนย์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจนมีความพร้อมด้านบุคลากรและวิชาการด้านไม้ดอก จึงเพิ่มภารกิจทางด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกให้มากขึ้น โดยศูนย์ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชควบคู่ไปกับงานศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก เช่น เทคโนโลยีการผลิตพืชกลุ่มกระเจียวและปทุมา เทคโนโลยีการผลิตแกลดิโอลัส เทคโนโลยีการผลิตว่านสี่ทิศ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจผลิตไม้ดอกเป็นอาชีพหลักหรือเป็นอาชีพเสริมรายได้ พร้อมให้การสนับสนุนพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลแก่เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง และให้การสนับสนุนกลุ่มที่ผลิตพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ได้ทราบข้อมูลการตลาดของพืชนั้นๆ แบบต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันศูนย์ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย และตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้นำพันธุ์พืชใหม่สนับสนุนแก่กลุ่มชาวบ้านในความดูแลของศูนย์และเกษตรกรผู้สนใจทั่วไปตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พร้อมยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553-2565 แล้วทั้งสิ้น 83 ชนิด แบ่งเป็นพืชกลุ่มปทุมาและกระเจียว 46 ชนิด แกลดิโอลัส 23 ชนิด ว่านสี่ทิศ 4 ชนิด และบานชื่น 10 ชนิด พันธุ์พืชใหม่ที่นำส่งเสริมแก่เกษตรกรและเป็นที่รู้จักในท้องตลาด เช่น แกลดิโอลัสพันธุ์เจ้าฟ้า บ้านไร่ซันไซน์ บ้านไร่ซิลเวอร์สตาร์ บ้านไร่กู๊ดลัค และบ้านไร่เพอร์เพิลเจมส์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มปทุมา ได้แก่ ลูกผสมปทุมาพันธุ์บ้านไร่สวีท ซีเอ็มยูสวีทเลดี้ ซีเอ็มยูวิสต้า ซีเอ็มยูมิราเคิล ยูคิ นิกาตะ และบ้านไร่เบอร์กันดี้ เป็นต้น
สำหรับพืชกลุ่มกระเจียว ทางศูนย์ได้พัฒนาพันธุ์ใหม่ให้มีสีสันของดอกสวยงาม กลีบประดับมีความหนาทนทาน มีการเรียงตัวของกลีบประดับอย่างเป็นระเบียบ ก้านช่อดอกยาวและแข็งแรง ทรงต้นมีขนาดกะทัดรัด ทำการคัดเลือกมาทำการขยายพันธุ์ และมอบให้แก่เกษตรกรไทยทำการผลิตและขยายพันธุ์เพื่อส่งออกไปในตลาดโลกอีกด้วย โดยทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กปร. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทผู้รับซื้อหัวพันธุ์ในต่างประเทศ จนทำให้เกิดรายได้แก่เกษตรกร กระเจียวพันธุ์ที่นำไปส่งเสริม ได้แก่ บ้านไร่เรด เกรทเรน มณีสยาม สวีทเมมโมรี เป็นต้น
ในช่วงบ่ายคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) ดำเนินโครงการโดยสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมี นางเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปการสนองงานตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และรวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีจากทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และนำคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมนำชมการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี และศึกษาความแตกต่างของกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดพันธุ์ต่างๆ ชมพันธุ์ไม้หายาก และทัศนียภาพบริเวณโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีฯ
ปัจจุบันทางโครงการได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและจำหน่ายกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์ของโครงการ สามารถสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากจากประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เป็นการขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
การนี้ คณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างน่าสนใจ ที่สำคัญทางโครงการสามารถขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากเพื่อนำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติได้จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้ป่าไทยเป็นอย่างดี
เมื่อเดือนมีนาคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับ นายโกวิท ปัญญาตรง ผู้อำนวยการส่วนโครงการพระราชดำริกับความมั่นคง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ณ เวลานั้น) ณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความได้ว่า ให้พิจารณาหนทางในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายากและใกล้จะสูญพันธ์ไปจากแผ่นดินไทย เนื่องจากถูกลักลอบเก็บออกจากป่าส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และให้หน่วยงานที่ดำเนินการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เนื่องจากกล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายากและมักถูกลักลอบเก็บออกจากป่าส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศจนกระทั่งใกล้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมสนองพระราชดำริ จัดส่งเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน สำรวจกล้วยไม้รองเท้านารีใน 17 จังหวัดภาคเหนือ พบกล้วยไม้รองเก้านารีอินทนนท์ในพื้นที่ตำบลแม่อุคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ขุนยวม) อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้น โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้า และขอพระราชทานขยายโครงการในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ พร้อมจัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นและดำเนินงานมาจวบจนปัจจุบัน
สำหรับโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ที่สำนักงาน กปร. จัดขึ้นในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนแนวพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานไว้ได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่เยาวชนและประชาชนทุกภาคได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งสำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนองพระราชดำริโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเผยแพร่องค์ความรู้จากแนวพระราชดำริตลอดจนผลสำเร็จไปสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดความยั่งยืน จึงจัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวางต่อไป