ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผลผลิตมะม่วงในประเทศไทย กว่าร้อยละ 90 ใช้บริโภคในประเทศ มะม่วงที่ผลิตในประเทศจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือเพื่อการบริโภคผลดิบ เพื่อการบริโภคผลสุก และเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูป โรงงานแปรรูปมะม่วงที่ได้รับการรับรอง GMP และ HACCP จากกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศมีมากกว่า 30 แห่ง ทุกแห่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อมะม่วงทั้งสิ้น ทำให้ในแต่ละวันโรงงานเหล่านี้ มีเมล็ดมะม่วงเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปมะม่วงมีสูงถึงร้อยละ 40-50 เป็นเมล็ดมะม่วงถึงร้อยละ 20-60 ของส่วนเหลือทิ้งดังกล่าว
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/1-13.jpg)
คุณศุภมาศ กลิ่นขจร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลการเกษตร กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิต กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การกำจัดส่วนเหลือทิ้งของมะม่วงที่ทำกันอยู่ คือการนำมาทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดโรคระบาดหนอนเจาะเมล็ดมะม่วง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูกักกันในหลายประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการกำจัดส่วนที่เหลือทิ้งของกระบวนการแปรรูปที่เหมาะสม หรือหาทางนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/2-8.jpg)
คุณศุภมาศซึ่งเป็นนักวิจัยกล่าวว่า เมล็ดมะม่วงจะมีส่วนที่เป็นเนื้อในเมล็ดมะม่วงถึงร้อยละ 45-75 ของเมล็ดมะม่วงทั้งหมด เนื้อในของเมล็ดมะม่วงจะมีไขมันร้อยละ 7-12
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/3-9.jpg)
ศึกษาไขมันในเมล็ดมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้น
จากการศึกษาพบว่า ไขมันหรือเนยในเนื้อในเมล็ดมะม่วง มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตเกษตร (กวป.) โดย คุณศุภมาศ กลิ่นขจร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ จึงมีแนวคิดในการที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับส่วนเหลือทิ้งจากผลิตผลทางการเกษตร
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/4-8.jpg)
“จากการศึกษาพบว่าไขมันของเมล็ดมะม่วงแก้วขมิ้น มีไขมันเป็นองค์ประกอบร้อยละ 7-12 ไขมันที่สกัดได้จากเนื้อในเมล็ดมะม่วง มีช่วงอุณหภูมิของการหลอมเหลวใกล้เคียงกับอุณหภูมิในร่างกาย ไขมันที่สกัดได้จากเนื้อในเมล็ดมะม่วง จึงสามารถละลายและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวได้ดี”
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/5-5.jpg)
คุณศุภมาศ กล่าวว่า มีรายงานการค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในไขมันจากเนื้อในเมล็ดมะม่วงแก้วขมิ้น ได้แก่ สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ และสารประกอบฟินอลิกที่สามารถทำให้ผิวขาวขึ้น และป้องกันการเกิดริ้วรอยและความเหี่ยวย่นที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/6-6.jpg)
จากการศึกษาคุณสมบัติที่สำคัญ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตเครื่องสำอาง คุณศุภมาศ บอกว่า ได้พบไขมันหรือที่เรียกว่าเนยจากเนื้อในเมล็ดมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นที่สกัดได้ มีความสามารถที่ยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุทำให้ผิวหมองคล้ำ และสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดสที่ทำหน้าที่ในการย่อยกรดไฮยาลูโรนิก ที่เก็บความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และยังมีความสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์อีลาสเตสและคอลลาจีเนส ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดริ้วรอยและเหี่ยวย่น
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/7-5.jpg)
พัฒนาเนยของเมล็ดมะม่วงให้อยู่ในรูปแบบเกล็ด (flake)
จากคุณสมบัติดังกล่าว คุณศุภมาสจึงคัดเลือกไขมันจากเนื้อในเมล็ดมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นมาศึกษาวิธีการเก็บรักษา โดยนำมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบเกล็ด (flake) ที่เหมาะสมกับการใช้งานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เช่น ลิปสติก ลิปบาล์ม โลชั่นทาผิว มอยส์เจอร์บาร์ และบอดี้สครับ โดยศึกษาชนิดของแวกซ์และปริมาณที่เหมาะสมในการทำเนยเนื้อในเมล็ดมะม่วงให้คงรูปเป็นเกล็ด โดยการทำให้เกิดความเสถียรระหว่างการเก็บรักษาและการขนส่ง
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/8-5.jpg)
คำนวณต้นทุนการผลิต
คุณศุภมาศ บอกว่า จากการคำนวณผลผลิตที่ได้จากการผลิตเนยจากเนื้อในเมล็ดมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นพบว่า มะม่วง 100 กิโลกรัม สามารถผลิตไขมันหรือเนยจากเมล็ดมะม่วงได้ 0.05 กิโลกรัม แต่ถ้าเริ่มต้นผลิตจากเมล็ดมะม่วง 100 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตของเนยเมล็ดมะม่วงที่สกัดได้ร้อยละ 1.76 จากเมล็ดมะม่วงที่ใช้เป็นวัตถุเริ่มต้น ซึ่งในกระบวนการผลิตเนยจากเมล็ดมะม่วง ต้นทุนการผลิตจะเกิดจากการสูญเสียตัวทำลายที่ใช้ในระหว่างสกัดไขมัน จากการทดลองพบว่า จะเกิดการสูญเสียตัวทำลายประมาณร้อยละ 15 ของตัวทำลายที่ใช้ในระหว่างการผลิต
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/9-5.jpg)
การผลิตเนยจากเนื้อในเมล็ดมะม่วง 1 กิโลกรัม จะใช้ปิโตรเลียมอีเทอร์เป็นตัวทำละลายในการสกัดไขมัน 39.3 ลิตร และจะเกิดการสูญเสียปิโตรเลียมอีเทอร์ 5.89 ลิตร ซึ่งมีราคา 250 บาทต่อลิตร
จะเห็นได้ว่าเนยจากเมล็ดมะม่วง 1 กิโลกรัม จะมีต้นทุนจากการผลิต 1,472.50 บาท ในขณะที่เนยจากเมล็ดเชียที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางมีราคาสูงถึง 1,850 บาท
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/10-5.jpg)
ดังนั้น การใช้เนยจากเมล็ดมะม่วงในบ้านเราซึ่งเป็นของเหลือใช้ในประเทศ ราคาถูกกว่าเนยที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าเราทำเนยจากเมล็ดมะม่วงแก้วขมิ้นมาใช้แทนเนยเชียที่นำเข้ามาซึ่งมีราคาแพงจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอาง และเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการแปรรูปมะม่วงแก้วขมิ้น แทนที่จะทิ้งให้เป็นมลภาวะ
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/11-7.jpg)
คุณศุภมาศ กล่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้กำลังศึกษาวิจัยเนยในเนื้อเมล็ดมะม่วงพันธุ์มหาชนก ว่าจะมีคุณสมบัติเท่ากับเนยในเมล็ดพันธุ์แก้วขมิ้นหรือไม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหามะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นไม่เพียงพอ
![](https://www.technologychaoban.com/wp-content/uploads/2023/02/12-4.jpg)
ผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางและผู้สนใจทั่วไปสามารถสอบถามและขอศึกษากรรมวิธีการผลิตเนยมะม่วงได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตร กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-940-5979 และ 098-269-0355