เผยแพร่ |
---|
ผศ.ดร.รุจริน ลิ้มศุภวานิช หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “เนื้อแดง” คือ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงตามธรรมชาติ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ โดยเนื้อแดงมีปริมาณรงควัตถุที่เรียกว่า ไมโอโกลบิน (myoglobin) อยู่ในกล้ามเนื้อ คล้ายกับฮีโมโกลบินที่อยู่ในเลือด เมื่อจับออกซิเจนจะให้สีที่ออกสีแดง หากมีไมโอโกลบินมาก จะมีสีแดงเข้มมากขึ้น เช่น ในเนื้อวัวมีปริมาณไมโกลบินมากว่าในเนื้อหมู ทำให้เนื้อวัวมีสีแดงที่เข้มกว่า
จากข้อมูลขององค์กร IARC (International Agency for Research on Cancer) หน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ที่ได้รวบรวมข้อมูลวิจัยทางระบาดวิทยา และจัดกลุ่มสิ่งที่ “มีความสัมพันธ์” ต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่ง “เนื้อแดง” ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ “มีโอกาส หรือ อาจจะ” ก่อให้เกิดมะเร็ง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความกังวลในการทานเนื้อแดง
“ข้อมูลของ IARC ยังไม่เพียงพอที่จะบ่งบอกว่าเกิดกับมนุษย์ การศึกษาที่มีไม่ได้พบในผู้ป่วยมะเร็งโดยตรง พบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ในสัตว์ทดลองเท่านั้น และงานวิจัยที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในแถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศจีน แต่น้อยมากที่จะมีงานวิจัยจากเมืองไทย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุว่าจำเป็นต้องงดทานเนื้อแดงโดยสิ้นเชิง แต่ผู้บริโภคสามารถทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม” ผศ.ดร.รุจริน กล่าว
ผศ.ดร.รุจริน กล่าวแนะนำว่า สำหรับวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย ให้เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จากโรงแปรรูปหรือแหล่งผลิตที่มีมาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และลดความเสี่ยงด้านความไม่ปลอดภัย ส่วนการทานเนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุก ไม่ทานแบบสุกๆ ดิบๆ เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค