ศูนย์ข้าวชุมชน จ.พัทลุง และจ.นครศรีธรรมราช ต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อดูแลสมาชิกและชุมชน

สืบเนื่องจากกรมการข้าวนำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน  ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้มีการดำเนินงานในการ ส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง ในเรื่องของแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายพันธุ์คุณภาพดีให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ นับว่าเป็นอีกกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ระดับภาคใต้อีกด้วย

นายอำมร สุขวิน ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง ตำบลพนางตุง อำเภอควรขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้าง มีสมาชิกทั้งสิ้น 20 ราย พื้นที่การปลูก จำนวน 200 ไร่ สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ได้ดำเนินการทำแปลงเมล็ดพันธุ์ เพื่อบริการกระจายเมล็ดพันธุ์ ให้สมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อผลิตข้าวที่ได้คุณภาพมาตรฐานตรงตามกรมการข้าวกำหนดอย่างครบวงจร อาทิ ข้าวพันธุ์ กข 41 กข 47 กข 29 กข 61 และกข 81 นอกจากนี้ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าช้างได้มีการต่อยอดปลูกข้าวพื้นเมือง พันธุ์สังข์หยดพัทลุง เพื่อต่อยอด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สบู่ น้ำมันรำข้าว คุกกี้ ผงโรยข้าว ภายใต้แบรนด์โนซร่า ทำให้สมาชิกในกลุ่มรวมถึงคนในชุมชนประหยัดต้นทุนการผลิต และมีรายได้เพิ่มเติม

ด้านนายจำรัส คงนุ้ย ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช      เผยว่า เดิมทีตนและ สมาชิกกลุ่ม จำนวน 17 คน พื้นที่ 180 ไร่ เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ดี พันธุ์ข้าวหอมมะลิปทุม และ กข79 แต่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม และสถานการณ์โควิด จึงไม่สามารถ ดำเนินการต่อได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เว้นช่วงไป ในระยะ 2 ปี

แต่ปัจจุบัน กรมการข้าวได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้เข้ามาส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านแหลม  ภายใต้ ” โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ” เพื่อฟื้นฟู ให้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความเข้มแข็ง สามารถต่อยอดและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่สมาชิกและเกษตรพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใด้สนับสนุนการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน ภายใต้การกำกับดูแล

โดย กรมการข้าว ซึ่งได้วางระบบร่วมกันกับผู้แทนของศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อให้ศูนย์ข้าวชุมชนสามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในชุมชนและของประเทศ ตลอดจนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบ