เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ ฝีมือ วิทยาลัยเทคนิคนางรอง

“มะพร้าว” เป็นสินค้าเกษตรหลักที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก ในพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถใช้ประโยชน์จากมะพร้าวกว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็นรับประทานผลสด นำมาประกอบอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ผลของมะพร้าวมีขนาดใหญ่อาจมีขนาดยาวถึง 25-30 เซนติเมตร ผลมีรูปรีถึงกลม เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะแข็งมีเส้นใยเหนียวยากต่อการปอกเปลือกเพื่อใช้งาน เมื่อต้องการนำผลมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมากๆ

ทีมเจ้าของผลงานเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ 

วิทยาลัยเทคนิคนางรอง ออกแบบนวัตกรรมเพื่อชุมชน

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนางรองประกอบด้วย นายศุภกร เพชรกิ่ง นายพิทยุตม์ มุ้ยกระโทก และอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นายอัครชัย ชลชี นายฐาปนพงศ์ เนืองภา เล็งเห็นความสำคัญของอาชีพการทำสวนมะพร้าวที่เป็นรายได้หลักของท้องถิ่น และพบว่า การปอกเปลือกมะพร้าวแก่เพื่อนำไปแปรรูปนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ต้องใช้มีดที่มีน้ำหนักและความคมมาก เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ และต้องใช้เวลาในการทำงาน

คณะผู้วิจัยมีแนวคิดสร้าง “เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่” โดยสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปอกมะพร้าวพบว่า ได้มีการสร้างเครื่องปอกมะพร้าวขึ้นแล้วแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงใช้เวลา ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสืบค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สืบค้นสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ออกแบบและสร้างเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ทดสอบการใช้งานจริงและสรุปผล ทั้งหมดใช้เวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนกันสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม 2565 จนได้นวัตกรรมเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถสับเปลือกแบบหยาบออกมา ทำให้ลดระยะเวลา เพิ่มความสะดวก เหมาะสมแก่ผู้ใช้งานมากขึ้น อีกทั้งราคาไม่สูงจนเกินไป

คว้ารางวัลชนะเลิศ ประกวดสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา จังหวัดบุรีรัมย์ ปี 2565 

เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่

คณะวิจัยออกแบบสร้างเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ โดยนำทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คำนึงถึงการใช้งานที่สะดวกสบาย เคลื่อนย้ายง่าย ปลอดภัย ใช้งานได้จริง ช่วยประหยัดเวลาในการปอกเปลือกมะพร้าวได้ โดยกำหนดโครงสร้างเครื่องปอกมะพร้าวแก่ให้มีความสูง 117 เซนติเมตร กว้าง 45 เซนติเมตร ยาว  60 เซนติเมตร

จัดทำชุดเพลาปอกเปลือก 6 ชิ้น มีฟันสับเปลือก 8 ซีก และจัดทำชุดเพลาป้อนเปลือก โดยมี เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร จัดทำเพลาชุดกดพร้อมติดตั้งใบกด 8 ใบ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เซนติเมตร จัดทำชุดเพลาสับปอกมะพร้าว เส้นผ่าศูนย์กลาง 11 เซนติเมตร ติดตั้งมอเตอร์ 1 แรงม้า 1 ตัว และมอเตอร์ 1/4 แรงม้า 1 ตัว

Advertisement
รับรางวัลติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา ปี 2566 จากผู้บริหาร วช.

หลังได้เครื่องต้นแบบที่สามารถพัฒนาให้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ คณะนักวิจัยได้นำไปให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในท้องถิ่นได้ทดลองใช้งานและตอบแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่ออุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าว จำนวน 10  คน ปรากฏว่า กลุ่มเกษตรกรแสดงความพึงพอใจต่อประสิทธิภาพการใช้งานของอุปกรณ์ชิ้นนี้ เนื่องจากนวัตกรรมนี้มีความโดดเด่นกว่าสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอื่นที่เคยมีมา ใช้เวลาในการปอกเปลือกมะพร้าวแก่ได้เร็วกว่าการใช้เครื่องมือชนิดอื่น ช่วยลดแรงคนในการปอกมะพร้าวได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภทในเครื่องเดียว ทั้งปอกและสับกาบมะพร้าวให้มีความละเอียด

ร่างแบบโครงสร้างเครื่องปอกมะพร้าวแก่ 

มีรางวัลเป็นเครื่องการันตี

Advertisement

คณะผู้จัยได้ส่งผลงานเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ เข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปีการศึกษา 2565 ณ วิทยาลัยการอาชีพสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 1 ในกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

นายวรงจ์ แก้วบุญเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนางรอง ตลอดจนผู้บริหารและคณะครู แสดงความยินดีชื่นชมกับชัยชนะในครั้งนี้ เพราะทำให้วิทยาลัยเทคนิคนางรองเป็นตัวแทนอาชีวศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2566

เครื่องปอกมะพร้าวแก่ที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน

ขณะเดียวกัน นวัตกรรมเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแก่ของวิทยาลัยเทคนิคนางรอง เป็น 1 ใน 15 ชิ้นงานที่ได้รับรางวัลติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา จำนวน 15 ผลงาน ในกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพเพื่อการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษา พิจารณาจากผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม

อุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าวแบบเท้าเหยียบ

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาสังกัดสำนักงาน สอศ. เข้าร่วมบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้น การเขียนข้อเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์อย่างเป็นระบบ

เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแบบเพลาเดียว 

เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแบบเพลาเดียว

นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคนางรองยังมีนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในท้องถิ่นอีกหลายชิ้น เช่น เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวแบบเพลาเดียวที่ช่วยลดระยะเวลาในการปอกเปลือกมะพร้าว สร้างความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ส่งผลให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ปี 2561 ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

นายวรงจ์ แก้วบุญเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนางรอง 

อุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าวโดยใช้เท้าเหยียบ

อุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าวโดยใช้เท้าเหยียบ ได้รับรางวัล สิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2563 ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คณะผู้วิจัยของวิทยาลัยเทคนิคนางรอง สร้างอุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าวแบบเท้าเหยียบให้ใช้งานง่าย มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้สะดวก สามารถอำนวยความสะดวกปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ลดระยะเวลาในการปอกมะพร้าวได้ง่ายขึ้นสำหรับทุกคน โครงสร้างอุปกรณ์ปอกเปลือกมะพร้าว ทำจากสแตนเลส มีขนาดความยาว 35 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร และสูง 100 เซนติเมตร สามารถลดระยะเวลาในการปอกมะพร้าวได้เฉลี่ย 3 นาทีต่อลูก เหมาะสำหรับใช้งานในครัวเรือน

ผู้สนใจนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคนางรอง เลขที่ 1 ถนนบ้านเก่า-แพงพวย ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เบอร์โทร. 085-778-5544, 044-631-556 ในวันและเวลาราชการ