มะยงชิดสวนนพรัตน์ นครนายก ใช้เทคนิคส่องไฟ ให้ผลผลิตอย่างดก

ปกติมะยงชิดและมะปรางหวานจะออกดอกตามธรรมชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หรือในช่วงหน้าหนาวและผลสุกพร้อมเก็บขายหรือรับประทานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี หลายคนคงไม่ปฏิเสธว่ามะยงชิด-มะปรางหวานที่อร่อย ผลใหญ่ รสหวาน ต้องนครนายก ซึ่งเป็นไม้ผลเอกลักษณ์ที่ได้รับขึ้นทะเบียน GI เรียบร้อย

สวนมะยงชิดหลายแห่งล้วนมีศักยภาพในการผลิตมะยงชิด-มะปรางหวานได้อย่างคุณภาพ แต่มีอยู่แห่งหนึ่งที่มีความพิเศษตรงได้ค้นพบเทคนิคส่องไฟที่ต้นมะยงชิดทำให้ออกดอกออกช่อติดผลดกได้จำนวนมากขึ้น ทั้งยังมีคุณภาพเหมือนเดิม สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้สวนมะยงชิดหลายแห่งทั่วประเทศนำเทคนิคนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

ดาบนวย (เสื้อลาย) ฐานะนายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก และรองนายก (ซ้าย) เมื่อครั้งไปพิสูจน์มะยงชิดต้นแรกที่แขวนหลอดตะเกียบหน้าบ้านพักคนสวน

ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือที่รู้จักกันว่า “ดาบนวย” ท่านเป็นนายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก แล้วยังเป็นเจ้าของ “สวนนพรัตน์” ตั้งอยู่ที่เลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และเป็นเจ้าของเทคนิคส่องไฟต้นมะยงชิดจนมีผลดก แต่ก่อนจะไปรู้ว่าเทคนิคนี้ทำอย่างไร ขอย้อนกลับไปเล่าประวัติการทำสวนมะยงชิด-มะปรางหวานของดาบนวยพอสังเขปก่อน

มะยงชิดนครนายกได้รับขึ้นทะเบียน GI 

อยากปลูกมาก แต่ทุนน้อย ค่อยเรียนรู้จนสำเร็จ

ดาบนวยเริ่มปลูกมะยงชิดในราวปี 2533 ขณะที่รับราชการตำรวจ มีเงินเดือนไม่มาก แต่สนใจปลูกมะยงชิด จึงซื้อกิ่งพันธุ์ทาบมาราคา 200 บาท มีความสูงประมาณศอก ตอนนั้นมีที่ดินอยู่ 10 ไร่ อยากจะปลูกให้มากก็ทำไม่ได้เพราะทุนน้อย ไปกู้ก็ไม่ผ่าน จึงปลูกได้เพียงไม่เกิน 20 ต้น ปลูกไว้รอบบ้านก่อน ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย ลองผิด-ถูกเอง ถามชาวบ้านแถวนั้นบ้าง จนเมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่งจึงค่อยขยายจำนวนต้นมากขึ้นเกือบ 200 ต้น เพิ่มพื้นที่ปลูกแล้วจัดการแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ ซึ่งสมัยนั้นมะยงชิดเป็นของใหม่ ราคาดี ถ้าปลูกให้มีคุณภาพขายได้ราคาสูงกว่าเงินเดือนด้วย

สวนมะยงชิดดาบนวยเป็นระเบียบ สะอาด โล่ง

ความพยายามของดาบนวยไม่เสียเปล่า ภายหลังได้พัฒนาวิธีปลูกอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตมีคุณภาพทั้งปริมาณและรสชาติ กระทั่งเมื่อทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกได้จัดงานมะยงชิด-มะปรางหวานขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อต้องการผลักดันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

นับจากนั้นชื่อมะยงชิด-มะปรางหวานนครนายกเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ดันราคาขายไปถึงหลักหลายร้อยบาทต่อกิโลกรัม พอราคาพุ่งเช่นนี้บรรดาเกษตรกรชาวสวนนครนายกต่างหันมาปลูกมากขึ้น ราคากิ่งพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ช่อดอกมะยงชิด-มะปรางหวาน

พันธุ์มะยงชิดที่ดาบนวยปลูก ได้แก่ ทูลเกล้ากับบางขุนนนท์ ส่วนมะปรางหวานเป็นพันธุ์ทองนพรัตน์ ปลูกมะยงชิดไว้จำนวนกว่า 900 ต้น มะปรางหวานประมาณ 200 ต้น พื้นที่ปลูกมีหลายแปลง รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 40 ไร่ อายุต้นมะยงชิดที่เก่าประมาณ 40 ปี ส่วนมะปรางหวานประมาณ 25 ปี

มะยงชิดผ่าดูคุณภาพเนื้อด้านในหนา แห้งกำลังดี 

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน

ภายหลังจากดาบนวยศึกษาหาความรู้ และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมามากพอสมควรจึงได้ปรับวิธีการปลูก ดูแลมะยงชิด-มะปรางหวานอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เริ่มจากปรับปรุงพื้นที่ปลูกแล้วขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก 50 เซนติเมตร ใช้มูลวัวผสมแกลบดิบร่วมกับดินที่ขุดขึ้นมารองก้นหลุม ระยะปลูกในช่วงแรกดาบนวยใช้ระยะ 8×8 เมตร ได้จำนวน 28 ต้นต่อไร่ แต่มองว่าห่างไป ดังนั้น สวนแห่งใหม่จึงกำหนดระยะปลูก 6×6 เมตร ดีกว่ามากเพราะได้จำนวน 45 ต้นต่อไร่ ภายในสวนมีช่องว่างกำลังดีทำงานได้สะดวก ต้นไม่ชนกัน ทรงพุ่มสวย โดยหมั่นตัดแต่งกิ่ง และดูแลวัชพืชอยู่ตลอดเวลา

ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือ ดาบนวย

นอกจากปุ๋ยมูลสัตว์แล้วยังใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ใส่รอบโคนต้นห่างประมาณ 1 คืบในปริมาณกำมือ ใส่ทุก 3 เดือน ส่วนปุ๋ยมูลวัวใช้ 1 กระสอบแบ่งใส่ 4 ต้น ครั้งที่ 2 ใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ปริมาณ 1 กำมือต่อต้น พร้อมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักแห้งใส่ก่อนหมดฝน เพื่อให้ต้นมีการสะสมอาหารไว้พร้อมต่อการออกดอกผลในฤดูกาลถัดไป

ส่วนเรื่องการให้น้ำนั้นเนื่องจากพื้นที่ตำบลดงละครมีลักษณะเป็นเนินอยู่แห่งเดียวในจังหวัด ถ้าต้องการใช้น้ำต้องเจาะบ่อบาดาลที่มีความลึกในระดับไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ต่างจากที่อื่นที่เจาะบ่อบาดาลเพียง 2 เมตร ทำให้พื้นที่นี้ค่อนข้างหาน้ำลำบาก ดาบนวย บอกว่า ถ้าปลูกขนุนดีมากมีรสหวาน เนื้อกรอบแห้ง เพราะขนุนไม่ต้องการน้ำมาก ปัจจุบันสวนดาบนวยขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ทำเกษตรกรรม แล้วเดินระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ทั้งหมด

ต้นพันธุ์มีจำหน่ายตลอดเวลา

ด้านโรคและแมลงศัตรูของมะยงชิด-มะปรางหวานที่ดาบนวยประสบปัญหา ได้แก่ เพลี้ยไฟ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมักทำลายบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก และขั้วของผลอ่อน นอกจากนี้ ยังทำลายขอบใบและปลายใบจนไหม้สร้างความเสียหายจนใบร่วง สำหรับใบที่แข็งแรงเพลี้ยไฟมักจะทำลายตามขอบใบ ปลายใบไหม้ หรือทำลายดอกจนร่วงไม่ติดผลหรือติลผลน้อยทำให้ผลไม่สมบูรณ์

แมลงวันทองเป็นศัตรูตัวร้ายของไม้ผลหลายชนิดรวมทั้งมะยงชิด โดยมักวางไข่ที่ผลมะยงชิด-มะปรางหวานในช่วงผลใกล้สุกจนถึงผลสุกสีเหลือง ทำให้ภายในผลมีหนอนเข้าทำลาย จนผลเน่าและร่วงหล่นในที่สุด สำหรับวิธีป้องกันแมลงวันทองนั้น ดาบนวย บอกว่า สมัยแรกที่เริ่มปลูกจะห่อผลเพื่อป้องกันแมลงศัตรูและต้องการรักษาผิวเปลือกให้เรียบสวย แต่พอมาช่วงหลังที่มีผลผลิตจำนวนมากห่อไม่ทันจึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดยาป้องกันศัตรูในช่วงแทงช่อดอก โดยการฉีดยาป้องกัน ร่วมกับยาป้องกันเชื้อราทางใบจะใช้ในอัตราและระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรฐานที่ควบคุม

เพิ่งเก็บจากต้น เตรียมทำความสะอาด คัดแยกคุณภาพก่อนบรรจุขาย

ระยะเวลาเก็บผลผลิตมะยงชิด-มะปรางหวานนับตั้งแต่วันแทงช่อดอกไปจนเก็บใช้เวลา 75 วัน ในช่วงเวลา 30 วันก่อนเก็บให้ใส่ปุ๋ยความหวานพร้อมกับรดน้ำเต็มที่ ปุ๋ยความหวานจะใส่ช่วงผลใกล้สุก ใช้สูตร 8-24-24 ใส่ 2 ครั้ง เมื่อครั้งแรกแล้วเว้นไป 10 วันจึงใส่อีกครั้ง แล้วก่อนเก็บผล 7 วันหยุดให้น้ำทันที มิเช่นนั้นความหวานจะหายไป เมื่อผลมีขนาดประมาณนิ้วโป้งจะต้องดูแลเรื่องปุ๋ยและน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อต้องการสร้างคุณภาพขนาดผล

ลูกค้าอุดหนุนต้นพันธุ์ 

ใช้ไฟส่องต้น ให้ผลผลิตอย่างดก!! เทคนิคที่พบ โดยบังเอิญ

มะยงชิดเริ่มมีดอกตามธรรมชาติเมื่อเข้าฤดูหนาวประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม แต่เนื่องจากสภาพความเย็นทยอยมาเป็นระลอก จึงทำให้การออกดอกไม่พร้อมกัน ผลผลิตที่ได้จึงมี 3 รุ่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แต่หลายปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีการใช้เทคนิคจากการใช้แสงจากหลอดไฟสีขาวส่องบริเวณกิ่งใบช่วยให้มะยงชิดแทงดอกเร็วและดก ปัจจุบันหลายสวนทั่วประเทศนำไปใช้ทำให้ได้ผลผลิตไม่ตรงกับฤดูแบบเดิมแล้ว

ดาบนวยเป็นผู้ริเริ่มแนวทางนี้คนแรกพร้อมบอกว่าเทคนิคดังกล่าวเกิดจากความบังเอิญโดยเมื่อสักปี 2559 คนสวนได้นำหลอดตะเกียบแขวนไว้ที่ต้นมะยงชิดหน้าบ้าน โดยจะเปิดไฟไว้เฉพาะช่วง 18.00-21.00 น. และ 03.00-06.00 น. ของทุกวันเป็นประจำ มาวันหนึ่งประมาณเดือนตุลาคมคนสวนมาบอกว่ามะยงชิดออกช่อ 1-2 กิ่ง ดาบนวยก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง

ลูกค้าบุกมาซื้อถึงสวน

แต่จากนั้นอีก 1 เดือนก็มาบอกอีกว่าช่อดอกมะยงชิดเป็นผลแล้ว แล้วดกด้วย ดาบนวยแปลกใจเพราะยังไม่ใช่ช่วงมีดอก (ช่อดอกจะออกตอนช่วงหน้าหนาว แต่ตอนนั้นเป็นหน้าฝน ปกติถ้าไม่หนาวมะปรางจะไม่ออกช่อ) จึงไปดูพบว่าเป็นเช่นนั้นจริง ที่น่าแปลกคือทำไมจึงเกิดเฉพาะบริเวณที่แขวนหลอดไฟเท่านั้น จุดอื่นไม่มี เมื่อไปดูพบว่าเฉพาะกิ่งที่ให้ผลมีน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม ถือว่าดกมาก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดาบนวยประหลาดใจแล้วพยายามหาคำตอบโดยได้ทดลองในสวนจำนวน 20 ต้น แบ่งเป็น 2 ชุด คือใส่ไฟตรงกลางต้นกับไม่ใส่หลอดไฟ เมื่อผ่านไป 8 วันกลับมาดูพบว่าต้นที่แขวนหลอดไฟมีช่อดอกออก แต่ต้นที่ไม่แขวนหลอดไฟกลับไม่มีดอก

ลูกค้าสั่งซื้อต้นพันธุ์ลำเลียงขึ้นรถ 

เทคนิคนี้ได้ผล แนะใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ดาบนวยจึงมั่นใจว่า วิธีการใช้แสงไฟได้ผล จึงทดลองทำอีกรุ่นเพื่อตอกย้ำความจริง โดยคราวนี้ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 36 วัตต์แบบที่มีสตาร์ตเตอร์และบัลลาสต์ ทดลองจำนวนต้นมะปรางหวาน 20 ต้น ใช้ต้นละ 2 หลอด เปิดไฟตั้งแต่ 18.00-06.00 น. เพื่อให้แสงไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง และติดตั้งไว้นานเป็นเดือน ส่งผลให้ออกช่อติดดีมาก ติดเกือบทุกกิ่ง ให้ผลผลิตดกทั้งต้น และเพียงสวนเดียวได้ผลผลิตถึง 10 ตันกว่า อย่างไรก็ตาม ดาบนวยได้ลองนำหลอด LED มาใช้เพื่อเปรียบเทียบแต่จำนวนไม่ดกเหมือนใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์

มีทั้งแบบบรรจุกล่องและใส่ถุง

นอกจากนั้น ดาบนวยยังสงสัยว่าการส่องไฟกับระดับอุณหภูมิมีผลต่อการแตกดอกอย่างไร จึงทดลองเปิดไฟส่องต้นมะยงชิดเป็นช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งยังมีอากาศเย็นโดยทดลองทุกสัปดาห์ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าพอถึงเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีดอกออกเพราะอากาศร้อนเกินไป เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเปิดไฟควรเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เพราะเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นจริง

ผลสุกเตรียมเก็บขาย

แต่ปรากฏว่าหลายสวนร่นเวลามาเริ่มทำเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อาจก่อให้เกิดปัญหาการติดดอกออกผลไม่สมบูรณ์ทำให้คุณภาพและปริมาณไม่ดี ดาบนวยไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลต่อคุณภาพ ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะเป็นสินค้า GI ถือว่านครนายกเป็นจังหวัดนำร่องที่ปลูกไม้ผลชนิดนี้ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน จึงอยากให้ทุกสวนร่วมใจกันรอทำในเดือนที่มีอากาศเย็นดีกว่าเพราะจะได้คุณภาพมะยงชิด-มะปรางหวานที่สมบูรณ์ดกทั้งสวน

สำหรับรูปแบบการขายมะยงชิด-มะปรางหวานของสวนดาบนวยมีทั้งขายที่สวน ขายส่ง และขายทางออนไลน์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250 บาทต่อกิโลกรัม แต่อาจมีการขยับบ้างแล้วแต่สถานการณ์ ขนาดผลประมาณ 4 ผลต่อกิโลกรัมหรือเทียบกับไข่ไก่เบอร์ 0

ผลใหญ่ขนาดเทียบเท่าไข่ไก่เบอร์ 0

“มะยงชิด-มะปรางหวาน นครนายก ถือเป็นผลไม้เอกลักษณ์ของจังหวัดที่เชิดหน้าชูตา ทุกสวนที่ขึ้นทะเบียนปลูกได้อย่างมีคุณภาพ อยากเชิญชวนทุกท่านมาชิมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม สิ่งที่แนะนำว่าเป็นของแท้หรือไม่ให้ตรวจสอบเครื่องหมาย GI ที่ด้านหน้าผลิตภัณฑ์เพราะปัจจุบันมีจำนวนกว่า 500 สวนที่ได้รับการรับรองแล้ว” ดาบนวย กล่าว

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อมะยงชิด-มsะปรางหวานหรือกิ่งพันธุ์ได้ที่ ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือ ดาบนวย โทรศัพท์ 081-762-4082 หรือ 093-113-2694 และทางเฟซบุ๊ก สวนนพรัตน์ (ดาบนวย)