METER IOT นวัตกรรมอัจฉริยะ ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี

มิเตอร์ไอโอที (METER I0T) หนึ่งในนวัตกรรมอัจฉริยะที่โดดเด่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สามารถประยุกต์ใช้เป็นทั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและมิเตอร์น้ำในเครื่องเดียวกัน จัดแสดงค่า แบบเรียลไทม์ ดูข้อมูลจากหน้าจออุปกรณ์หรือผ่านระบบแอปพลิเคชั่นก็ได้ ดูค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาได้ทันทีตลอดเวลา สามารถนำประยุกตใช้งานในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หอพัก คอนโดฯ หรือตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะจุด    

นวัตกรรมมิเตอร์ไอโอที (METER I0T) 

ผลงานวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี

มิเตอร์ไอโอที เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ประกอบด้วย นายประภากรณ์ ภิธรรมมา นายธีรเมธ ครองยุติ นายศิวพันธ์ ลำใย นายขัติพงษ์ เพชรณสังกุล นายธนภัทร ลาวรรณ์ นางสาวสุธาทิพย์ เขียวน้อย นายกษิเดช หงษ์เผือก นายนฤสรณ์ สกุลทวีไพศาล นายปริวัฒน์ ปึงชวลิตโสภี นายจักรพงษ์ แววดี และครูที่ปรึกษาคือ นายสุรศักดิ์ ผาสุขรูป นายยงยุทธ์ จันทรัตน์ นางสาวสวคนธ์ มั่งชู นางศรัญญา โม้ทอง และ นางสาวกนกกาญจน์ ทะวงษา

นวัตกรรมมิเตอร์ไอโอที รับรางวัลเหรียญทอง ในงาน “วันนักประดิษฐ์” 

จุดเด่นของนวัตกรรม

มิเตอร์ไอโอทีสามารถใช้งานได้ทั้งมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต มิเตอร์ไอโอทีแสดงอัตราค่าไฟฟ้าตรงตามมาตรฐานของการไฟฟ้า ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยได้ทั้ง 2 แบบ นวัตกรรมนี้ มีราคาที่ถูกกว่ามิเตอร์ที่วางขายในท้องตลาด

มิเตอร์ไอโอทีมีจอแสดงผลเป็นแบบจอกราฟริก GLCD แบบทัชสกรีน ขนาด 2.4 นิ้ว แสดงค่ากำลังไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้า ออกแบบการแสดงผลที่หน้าจอมิเตอร์ดูสวยงามและน่าสนใจ โดยมีปุ่มทัชสกรีน เลือกดูค่าต่างๆ และแสดงกำลังไฟฟ้าที่ใช้ KW-H (UNIT) และคำนวณค่าไฟฟ้า (บาท) นอกจากนี้ ยังมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ เมื่อกระแสไฟฟ้าสูงกว่าปกติ หรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อป้องกันชีวิตจากปัญหาไฟดูด และป้องการทรัพย์สินจากปัญหาอัคคีภัยได้

ระบบแอปพลิเคชั่นของมิเตอร์ไอโอที จัดแสดงรหัสผู้ใช้ หมายเลขของผู้ใช้ไฟฟ้า มีขนาดของมิเตอร์ จำนวน 2 ขนาด คือ 5 แอมป์ กับ 15 แอมป์ขึ้นไป ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกขนาดมิเตอร์ได้ตามความต้องการ มีการคำนวณค่า FT ค่าบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถคิดคำนวณค่าไฟฟ้าต่อยูนิต ตามมาตรฐานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถตรวจสอบการใช้งานไฟฟ้าย้อนหลังได้ 6 เดือนผ่านระบบแอปพลิเคชั่นของมิเตอร์ไอโอที ขณะเดียวกัน มีระบบแจ้งเตือนการใช้ไฟ กรณีเกิดปัญหาไฟตกหรือไฟเกินผ่านระบบไลน์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการใช้ไฟได้อย่างเหมาะสมตามที่ต้องการ และผู้ใช้งานสามารถทดสอบใส่ค่ายูนิตลงไปด้วยว่า ตรงกับการคิดคำนวณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือไม่

ความภาคภูมิใจในผลงานของทีมวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี 

ประโยชน์ของผลงานประดิษฐ์

มิเตอร์ไอโอที นำเทคโนโลยีด้าน IOT (INTERNET OF THING) ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูค่าไฟฟ้าและรายละเอียดต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น สามารถวางแผนในการประหยัดไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ได้โดยดูค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลา มีการแจ้งเตือนถึงค่าไฟถึงกำหนด มีระบบตัดไฟอัตโนมัติ เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ผลิตภัณฑ์ดูสวยงาม ทันสมัย ราคาถูก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้

ผู้บริหาร สอศ. ร่วมยินดีกับรางวัลชนะเลิศในงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา 

มีรางวัลการันตีคุณภาพ  

วิทยาลัยเทคนิคสระบุรีได้ส่งนวัตกรรม มิเตอร์ไอโอที (Meter IoT) เข้าร่วมประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ในงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ปรากฏว่า นวัตกรรมมิเตอร์ไอโอที (Meter IoT) คว้ารางวัลมาได้ถึง 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศในรายการประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ และรางวัล Honor Awards (รางวัลขวัญใจมหาชน)

และผลงานสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องวัดความเอียงสื่อสารไร้สาย ระบบ LoRa” ของนักศึกษาแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ได้รับ รางวัลเหรียญเงิน (รางวัลชมเชย) ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ในงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565

ปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี จำหน่ายผลงาน METER IOT (มิเตอร์ไฟฟ้า) ราคา 2,000 บาท และ METER IOT (มิเตอร์น้ำประปา) ราคา 2,000 บาท (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์สุรศักดิ์ ผาสุขรูป วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี เบอร์โทร. 061-916-0321 หรือชมผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ ได้ทาง คลิปวิดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=zKstYocl9HM

ตู้น้ำหยอดเหรียญป้องกันโควิด 

ตู้น้ำหยอดเหรียญป้องกันโควิด

ที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคนิคสระบุรีได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาเข้าร่วมจัดแสดงในงาน Thailand New Gen Inventors Award : I-New Gen Award 2023 งาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2566 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ปรากฏว่า ผลงาน มิเตอร์ไอโอที (Meter IoT) ได้รับรางวัลเหรียญทอง ชนะเลิศ อันดับ 1 สิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มที่ 4 พลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ และผลงานตู้น้ำหยอดเหรียญป้องกันโควิด ของวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มที่ 3 สุขภาพเเละการเเพทย์

ตู้น้ำหยอดเหรียญป้องกันโควิด เป็นผลงานของนักศึกษา และคณะครูจากแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ประกอบด้วย นายนฤสรณ์ สกุลทวีไพศาล นายกษิเดช หงษ์เผือก นายขัติพงษ์ เพชรณสังกุล นายธนภัทร ลาวรรณ์ นางสาวสุธาทิพธ์ เขียวน้อย และครูที่ปรึกษา ได้แก่ นายสุรศักดิ์ ผาสุขรูป นางสาวสวคนธ์ มั่งชู นายศิรวัฒน์ บัวภา นายสกุลวัฒน์ จำปาเงิน นายเอกชัย แสนเย็น และ นายสุรัตน์ ลิมป์ประเสริฐกุล

นำเสนอผลงานตู้น้ำหยอดเหรียญป้องกันโควิดในงานวันนักประดิษฐ์ 

วิธีการใช้งานสิ่งประดิษฐ์ 

นวัตกรรมนี้ มีวงจรควบคุม ต้นกำลังของสิ่งประดิษฐ์ใช้ไฟ 220 วัตต์ อุปกรณ์มีขนาด 15x20x6 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม ใช้งานร่วมกับเครื่องวัดอุณหภูมิและจ่ายเจลล้างมือฆ่าเชื้อ และตู้น้ำหยอดเหรียญ

เมื่อเริ่มต้นใช้งาน หากผู้ใช้บริการยังไม่ได้ล้างมือ ตู้น้ำจะไม่ทำงาน และมีเสียงแจ้งเตือนว่า “คุณยังไม่ได้ล้างมือ โปรดล้างมือด้วยค่ะ” เมื่อผู้ใช้บริการล้างมือแล้ว จะมีเสียงบอก “เครื่องพร้อมให้บริการแล้วค่ะ” ผู้ใช้บริการจึงสามารถยอดเหรียญใช้งานตู้น้ำหยอดเหรียญได้ ระบบการจ่าย/หยุดน้ำ จะเป็นระบบแบบไร้การสัมผัส เมื่อผู้ใช้บริการเลิกใช้งานตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ระบบจะตัดการหยอดเหรียญโดยอัตโนมัติเพื่อให้ผู้ใช้บริการคนใหม่เริ่มกระบวนการเริ่มต้นใหม่โดยต้องล้างมือก่อน

จุดเด่นของสิ่งประดิษฐ์

นวัตกรรมนี้มีระบบตรวจสอบปริมาณเจลล้างมือ เมื่อปริมาณเจลล้างมือใกล้หมด มีการแจ้งเตือนให้เจ้าของผู้ให้บริการรับทราบ เพื่อนำเจลมาเติม ทั้งมีระบบตรวจสอบไส้กรองตู้น้ำว่าถึงเวลาที่จะทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองหรือยัง และมีระบบตรวจสอบยอดเงินในตู้น้ำหยอดเหรียญ เพื่อให้เจ้าของผู้ให้บริการรู้ว่ายอดเงินในตู้มีปริมาณเท่าไร เพื่อวางแผนในการเดินทางไปเก็บเงินในตู้ ทำให้ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นวัตกรรมนี้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้ใช้ตู้น้ำหยอดเหรียญมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตู้น้ำหยอดเหรียญที่ใช้งานทั่วไป ทั้งนี้ สามารถนำนวัตกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้งานได้หลายๆ อย่าง เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้เติมเงิน การล้างมือก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า การประชุมต่างๆ เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จากเฟซบุ๊ก แผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี