สวนผักทำมะดา

คนทำงานกินเงินเดือนในปัจจุบัน ถูกทำงานภายใต้การกดดัน ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำผ่านมามีความรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน พลอยทำให้ความรู้สึกมั่นคงในฐานะที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวก็คลอนแคลนด้วย ในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เช่นกัน ช่วงที่ถูกกักตัวในบ้าน ทำให้เราคิดถึงความมั่นคงในอาหารว่าจะมีกินไหม สำหรับเนื้อสัตว์เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลนัก ถ้าเราซื้อมาฟรีชไว้ก็เก็บไว้ได้หลายเดือน แต่ผักซื้อเก็บในตู้เย็นไม่ได้หลายวัน จำเป็นต้องซื้อมาบ่อย แต่การออกไปซื้อช่วงนั้นค่อนข้างยาก

คุณเหมียว หรือ คุณเดือนเต็มดวง บุญคง เจ้าของสวน

คุณเหมียว หรือ คุณเดือนเต็มดวง บุญคง จบปริญญาตรี สถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาโทสถาปัตย์ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ในปี พ.ศ. 2548 ได้เข้าทำงานด้านการตลาดของบริษัทที่นำเข้าวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศในฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ในกรุงเทพมหานคร ทำงานอยู่ได้ 17 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้ช่วยกรรมการจัดการบริษัท ด้านพัฒนาธุรกิจและการตลาดในบริษัทดังกล่าว มีความรู้สึกอยากจะดูแลครอบครัวและสุขภาพให้มากกว่านี้ ตอนทำงานต้องอยู่คอนโดฯ ใกล้ที่ทำงานเพราะบ้านกับที่ทำงานไกลกัน วันหยุดถึงได้กลับมาบ้าน ทำให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว และเพราะมีความสนใจเรื่องสุขภาพต้องการกินอาหารปลอดภัย จึงพยายามเสาะหาแหล่งที่ปลูกพืชอินทรีย์เพื่อซื้อหาผักปลอดภัยมาบริโภค ในตลาดที่ขายผักอินทรีย์ความเชื่อถือก็ไม่ถึงกับเต็มร้อย และในช่วงโควิดที่ผ่านมาหาซื้อผักอินทรีย์ไม่ง่ายนัก การปลูกผักเองแม้เป็นบางส่วนก็ยังรู้สึกเบาใจไปบ้างพอควร

กองขยะ ก่อนทำแปลง
กองปุ๋ย สำหรับพืช 

ปลูกผักบนระเบียงคอนโดฯ

ต่อมามีโอกาสได้ไปสวนคุณจอห์น นอนไร่ ที่ปากช่อง หาซื้อผักในสวนมากิน จึงคิดว่าจะปลูกกินเองที่บ้าน แต่ด้วยต้องอาศัยอยู่บนคอนโดฯ ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่คุณจอห์น บอกว่า “อยากปลูกอะไรปลูกเลยอย่างรีรอ ถ้าในพื้นที่จำกัดให้ปลูกในกระถาง ไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อม อยากทำทำเลย ปลูกอะไรก็ได้ที่เรากินและเป็นผักที่ปลูกง่ายๆ” จึงเริ่มปลูกผักที่ชอบกินและง่ายสุดคือผักเป็ด เนื่องจากตอนอยู่คอนโดฯ ได้ผูกปิ่นโตอาหารไว้รายหนึ่ง มักจะมีผักเป็ดใส่มาเพื่อแนมกับอาหารเผ็ดอยู่เสมอ จึงคุ้นชินและชอบกิน

คะน้า กระถาง
ไชเท้าก็ปลูกได้

ด้วยความเป็นคนชอบกินผักปั่น จึงพยายามหาผักอินทรีย์ที่แท้จริง เพราะผักที่กินจะเป็นผักดิบนำมาปั่น ถ้ามีสารพิษอยู่จะอันตรายมาก จึงเริ่มปลูกผักเป็ดที่ระเบียงคอนโดฯ โดยใส่กระถางพลาสติก ผักเป็ดเป็นผักปลูกง่าย เพียงตัดชำรดน้ำให้ถึง ชอบแดดรำไรจนถึงร่ม ถ้าแดดแรงใบจะเล็กลง ค่อนข้างแกร็นและใบแข็ง ปลูกและขยายผักเป็ดไปเรื่อยๆ จนมีหลายกระถาง จึงเพิ่มปลูกพริก จิงจูฉ่าย กุยช่าย กะเพรา ในกระถาง เนื่องจากผักมีน้อยจึงมีเวลาเอาใจใส่ได้ใกล้ชิด ศัตรูพืชก็ไม่มีเนื่องจากอยู่บนคอนโดฯ ชั้น 8 ลมก็ค่อนข้างดี แต่ไม่ได้ใช้น้ำหมักเพราะกลัวกลิ่นรบกวนข้างห้อง วัสดุปลูกที่ใช้เป็นดินถุงผสมกับขี้วัวถุง ขุยมะพร้าว และแกลบ นำมาหมักใส่กะละมังประมาณ 1 เดือนจึงนำมาใช้ ทำให้มีผักกินอยู่ตลอด ถึงแม้จะไม่มากมายหลายชนิดและจำนวนไม่มากก็มีความสุขกับการปลูกผักและได้กินมัน ทำเช่นนี้อยู่ประมาณ 7 ปี เมื่อลาออกจากงานก็กลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านที่รังสิต และประกอบอาชีพส่วนตัว ทำให้มีเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำงานทั้งไปและกลับ

ตะกร้าเพาะผัก
ถั่วฝักยาว ทำกับข้าวได้หลายอย่าง

จากที่ทิ้งขยะมาเป็นสวนผัก

กลับมาอยู่บ้านที่รังสิตเป็นบ้านมีบริเวณแต่ได้เทปูนไปแทบทั้งหมดทำให้ต้องปลูกในกระถาง แต่พอดีข้างบ้านเป็นที่ดินจัดสรร 75 ตารางวาไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้าง แต่มีคนเอาขยะมาทิ้งจนรกไปหมด เป็นมลภาวะทางสายตา สุดท้ายนำเอาหมาตายมาทิ้งเน่าส่งกลิ่นเหม็นจนทนไม่ไหว จึงได้พยายามติดต่อหาเจ้าของ โดยไปที่สำนักงานเขตที่ดิน แต่ก็ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเจ้าของย้ายที่อยู่ จึงได้ตัดสินใจล้อมรั้วไม่ให้คนเอาขยะมาทิ้ง และทยอยเก็บขยะไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งได้นำมาหมักปุ๋ย

ที่เก็บเครื่องมือ
บวบ จากกองไม้
บ๊อกฉ่อย

จนกระทั่งเจ้าของที่มาดูที่จึงมีโอกาสได้คุยกันได้ขออนุญาตใช้พื้นที่และอธิบายให้ฟังว่ามีคนเอาขยะมาทิ้งจนรกไปหมด เจ้าของที่ก็เต็มใจให้ใช้พื้นที่ได้เพราะจะทำให้ที่สะอาด เจ้าของที่จะขอช่วยออกค่าล้อมรั้วแต่คุณเหมียวไม่ยอมรับ ขอเพียงใช้พื้นที่ก็พอ จึงได้เริ่มทำกันอย่างจริงจัง ได้จ้างคนมานำเอาขยะและเศษวัสดุก่อสร้างออกเนื่องจากเมื่อก่อนเป็นแคมป์คนงาน ต่อมาได้ปลูกกล้วยน้ำว้าตามแนวรั้ว และเริ่มนำอิฐมาเรียงวางเป็นแปลงพร้อมกันตั้งค้างให้พืชเลื้อย เช่น มะระ บวบ ถั่วฝักยาว และฟักเขียว ในฤดูแรกที่ปลูกฟักเขียวผลดกมากเนื่องจากดินพื้นที่ทิ้งขยะ ขายฟักอย่างเดียวได้ประมาณ 2,000 บาท เนื่องจากลูกหนึ่งน้ำหนักเกือบ 10 กิโลกรัม ส่วนผักที่อยู่ในแปลง เช่น ผักปลังญี่ปุ่น กะหล่ำหัว ผักกาดขาว จิงจูฉ่าย อ่อมแซบ ดอกแค มะเขือเปราะ มะเขือจานม่วง มะเขือยาว ผักกวางตุ้ง ก็เริ่มทยอยลง ส่วนผักสลัด แคล และสวีสชาร์ดได้นำลงปลูกในกระถาง 6 นิ้วก็ได้ผลดีมาก

ปลูกแล้วจ้า
เปลือกไข่ อย่าทิ้ง 

เริ่มการแยกขยะเพื่อการหมักปุ๋ย

คุณเหมียวเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมมาก จึงกังวลกับการทิ้งขยะ ได้มีการแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ เช่น พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องน้ำอัดลมออกต่างหาก ส่วนเศษอาหารกับเปลือกผลไม้นำมาใส่ตะแกรงเพื่อหมักปุ๋ย ใบไม้ที่ร่วงในบริเวณบ้านจากต้นปีบ แคนา ตะแบก ที่มีขนาดใหญ่ ใบที่ร่วงกวาดได้วันละเข่ง นำมาหมักพร้อมกันขี้วัวที่ซื้อเตรียมไว้ โดยศึกษาจากการหมักปุ๋ยของแม่โจ้แบบไม่กลับกอง และไม่ได้ใส่จุลินทรีย์ใดๆ ลงไปแต่จะรดน้ำบ่อยๆ ให้กองปุ๋ยมีความชื้นตลอดเวลา  บางครั้งเมื่อมีกลิ่นเหม็นก็จะรดจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงหรือน้ำหมักขี้วัว เมื่อกองไหนเต็มก็จะทำกองใหม่ไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็จะเริ่มนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะนำมาเกลี่ยผึ่งลมไว้สักสองสามวัน จึงจะนำมาใช้ บางครั้งปุ๋ยที่หมักได้แล้วใช้ไม่ทันก็จะมาใส่เข่งเก็บไว้ในที่ร่ม

ผักทำมะดา
ผักในตะกร้า
ผักบนระเบียงคอนโดฯ

ผักที่คุณเหมียวนิยมนำมาปั่นคือ ผักแคล สวีสชาร์ด และจิงจูฉ่าย เป็นหลัก แต่จะใส่กล้วยน้ำว้าสุก 1 ผลในการปั่น และมีมะนาวหรือส้มจี๊ดหรือเสาวรสเป็นความเปรี้ยว และแอปเปิ้ลเป็นความหวานพร้อมกับให้กลิ่นหอม โดยทางครอบครัวจะกินน้ำผักปั่นก่อนกินข้าวเช้าเสมอ ถือว่าเป็นอาหารมื้อแรกของวัน ร่างกายจะได้ดูดซึมไปใช้อย่างเต็มที่

ผักเป็ด ปฐมบทของการปลูก
มะเขือเทศ ต้องมี 

กล่องผักสุ่ม

ผักที่ปลูกไว้จะขายกับเพื่อนในกลุ่มไลน์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในหมู่บ้านกับเพื่อนที่รู้จักส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่เพราะมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเรามีผักชนิดใดใกล้ตัดก็จะลงสื่อออนไลน์ให้ทราบจะมีคนจอง ตอนช่วงเย็นก็จะส่งในหมู่บ้านจนถึงหน้าบ้านเลย ลูกค้าบางรายก็ขับรถมาเอาเอง บางส่วนให้ส่งทางขนส่งมืออาชีพด้วยทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งลูกค้าจะได้รับภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงรับประกันความสด คำว่ากล่องสุ่มผักคือ จะมีรายการผักทั้งหมดส่งให้ผู้ซื้อว่าผักชนิดไหนไม่กินให้ตัดออก ส่วนที่เหลือถือว่ากิน แต่ก็จะไม่ได้ตามที่เหลือทั้งหมด เพราะจะเฉลี่ยๆ ไปแต่ก็จะพยายามส่งผักไปให้หลายชนิดที่สุด ผู้ซื้อจะได้ผักแต่ละชนิดมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของผักที่ตัดได้ตอนนั้น แต่จะได้น้ำหนักตามสั่งคือ 1-3 กิโลกรัมต่อถุง โดยคิดราคากิโลกรัมละ 100 บาท การผลิตผักไม่มากนักจะรู้สึกผ่อนคลาย คุณเหมียว บอกว่า เคยปลูกเยอะๆ อยู่ครั้งหนึ่งเพราะตอนนั้นมีแม่บ้านช่วยมีออร์เดอร์มาวันเดียว 20 ราย ทำให้เครียดมากเพราะต้องเร่งทำให้ลูกค้า ตั้งแต่นั้นต้องพยายามปลูกผักให้เหมาะสมกับเวลาที่มี

เริ่มทำแปลง
ลูกค้ามารับถึงบ้าน

ฝากถึงผู้อ่านที่อยากจะปลูกผักแต่ยังไม่กล้า คุณเหมียว บอกว่า “ให้เริ่มคิดจากสิ่งที่เรากินบ่อยๆ ก่อน สำคัญคนปลูกต้องเป็นคนทำกับข้าวเองบ้างในบางมื้อ และเริ่มจากผักที่ปลูกง่ายๆ เช่น ถ้าชอบผัดกะเพราควรปลูกกะเพราและพริกขี้หนู ซื้อต้นที่เขามีขายแล้วตามร้านค้า ต้นละสิบยี่สิบบาทมาเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นหน่อย วางไว้ให้โดนแดด รดน้ำทุกวัน ถ้ารอดจนกระทั่งได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารล่ะก็ค่อยๆ ขยับขยายไปเรื่อยๆ จะทำให้มีกำลังใจ ทำแบบง่ายๆ อย่าให้ยุ่งยากมากเพราะเรากลับจากที่ทำงานก็เหนื่อยพอแรงแล้ว”

สวีทชาร์ด
อาหารจากผักในสวน

เพจ ผักทำมะดา อาจเป็นเพจเล็กๆ มีพื้นที่ปลูกไม่มากแต่ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนที่ต้องการปลูกผักกินเองแต่ไม่กล้าทำ