2 นวัตกรรมรักษ์โลก

จังหวัดอุดรธานี มีปริมาณขยะวันละ 1,600 ตัน เฉพาะพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานีอย่างเดียวมีขยะวันละ 156 ตัน ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าว เป็นขยะจากโฟมถึงวันละ 200 กิโลกรัม “โฟม” ผลิตจากพอลิเมอร์ชนิด “พอลีสไตรีน” หากกำจัดขยะชนิดนี้ไม่ดีพอ เช่น นำไปเผาทำลายจะทำให้เกิด “ก๊าซสไตรีน” ที่เป็นอันตรายต่อระบบการหายใจ ทำให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี จึงเกิดแนวคิดนำขยะโฟมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเบื้องผนัง เพื่อลดปริมาณการกำจัดขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลภาวะขยะเป็นพิษ  

อาจารย์ภาคภูมิ ประทุมวัน โชว์ผลงานที่ภาคภูมิใจ

กระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิล

ทีมนักศึกษาแผนกวิชาช่างก่อสร้าง-โยธา วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ประกอบด้วย นายสันติสุข กิตติจตุรงค์ นายณัฐพล บริวรรณ นายภานุพงศ์ ศรีบุรินทร์ และ นายภาคภูมิ ประทุมวัน อาจารย์ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันคิดค้นกระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิลสำหรับอาคารพักอาศัย พร้อมเปรียบเทียบคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติเชิงกลของกระเบื้องโฟมกับกระเบื้องทั่วไป

ขั้นตอนแรก ทีมนักวิจัยได้สำรวจแหล่งขยะในพื้นที่ชุมชน รวบรวมขยะโฟมในพื้นที่ จัดเก็บทำความสะอาดโดยการล้างโฟม ขั้นตอนต่อมาคือ หลอมละลายโฟมโดยใช้วิธีการต้มด้วยน้ำมันพืช ควบคุมอุณหภูมิคงที่ 170 องศาเซลเซียส เทใส่แบบหล่อทิ้งไว้ให้เย็นตัวแล้วถอดแบบการทดสอบคุณสมบัติเชิงกลกำลังรับแรงดัดของกระเบื้อง การทดลองใช้งานจริง โดยใช้กับปูนกาวสำหรับกรุผนังและการเก็บรายละเอียดเพื่อบรรจุในกล่อง

ทีมนักวิจัยเจ้าของผลงาน กระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิล

อาจารย์ภาคภูมิ ประทุมวัน กล่าวสรุปผลการทดสอบว่า แผ่นกระเบื้องเป็นโฟมทั้งหมดไม่มีส่วนผสมอื่น ความต้านทานแรงดัดมากกว่ากระเบื้องทั่วไป ทั้งนี้ ค่าความต้านทานแรงดัดตามขวางเฉลี่ยของกระเบื้องทั่วไปมีค่าเท่ากับ 6.21 Mpa. ความต้านทานแรงดัดตามขวางเฉลี่ยของกระเบื้องโฟมมีค่าเท่ากับ 9.81 Mpa. มากกว่ากระเบื้องทั่วไป เมื่อทดสอบการยึดเกาะกับปูนพบว่า สามารถกรุผนังในงานก่อสร้างได้จริง มีศักยภาพในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมการค้าเชิงพาณิชย์ต่อไป

ผลงานชิ้นนี้ ช่วยฝึกทักษะให้นักศึกษาเกิดแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม มีส่วนช่วยเหลือชุมชนและสังคมในการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะโฟมที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ลดปัญหามลภาวะขยะเป็นพิษ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพ นวัตกรรมนี้มีศักยภาพสามารถพัฒนาสู่อุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ในอนาคต

กลางปี 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” พร้อมมอบรางวัลกิจกรรมติดดาว และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมฯ ปรากฏว่า ผลงาน “กระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิล” ของ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ได้รับรางวัล 5 ดาว ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model

ผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีเยี่ยมชมผลงาน

นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ได้นำผลงาน “กระเบื้องผนังจากขยะโฟมรีไซเคิล” เข้าร่วมแสดงใน “วันนักประดิษฐ์” และส่งผลงานเข้าประกวดโครงการ I-NEW GEN AWARD 2023 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566

หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ ติดตามชมได้ทางคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/3HXJ2H-23n0 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ภาคภูมิ ประทุมวัน เบอร์โทร. 089-278-3050 และทางอีเมล [email protected]

เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน

เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน

ด้านวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้พัฒนานวัตกรรม “เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน” ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารอบปิ้งย่างได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นเพราะไม่มีควัน ลอยติดผิวเสื้อผ้าและวัตถุดิบ ลดสารเจือปนในอาหาร ลดการปล่อยควันสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับการใช้เตาปิ้งย่างและเตาอบแบบเดิมที่มีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพไชยา ประกอบด้วย นางสาวชนาภา ไชยบรรดิษฐ์ นายกฤษฎา สังฆะสาตร นายธนพง ชมวิมาน นางสาวธิดารัตน์ สักจันทร์ และ นายนันทวุฒิ เนียมมีศรี อาจารย์ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันคิดค้น “เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน” ลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง รักษ์สิ่งแวดล้อม

นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพไชยาเจ้าของผลงาน

เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียนมีรูปทรงกระบอกโดยมีแท่งให้ความร้อนอยู่บริเวณตรงกลางโดยใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่านไม้ ควันที่เกิดจากการติดไฟ มีท่อลำเลียงไปยังถังกำจัดควัน โดยในถังกำจัดควันมีน้ำอยู่ด้านในเพื่อกำจัดควัน ก่อนปล่อยผ่านชุดโบเวอร์ดูดอากาศ และเตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน จะมีชุดกลไกในการหมุนอาหารอยู่ด้านบนเพื่อหมุนอาหารอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารไหม้  ส่วนชุดโบเวอร์และชุดกลไกหมุนอาหารจะใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เป็นไฟเลี้ยงระบบ โดยทำงานเป็น 2 ระบบ คือระบบไฟบ้าน 220 โวลต์ และพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสามารถต่อยอดสู่การค้าเชิงพาณิชย์ได้

นวัตกรรมนี้มีประโยชน์ด้านวิชาการ สามารถพัฒนาต่อยอดโดยการศึกษา วิจัยพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติ ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม สามารถพัฒนาต่อยอดโดยร่วมมือกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ประกอบเป็นเตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน สามารถถอดประกอบได้ หากทำได้ดังกล่าวจะสะดวกต่อการขนส่งไปยังจุดต่างๆ

โชว์ระบบการทำงานของเตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ชุมชนสามารถใช้เตาอบไร้ควันสร้างพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสะดวก และสามารถนำอุปกรณ์ต่างๆ มาทำใช้เองได้ง่าย ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงถ่านได้ 210 กิโลกรัมต่อเดือน คิดเป็นเงิน 4,200 บาทต่อเดือน โดยใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 4 เดือนกับ 15 วัน

ผู้สนใจ สามารถติดตามชมการทำงานของนวัตกรรมนี้ ได้ทางคลิปวิดีโอ :  https://youtu.be/8KUF-kLGbX4 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์นันทวุฒิ เนียมมีศรี เบอร์โทร. 093-598-5229 และทางอีเมล [email protected]

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เฟซบุ๊กวิทยาลัยการอาชีพไชยา และวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี