ตระหนกเพื่อปรับตัว สู่ทางรอดของเกษตรกรไทย

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน สำหรับฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตมาชวนเกษตรกรศึกษา เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำและภัยแล้งในปี 2566 กันสักหน่อย เพราะน้ำคือปัจจัยการผลิตที่สำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ถ้ามีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำขึ้นมา รับรองว่าเกิดวิกฤตการณ์ใหญ่แน่ๆ ในปี 2566 นี้ ประเทศไทยของเราได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2566 เป็นต้นมาแล้ว และสภาพอากาศได้เริ่มทวีความรุนแรงและร้อนมากขึ้นเป็นลำดับในหลายๆ พื้นที่ทั้งประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และเกือบจะทั่วทั้งประเทศ…เราสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจนถึงปัจจุบัน เราจะสามารถสัมผัสได้ด้วยตัวเราเองว่าอากาศจะเริ่มร้อนมากขึ้นและร้อนจัดในหลายพื้นที่ บางพื้นที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสมาเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะลดต่ำลง รวมทั้งพื้นที่ประเทศไทยในช่วงนี้ยังไม่มีฝนตกมาแต่ประการใด สภาพพื้นที่จึงแห้งแล้งมาก

โดยเฉพาะปีนี้ อากาศโดยเฉลี่ย หลายๆ สำนักจึงคาดการณ์กันว่าน่าจะร้อนมากที่สุดในรอบ 8 ปีเลยทีเดียว และอาจจะมีฝนตกน้อยด้วย นั่นคือสถานการณ์ภัยแล้งกำลังมาเยือนและสภาพการขาดน้ำเพื่อการชลประทานและเพาะปลูกพืชกำลังจะสร้างปัญหาใหญ่ได้ในเร็วๆ นี้ ถ้าไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ

และที่จะเป็นปัญหาซ้ำซ้อนอีกในนี้จนถึงในช่วงกลางปี 2566 อีกก็คือประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ในปีนี้ ฝนจะตกน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา แม้แต่ในฤดูฝนก็จะมีฝนตกลงมาน้อย นับเป็นสัญญาณที่สำคัญในการสื่อถึงความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำเริ่มที่จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในเร็ววันนี้ และนั่นจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระทบต่อการเพาะปลูกพืชหลักของประเทศ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย พืชผักต่างๆ รวมถึงกระทบต่อสวนผลไม้ และกระทบต่อหลายสิ่งในสังคมทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอย่างนำมากล่าวถึงผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นหลักว่าจะเกิดอะไร และต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรกันบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงในปีนี้ไปให้ดีที่สุด ดังนี้ครับ

  1. การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

1.1 เกษตรกรทุกคนจำเป็นต้องติดตามข่าวคราวของทางราชการ และสื่อต่างๆ จากหลายช่องทาง ถึงสภาวะอากาศและช่วงฝน ตลอดจนการส่งน้ำจากกรมชลประทาน ซึ่งส่วนงานและช่องทางต่างๆ ที่ควรสดับรับฟังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบและเตรียมการผลิตได้อย่างเหมาะสม

1.2 ช่องทางการติดตาม ซึ่งจะมีมากมาย เกษตรกรต้องพยายามเรียนรู้ เช่น จากเว็บไซต์ต่างๆ จากกรมอุตุนิยมวิทยา จากกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ใครสะดวกตรงไหนก็ต้องเฝ้าติดตามจากตรงนั้น เพื่อจะได้รับรู้และเตรียมการรับมือได้ทัน

1.3 การศึกษาหาข้อมูลพืชทดแทน กรณีที่เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น ข้าว พืชผักต่างๆ ก็มีความจำเป็นต้องศึกษาพืชทดแทน หากเป็นนาข้าวก็ควรศึกษาพืชระยะสั้นทดแทน ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เรียกกันว่าข้าวโพดหลังนา หรือพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่างพืชตระกูลถั่วต่างๆ เป็นต้น เพราะหากไม่เตรียมพร้อมตั้งรับและปรับเปลี่ยน อาจจะสร้างความลำบากให้เกษตรกรอย่างมากมายทีเดียว

  1. การเตรียมตัว

สำหรับการเตรียมตัวตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ก็ยังมีความพร้อมที่มีความจำเป็นที่ต้องเตรียมตัวเพิ่มเติมไว้อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

2.1 แหล่งน้ำสำรอง

2.1.1 การขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บ

เกษตรกรยุคปัจจุบันคงพอจะเข้าใจกันดีว่า แหล่งน้ำมีความสำคัญยิ่งต่อการเพาะปลูก ดังนั้น เกษตรกรยุคใหม่ทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแหล่งน้ำไว้สำรองซึ่งอาจจะสามารถสำรองได้หลายๆ รูปแบบ เช่น การขุดบ่อพักเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงขาดแคลน ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมกัน แต่ก็คงต้องเป็นเกษตรกรที่มีที่ดินมากพอที่จะขุดเป็นแหล่งกักเก็บกักน้ำไว้ เพราะต้องใช้พื้นที่มาก และในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมในการใช้แผ่นพลาสติกปูเพื่อกักน้ำให้ขังไว้ด้วย เพราะหากไม่มีแผ่นพลาสติกปูรองพื้น อาจจะเก็บน้ำไม่อยู่ เพราะน้ำอาจซึมลงใต้ดินได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว อาจจะส่งผลให้การกักเก็บน้ำสำรองไว้ไม่ได้ผล การเก็บน้ำในลักษณะขุดสระน้ำก็จะเป็นที่นิยม เพราะง่ายและเก็บน้ำได้มาก

2.1.2 การเก็บน้ำในถังน้ำขนาดใหญ่ หรือถังคอนกรีต หรือใช้แท็งก์เก็บน้ำ

การเก็บในลักษณะนี้ จะเหมาะสมกับเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย เพราะการเก็บในลักษณะใส่ภาชนะแบบนี้ จะไม่สามารถใช้ภาชนะหรือถังเก็บขนาดใหญ่มากๆ ได้ เพราะมีราคาแพงและจะไม่คุ้มค่า แต่ทว่าเกษตรกรสามารถใช้การสร้างถังซีเมนต์เพื่อเก็บไว้ได้ในลักษณะคล้ายถังน้ำประปา หรืออาจจะใช้การเก็บในถังพลาสติกแล้วเก็บไว้ในที่สูงโดยทำขาตั้งจากเสาคอนกรีตก็จะสะดวกดี ไม่เกะกะพื้น

แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บในลักษณะนี้จำเป็นต้องมีเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีการใช้เครื่องสูบโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แทนการใช้ไฟฟ้าบ้านแล้ว ซึ่งจะทำให้ประหยัดได้มากเลยทีเดียว

2.1.3 การขุดเจาะบ่อบาดาล

การสำรองน้ำโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลเป็นที่นิยมกันมาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสำรวจให้ชัดเจนก่อนว่าในผืนดินของแต่ละแปลง สามารถจะขุดเจาะได้ไหม มีแหล่งน้ำใต้ดินเพียงพอต่อการลงทุนหรือไม่ เพราะถ้าไม่สำรวจก่อน อาจจะขุดเจาะไปแล้วไม่พบน้ำใต้ดิน ก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะแหล่งน้ำบาดาลไม่ได้มีอยู่ทุกแห่งในผืนดินเสมอไป และบางแห่งอาจจะมีแหล่งน้ำ แต่ต้องขุดเจาะลงไปที่ผิวดินลึกเกินไปก็จะไม่คุ้มค่าอีกเช่นกัน ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ

2.2 ระบบน้ำ

นอกจากแหล่งน้ำแล้ว การใช้ระบบน้ำก็มีความสำคัญมากๆ ซึ่งการใช้ระบบน้ำที่เหมาะสมจะช่วยลดการสูญเสียและการสิ้นเปลืองน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบน้ำดังกล่าวคือตัวเชื่อมระหว่างแหล่งน้ำตามข้อ 2.1 นำน้ำไปสู่แปลงเกษตรและแปลงเพาะปลูก หรือสถานที่ให้น้ำแก่ปศุสัตว์ด้วย ซึ่งระบบน้ำที่เตรียมใช้นี้ก็มีหลายแบบ แต่ที่เป็นที่นิยม มีดังนี้

2.2.1 ระบบน้ำหยด

ระบบน้ำหยด เป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำที่นิยมกันมากเลยทีเดียว มีราคามาตรฐาน ใช้ได้หลายปี คุ้มค่า และสามารถใช้ได้ทั้งพื้นที่ขนาดเล็กอย่างพืชผัก ไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างสวนผลไม้ แปลงไร่อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งระบบน้ำหยดนี้จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้งได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์หาซื้อได้ทั่วไปและติดตั้งได้ง่าย ตลอดจนสามารถจะใส่ปุ๋ยน้ำร่วมไปกับการให้น้ำได้อีกด้วย จึงนับว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียวสำหรับเกษตรกรมืออาชีพสมัยนี้

2.2.2 สายยาง หรือท่อพีวีซี

สายยาง หรือท่อพีวีซี เป็นอุปกรณ์อย่างง่าย คล้ายๆ กับการต่อระบบท่อประปา เป็นการลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำกักเก็บ เช่น สระน้ำ ถังสูง หรือบ่อบาดาลก็ใช้ได้ทั้งหมด เหมาะสำหรับต่อเป็นท่อส่งน้ำไปได้ระยะทางไกล กรณีปลูกพืชหลายอย่างในแปลงเดียวกัน จะมีความเหมาะสมมากๆ ถ้าพืชในแปลงใดต้องการน้ำก็ต่อสายยางหรือท่อพีวีซีไปถึงแปลงนั้นได้เลย ซึ่งหากเป็นพืชทั่วไปก็สามารถต่อปลายสายด้วยหัวสปริงเกลอร์ได้อีกด้วย นับว่ามีความสะดวกและลดการสูญเสีย รวมทั้งประหยัดน้ำได้อย่างดีเลยทีเดียว

2.2.3 คูน้ำคอนกรีต

สำหรับการใช้คูน้ำคอนกรีต อาจจะนิยมใช้กับการลำเลียงน้ำในระบบชลประทานเข้าสู่ไร่นา โดยเฉพาะชาวนาในประเทศญี่ปุ่นนิยมลำเลียงน้ำในลักษณะคูน้ำคอนกรีตเช่นว่านี้มานานมากแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม อาจจะไม่สะดวกหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำอย่างอื่นในโอกาสต่อไป แต่ถ้าเป็นผืนนาขนาดใหญ่ก็น่าสนใจมากๆ เพราะจะลดการสูญเสียน้ำระหว่างทางได้ดีมากๆ ถ้าเทียบกับคูน้ำที่เป็นดินธรรมดาอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าถ้าสถานการณ์น้ำขาดแคลนไปเป็นระยะเวลาหลายๆ ปี อาจจะมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน

  1. การเริ่มเพาะปลูกฤดูใหม่

กรณีในปี พ.ศ. 2566 นี้ เราได้ทราบมาแล้วจากข้อมูลที่เชื่อถือได้จากทางราชการ และจากสถาบันวิจัยต่างๆ ได้พยากรณ์แล้วว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปกติด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย เราจึงต้องมาคิดวางแผนกันให้เป็นขั้นเป็นตอนในการเพาะปลูกรอบใหม่กันครับ

3.1 การเร่งเพาะปลูก

การเร่งเพาะปลูกอาจจะมีความจำเป็นในกรณีที่มีข้อมูลพยากรณ์ว่าฝนจะทิ้งช่วงในช่วงกลางและปลายปี ถ้าต้นปีพอจะมีน้ำเพาะปลูกก็ควรจะเริ่มปลูกให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะพืชทนแล้ง เช่น มันสำปะหลัง ถ้าในช่วงเริ่มปลูกมีน้ำ และเมื่อปลูกไปสักระยะหนึ่ง ต้นมันสำปะหลังเริ่มเติบโตแล้ว แม้น้ำจะน้อย แต่ก็สามารถเติบโตได้ต่อไป แต่ถ้าเกษตรกรชะล่าใจไม่รีบเพาะปลูก แล้วเวลาผ่านเลยไปถึงช่วงฝนแล้งก็จะไม่สามารถเพาะปลูกได้ หากไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำรองไว้อย่างเพียงพอ ดังนั้น การเริ่มเพาะปลูกเร็วขึ้นอาจจะจำเป็นในลักษณะนี้ครับ

3.2 การชะลอการเพาะปลูก

สำหรับการชะลอการเพาะปลูกออกไป ก็จะเป็นเรื่องที่จำเป็นถ้าสถานการณ์ฝนและน้ำตรงข้ามกับข้อ 3.2 นั่นคือ ฤดูฝนมาช้ากว่าปกติ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนพันธุ์พืชบ้างเลยแหละถ้าเป็นข้าว อาจจะต้องเปลี่ยนข้าวอายุยาว 120 วัน เป็นข้าวประเภทอายุสั้น 95-105 วัน เป็นต้น เพื่อลดเวลาการปลูกเอาตัวรอดกันไปก่อนให้ได้ในฤดูนี้ แล้วไปวางแผนให้ดีในฤดูถัดไปกันอีกครั้ง หรือบางกรณีถ้าฤดูฝนมาล่าช้าอาจจะต้องเปลี่ยนพืชที่จะเพาะปลูกก็อาจจะจำเป็น เช่น ถ้าปลูกข้าว น้ำคงไม่พอ ก็อาจจะต้องปลูกพืชตระกูลถั่วทดแทนเพื่อเอาตัวรอดกันไปก่อนครับ

3.3 การเปลี่ยนพืชหรือประเภทที่จะเพาะปลูกหรือทำเกษตรในฤดูน้ำน้อย

การเปลี่ยนพืชที่จะเพาะปลูกอาจจะยกตัวอย่างมาบ้างแล้วในตอนท้ายข้อ 3.2 แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะบางครั้งอาจจะถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่อาจจะต้องใช้น้ำมากๆ อย่างการปลูกข้าว ข้าวโพด หรืออื่นๆ มาเป็นการปลูกผักที่มีมูลค่าสูง แต่ใช้พื้นที่น้อย เพราะหากปีใดเกิดภัยแล้ง ผักมักมีราคาแพง ตัวอย่างเช่น เกษตรกรเคยทำนา 20 ไร่ ถ้าฝนแล้งและสถานการณ์รุนแรงมาก น้ำไม่มีเพียงพอจะปลูกข้าวได้ 20 ไร่แน่นอน ก็อาจจะเปลี่ยนมาปลูกผักสัก 1-2 ไร่ เช่น ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาวปลี เป็นต้น และถ้ามีแหล่งน้ำกักเก็บไว้ตามที่กล่าวแนะนำมาแล้วนั้น มูลค่าผักที่ปลูกเพียง 1-2 ไร่อาจจะได้เงินพอๆ กับการปลูกข้าว 20 ไร่ก็อาจจะเป็นได้ครับ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่ได้นำเสนอเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตภัยแล้วในปี 2566 นี้ ไปให้ได้ เพื่อสร้างทางเลือกบนทางรอดของเกษตรกรไทย ให้พ้นช่วงเวลาดังกล่าวนี้ไปให้ได้ และทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจุดประกายให้เกษตรกรรายย่อยได้ตระหนักเพื่อการปรับตัวกันไว้แต่เนิ่นๆ แต่ความจริงแล้วตัวเกษตรกรส่วนหนึ่งคงคิดเตรียมการล่วงหน้าไว้บ้างแล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่าถ้าช่วยกันจุดประกายให้เกษตรกรทุกคนตื่นตัว เตรียมการไว้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ไปสู่ทางรอดของเกษตรกรของเราได้ครับ

ด้วยความห่วงใย ขอขอบคุณครับ