วิมานมะพร้าว

เมื่อนึกถึงต้นมะพร้าวถ้าเป็นภาคใต้เราต้องนึกถึงเกาะสมุยเพราะเกาะสมุยมะพร้าวเยอะมาก ต่อมาเกาะสมุยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มะพร้าวกลายเป็นวัชพืชสำหรับที่เกาะไป ต้นมะพร้าวถูกตัดทิ้งไปเอาสวนมะพร้าวมาทำโรงแรม รีสอร์ต และราคาที่ดินมีราคาสูงไร่ละสิบล้าน การปลูกมะพร้าวเป็นเรื่องน่าขำ แต่แถบประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรก็เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวในภาคใต้ ทั้งหมดนี้เราหมายถึงมะพร้าวแกง

มะพร้าวอายุ 20 ปี

ส่วนในเรื่องมะพร้าวอ่อนเราต้องนึกถึงสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวอ่อนในภาคกลาง ส่วนในภาคเหนือและภาคอีสาน การปลูกมะพร้าวอ่อนน้อยมาก อาจเป็นเพราะมะพร้าวต้องการน้ำมาก ทางภาคเหนือและอีสานมีฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนานกว่าภาคอื่น จึงไม่ค่อยเหมาะกับการปลูกมะพร้าวอ่อน

ลุงอินทร์

ถ้าเราคิดว่าจะปลูกมะพร้าวอ่อนทางภาคเหนือ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้เลย แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกครอบครัวหนึ่งที่บุกเบิกการปลูกมะพร้าวอ่อนจนมีชื่อเสียง คือสวนลุงอินทร์ ดำเนินงานโดย คุณจุลรัฐ และ คุณสิดาพร สมคะเน หรือ พี่ดำ และ พี่อ้อน จากสวนลุงอินทร์ แห่งหมู่บ้านป่าตาลเหนือ ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย จากความคิดที่ว่าข้าวและลำไยที่ปลูกในพื้นที่สวน เราไม่สามารถกำหนดราคาได้ และราคาก็ตกต่ำมาตลอด จึงคิดที่จะทดลองปลูกพืชอย่างอื่นบ้าง

มะพร้าวต้นพันธุ์

คุณดำซึ่งมีพื้นเพเป็นคนอำเภอดำเนินสะดวก มีความคิดถึงมะพร้าวน้ำหอมซึ่งปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในดำเนินสะดวก จึงคุยกับคุณอ้อนตกลงกันว่าจะทดลองปลูกมะพร้าวในแปลงที่ทำนาโดยปรับพื้นที่ขึ้นมา 3 ไร่ ยกร่องเหมือนกันภาคกลาง ซึ่งปรากฏว่าในช่วงฤดูแล้งน้ำในร่องจะแห้งหมด ส่วนต้นพันธุ์คุณดำนำพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมมาจากดำเนินสะดวก

เป็นวิทยากร
ผลิตภัณฑ์

ต้องคิดนอกกรอบ

หลังจากปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้ 4 ปี ต้นก็เริ่มให้ผลผลิต แต่ไม่ค่อยหอมเพราะสภาพพื้นที่ภาคเหนือเป็นดินร่วนปนทราย จึงปรับสภาพดินโดยการโรยเกลือ เนื่องจากมะพร้าวชอบน้ำกร่อยจึงจะทำให้น้ำมะพร้าวมีรสชาติหอมหวาน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนหลังจากใส่เกลือ น้ำมะพร้าวเริ่มมีรสชาติดีขึ้น โดยต่อมามีการใส่เกลือ 1 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ทุก 3 เดือน 1 ปีจะใส่เกลือ 4 ครั้ง พอต้นมีขนาดใหญ่จากการโรยเกลือที่โคนเปลี่ยนมาเป็นใส่ในร่องน้ำแทน

ต่อมาเมื่อเห็นว่าผลผลิตดีและตลาดตอบรับได้ก็ได้ขยายการปลูกมะพร้าวมาอีก 4 ไร่ซึ่งสวนนี้ในหน้าแล้งจะมีน้ำขัง พื้นที่ปลูกมะพร้าวจึงรวมเป็น 7 ไร่ ส่วนอีก 2 ไร่เป็นนาข้าว อีก 3 ไร่ จะปลูกลำไย กล้วย มะนาว หม่อน รวมพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 12 ไร่ ส่วนมะพร้าวมีทั้งหมด 500 กว่าต้น สวนมะพร้าวที่ปลูกครั้งแรกปัจจุบันมีอายุ 20 ปีแล้ว ส่วนสวนใหม่เพิ่งเริ่มมีผลผลิต เมื่อสวนใหม่ให้ผลผลิตเต็มที่ก็จะค่อยๆ ปลูกแซมสวนเก่าพอต้นใหม่เริ่มให้ผลผลิตก็จะตัดต้นเก่าทิ้ง

ข้าวหลามมะพร้าว
น้ำมะพร้าวสกัดเย็น

ผลผลิตของเกษตรกรก็เหมือนทั่วไปเมื่อของมีจำนวนมากขึ้นนำไปขายพ่อค้าคนกลางที่จังหวัดเชียงรายนานๆ ไปเริ่มกดราคา ตอนแรกให้ลูกละ 10 บาท ต่อมากดราคาเหลือลูกละ 5-7 บาท ทำให้พี่อ้อนคิดที่จะแก้ปัญหาโดยการแปรรูปมะพร้าว ด้วยความที่พี่อ้อนเป็นคนชอบทำอาหาร จึงแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวบรรจุขวดขาย และทำวุ้นมะพร้าวเพิ่มเติมมาภายหลัง มะพร้าวแปรรูปได้นำไปขายตามตลาดนัดชุมชนแถวขุนตาลและขยายไปอำเภอพญาเม็งรายก็ได้การตอบรับที่ดี อีกจุดประสงค์หนึ่งที่พี่อ้อนทำมะพร้าวแปรรูปเพื่อขายปลีกในตลาดชุมชนเพื่อต้องการพบปะกับลูกค้า และบอกกล่าวถึงเรื่องราวการปลูกมะพร้าวที่ขุนตาล คนก็จะตามมาที่สวน เกิดคิดเอาไปขยายต่อก็ขายให้เขาในราคาส่ง และมีการขายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมด้วย ทำให้ตอนนี้มีลูกสวนหลายสิบรายแล้ว เกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้ไปลงทะเบียนไว้ที่เกษตรอำเภอแล้วจึงเป็นเครือข่ายผู้ปลูกมะพร้าวเฉพาะในอำเภอขุนตาล มีหน่วยงานราชการคือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และเทศบางตำบลป่าตาล เข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆ

เมื่อปี พ.ศ. 2562 ลูกสวนเริ่มได้ผลผลิต เฉพาะในอำเภอขุนตาลมีผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ลงทะเบียนกับเกษตรอำเภอรวมร้อยกว่าไร่แต่ยังไม่ได้ให้ผลผลิตทั้งหมด พี่อ้อนคิดว่าที่บ้านคู่มีลำไยเป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ที่นางแลมีสับปะรด ส่วนที่เวียงแก่นมีส้มโอ เพราะฉะนั้นมะพร้าวน้ำหอมจะมาโด่งดังที่ขุนตาลก็เป็นเรื่องไม่ยาก จากความรู้ที่ได้จากแหล่งต่างๆ ที่เกิดจากการศึกษาดูงาน และบุคคลที่เข้ามาเที่ยวสวนได้แนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างที่ทำจากมะพร้าวทำให้เพิ่มสินค้าได้อีกหลายอย่าง เช่น มะพร้าวแก้ว น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ข้าวหลามมะพร้าว ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลไม้ตามฤดูบ้านป่าตาลเหนือ รายได้ต่อเดือนในการขายพันธุ์มะพร้าวประมาณเดือนละ 10,000 บาท ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวทั้งหมดมีรายได้เดือนละประมาณ 35,000 บาท

น้ำพริก
บรรจุภัณฑ์สวยงาม

วิธีทำมะพร้าวแก้ว

มะพร้าวน้ำหอมที่นำมาทำมะพร้าวแก้วจะต้องใช้มะพร้าวเนื้อสองชั้น เมื่อทุบกะลาเป็นสองซีกก็แคะเนื้อมะพร้าวออกจากกะลาโดยใช้ช้อน ใช้เนื้อมะพร้าวประมาณ 3 กิโลกรัม หั่นเป็นชิ้นหนาๆ ประมาณครึ่งเซ็นต์ จะใช้น้ำตาลทรายจาว 1 กิโลกรัม น้ำมะพร้าวครึ่งกิโลกรัม ละลายน้ำตาลแล้วนำมาเคี่ยวไฟให้เป็นยางมะตูม แล้วนำเนื้อมะพร้าวที่หั่นเป็นเส้นๆ ใส่ลงไป ผัดให้น้ำตาลรัดเนื้อมะพร้าวจนน้ำตาลตกผลึกเป็นทรายเกาะเนื้อมะพร้าว การทำมะพร้าวแก้วต้องใช้ไฟกลางและต้องคนอยู่ตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ก็ใช้ได้

เมื่อเสร็จเรียบร้อยดีแล้วเอามาผึ่งไว้ให้แห้ง แล้วตากสักหนึ่งแดด ส่วนในหน้าฝนจะใช้การอบของหม้ออบลมร้อนเพื่อดึงความชื้น ยืดอายุของเนื้อมะพร้าว เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการก็นำมาแพ็ก จำหน่ายในราคาถุงล 35 บาท 3 ถุง 100 บาท ข้าวหลามมะพร้าวก็เป็นผลผลิตอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมของลูกค้า จำหน่ายในราคาลูกละ 40 บาท ในตลาดนัดชุมชนจำหน่ายครั้งละประมาณ 100 ลูก ส่วนในงานประจำปีพ่อขุนเม็งรายจำหน่ายได้วันละ 250-300 ลูก

มะพร้าวแก้ว

หน่วยงานราชการประจำท้องถิ่นคือสำนักงานเกษตรอำเภอป่าตาล โดย ท่านเกษตรอำเภอ คุณรุติวสันต์ ส่างสวัสดิ์ ได้ให้ความช่วยเหลือสวนลุงอินทร์ด้วยการสนับสนุนทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการดูแลสวนมะพร้าวและการเก็บเกี่ยวผลผลิต การป้องกันโรคและแมลงในสวนมะพร้าว พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปมะพร้าวด้วยเงินงบประมาณ 35,000 บาท อีกทั้งยังสนับสนุนการแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมในอนาคตเพื่อป้องกันราคาตกต่ำของมะพร้าวอีกด้วย

จากการคิดนอกกรอบซึ่งไม่มีใครคิดถึงว่ามะพร้าวน้ำหอมซึ่งเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคกลางก็สามารถปลูกในพื้นที่ภาคเหนือได้ แต่พี่อ้อนก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาได้ จนปัจจุบันสวนลุงอินทร์กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกมะพร้าวแบบครบวงจรของอำเภอขุนตาลโดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นพี่เลี้ยง และยังประกาศได้ว่าจังหวัดเชียงรายไม่จำเป็นต้องซื้อมะพร้าวน้ำหอมจากนอกพื้นที่อีกต่อไป ซึ่งในอนาคตสวนลุงอินทร์จะเป็นแหล่งส่งออกมะพร้าวน้ำหอมทั่วภาคเหนือได้อีกด้วย และสวนจะได้เปรียบในการแข่งขันโดยเฉพาะด้านขนส่งเนื่องจากการขนส่งเป็นทางระยะใกล้

นาข้าวข้างสวน
หมูหลุมที่ต้องการมูลมาใช้ในสวน

สนใจติดต่อศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับมะพร้าวน้ำหอมทางภาคเหนือ และซื้อต้นพันธุ์ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวได้ที่สวนลุงอินทร์ อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย หรือพี่อ้อนและพี่ดำได้ที่เพจ สวนวิมานมะพร้าวน้ำหอมลุงอินทร์

ผังในสวน
ครอบครัวพี่อ้อม
กำลังทำผลิตภัณฑ์
มะพร้าวดกเต็มคอ
มะพร้าวต้นเตี้ย
นายรุติวสันต์ ส่างสวัสดิ์ เกษตรอำเภอ