ปลูกอ้อยอินทรีย์คั้นน้ำ ดูแลด้วยปุ๋ยขี้ไก่แกลบ ผลผลิตดี น้ำเยอะ ฟันรายได้หลักพันต่อวัน

คุณชัยวิชท์ ทาสีดำ หรือ โย และ คุณทิพยาภรณ์ สอนประเทศ หรือ ดา สองสามีภรรยาชาวหนองบัวลำภู อดีตพนักงานประจำ ลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยสุพรรณบุรี 50 คั้นน้ำขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัววันละ 3,000-5,000 บาท

คุณชัยวิชท์ ทาสีดำ หรือ โย และ คุณทิพยาภรณ์ สอนประเทศ หรือ ดา

คุณดา เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการประกอบอาชีพคั้นน้ำอ้อยขาย เกิดจากที่สามีของตนเองคือคุณโย เคยทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมโรงงานน้ำตาลมาก่อนเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี เห็นการใช้สารเคมีในอ้อยค่อนข้างเยอะทำให้เกิดแรงจูงใจอยากทำเกษตรแบบปลอดสาร และอีกเหตุผลคืออยากที่จะมีทางเลือกมีช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่สามารกำหนดราคาขายเองได้ ทั้งๆ ที่เป็นคนปลูกเอง จึงกลับมาคิดทบทวนว่าจะทำอย่างไรที่เมื่อปลูกอ้อยแล้วไม่ต้องเอาไปส่งให้กับโรงงานเพียงอย่างเดียว โดยที่คุณภาพและราคาเป็นคนกำหนดเอง

ขั้นตอนคัดเอาลำอ้อยไปคั้นน้ำ
ทำความสะอาดใบอ้อยที่แห้งแล้ว เพื่อไม่ให้ศัตรูมีที่หลบซ่อน 

อุปสรรคช่วงเริ่มต้นมีมากมาย ผ่านมาได้เพราะความตั้งใจ

หลังจากที่ตัดสินใจจะเลิกส่งอ้อยให้กับโรงงาน คุณดา เล่าให้ฟังว่า ตนเองและสามีเริ่มจากการช่วยกันศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก่อนว่าอ้อยที่ปลูกนอกจากส่งโรงงานแล้วสามารถนำมาทำอะไรได้อีก จนได้ค้นพบว่าสามารถเอามาทำอ้อยก้อนได้ ก็ไม่รอช้าที่จะลงมือทำ และมาประจวบเหมาะกับช่วงที่ตนเองลาออกจากงานประจำ ก็พอจะมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง จึงได้นำเงินส่วนนี้มาลงทุนซื้อเครื่องคั้นน้ำอ้อยเข้ามา เพื่อที่จะนำมาคั้นอ้อยที่ปลูกเองแบบไม่พึ่งสารเคมีไว้ขาย แต่ด้วยข้อจำกัดของสายพันธุ์อ้อยที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกส่งโรงงาน ทำให้มีรสชาติค่อนข้างหวานเกินไป และสีของน้ำเมื่อคั้นออกมาแล้วสีไม่สวย ลำก็ค่อนข้างแข็ง ไม่เหมาะกับการนำมาคั้นน้ำอ้อย

อ้อยอายุประมาณ 5-7 เดือน สำหรับทำท่อนพันธุ์

ดังนั้น เมื่อสิ่งที่คิดและลงมือทำอย่างแรกไม่สำเร็จ แผนการที่สองจึงผุดขึ้นมาคือการทำเป็นไซรัปอ้อย ซึ่งในขั้นตอนการทำถือว่าสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ว่าติดปัญหาที่ยอดขาย คือขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร รายได้ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ปัญหานี้จึงได้กลายเป็นการบ้านให้เราสองสามีภรรยาได้กลับมาคิดต่อว่า “ในเมื่อเราลงทุนซื้อเครื่องคั้นน้ำอ้อยมาแล้ว จะปล่อยทิ้งไว้ก็เปล่าประโยชน์ ก็เลยตัดสินใจไปหาซื้ออ้อยสายพันธุ์ที่เหมาะกับการคั้นน้ำจากคนในชุมชนมาทดลองคั้นน้ำ และก็ไปได้อ้อยจากสวนผู้เฒ่าผู้แก่ที่ปลูกแซมไว้ในสวนที่บ้านที่ปลูกแบบอินทรีย์ เพราะเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้สารเคมีเป็นพิเศษ ก็ได้อ้อยสุพรรณบุรี 50 ที่ขึ้นชื่อเรื่องคั้นน้ำอยู่แล้ว คือทั้งสีและรสชาติที่กลมกล่อม ทุกอย่างลงตัว ขายดีมาก จึงได้มีการขยับขยายนำต้นพันธุ์มาปลูกเองด้วย เริ่มจากพื้นที่ 1 งาน เป็น 2 งาน เป็น 3 งาน จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำทั้งหมด 4 ไร่ และได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP แล้วเป็นที่เรียบร้อย”

อ้อยที่ตัดมาสำหรับขูดเปลือกเตรียมคั้นน้ำ 

ปลูกอ้อยอินทรีย์ไม่ยากอย่างที่คิด ดูแลด้วยปุ๋ยหมักขี้ไก่แกลบ
ต้นทุนต่ำ อ้อยหวานเจี๊ยบ มีรางวัลการันตี

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบันคุณดามีพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์คั้นน้ำขายเองทั้งหมด 4 ไร่ โดยสายพันธุ์ที่คุณดาและสามีเลือกปลูกหลักๆ คือ อ้อยสุพรรณบุรี 50 หรือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การปลูกทั้งหมด ส่วนพื้นที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการนำสายพันธุ์อื่นๆ มาทดลองปลูกตามที่หลายคนบอกว่าดี ไม่ว่าจะเป็นอ้อยสายน้ำผึ้งจากภาคใต้ หรืออ้อยสิงคโปร์ ที่นี่ก็นำมาปลูกไว้เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตว่าสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถปลูกในพื้นที่ได้หรือไม่ และก็ได้ข้อสรุปว่าสามารถปลูกได้แต่ในแง่ของผลผลิตยังดีไม่เท่ากับสุพรรณบุรี 50 จึงเลือกปลูกสุพรรณบุรี 50 เป็นหลัก และมีรางวัลชนะเลิศการันตีด้วย

ขั้นตอนการขูดเปลือกอ้อย
ขูดเปลือกเสร็จเรียบร้อย เตรียมคั้นน้ำได้เลย

“เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางไร่สวนเพียงพอของเราได้ส่งน้ำอ้อยคั้นน้ำเข้าประกวด ผลปรากฏว่าน้ำอ้อยคั้นน้ำของเราก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดน้ำอ้อย ชื่อผลิตภัณฑ์ “ไร่สวนเพียงพอ เกษตรเพื่อสุขภาพคุณค่าที่คุณคู่ควร” ในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

ขั้นตอนการคั้นน้ำอ้อย สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
น้ำอ้อยคั้นสด จำหน่ายราคาเป็นกันเอง 

วิธีการปลูกอ้อยคั้นน้ำ

คุณดา อธิบายถึงขั้นตอนการปลูกว่า อันดับแรกที่สวนจะทำการหมักปุ๋ยขี้ไก่แกลบผสมกับรำละเอียด จนในกองปุ๋ยไม่เกิดความร้อนจึงค่อยนำมาใช้

น้ำอ้อยคั้นสดใส่แก้วพร้อมน้ำแข็ง

ขั้นตอนการเตรียมดิน ทำการไถดินยกร่องปลูกระยะห่างระหว่างท่อนพันธุ์ที่ปลูก 150 เซนติเมตร วางท่อนพันธุ์ลงแปลงปลูก โรยด้วยปุ๋ยขี้ไก่แกลบที่หมักไว้แล้ว จากนั้นใช้ดินกลบแล้วรดน้ำตาม

อะโวกาโดน้ำอ้อยนมสดปั่น เมนูขายดีของร้าน
อะโวกาโดน้ำมะพร้าวนมสดปั่น รสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นมะพร้าว

การรดน้ำ ช่วงที่เริ่มต้นปลูกที่สวนจะอาศัยธรรมชาติช่วยดูแล คือเน้นปลูกในช่วงหน้าฝนเพื่ออาศัยน้ำฝนในการดูแล จนมาถึงปัจจุบันที่สวนจะใช้วิธีการเจาะน้ำบาดาลจากที่สูงแล้วปล่อยเป็นน้ำหยดลงมาตามร่อง โดยอัตราการให้น้ำ ให้สังเกตจากอากาศเป็นหลัก หากเป็นช่วงหน้าฝนก็งดให้น้ำ ถ้าเป็นหน้าแล้งก็จะให้น้ำถี่ขึ้นมาหน่อย แต่ไม่จำเป็นต้องให้น้ำทุกวัน

น้ำอ้อยกาแฟสด อีกหนึ่งเมนูที่ภูมิใจนำเสนอ

การบำรุงใส่ปุ๋ย หลังจากการตัดอ้อยจะบำรุงด้วยปุ๋ยขี้ไก่แกลบที่หมักไว้ เพื่อบำรุงผลผลิตในรอบถัดไป ปริมาณการใส่ปุ๋ยปริมาณไร่ละ 25 กระสอบ พร้อมกับกำจัดวัชพืชโดยการตัดหญ้าใช้วิธีการถอนรอบๆ โคนต้น ส่วนระหว่างร่องจะใช้เครื่องตัดหญ้า และให้หญ้าที่ตัดย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และจะนำชานอ้อยที่เหลือจากการคั้นน้ำนำกลับมาทาทำปุ๋ยหมัก และดินเพาะปลูก ได้ผลผลิตเป็นที่พึงพอใจปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ได้ประมาณ 4-5 ตัน

ไซรัปอ้อย 

วิธีการคั้นน้ำอ้อยให้หวาน

1. ให้เลือกลำอ้อยที่มีลำต้นสีเหลือง ไม่ติดสีเขียว คือลักษณะที่พร้อมนำมาคั้นน้ำ “ในช่วงแรกก็ยังดูไม่เป็นว่าอ้อยแบบไหนที่พร้อมนำมาคั้นน้ำ จนมาทุกวันนี้เราทำจนชำนาญเราก็เลือกอ้อยที่พร้อม ก็คือลำที่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้แล้ว ตรงปลายจะมีตาถี่ ข้อจะไม่ยืด หรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีก นี่คืออ้อยที่พร้อมคั้นน้ำแล้ว”

2. เมื่อได้อ้อยที่พร้อมคั้นน้ำแล้ว จากนั้นให้นำลำอ้อยมาขูดด้วยใบมีด ลักษณะเป็นกระบอกขูดมี 4 ใบมีดประกบกัน เพื่อขูดเอาตาและเปลือกออก ขูดจนลำอ้อยขาวสะอาด

3. นำออยที่ขูดเปลือกแล้วตัดส่วนหัวและปลายออก เข้าเครื่องคั้นน้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้น (แนะนำว่าควรจะผ่าครึ่งลำเพื่อดูว่าอ้อยไม่มีแมลงหรือสิ่งอื่นที่จะส่งผลต่อรสชาติ ความสะอาดของน้ำอ้อย และเพื่อเป็นการถนอมอายุการใช้งานเครื่องคั้นอ้อยได้ด้วย)

4. กรอกน้ำอ้อยใส่ขวด 1.5 ลิตร เพื่อน็อกน้ำแข็ง

เข้ามาแวะอุดหนุนน้ำอ้อยคั้นสดที่ร้านไร่สวนเพียงพอ ได้ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู

ปัจจุบันที่สวนจะใช้อ้อยประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อวัน ในการคั้นน้ำขาย โดยมีหลากหลายผลิตภัณฑ์จากน้ำอ้อยด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีน้ำอ้อยคั้นสดขาย ที่ร้านทำมีทั้งแบบบรรจุใส่ขวด และแบบใส่แก้วพร้อมน้ำแข็ง แล้วแต่ลูกค้าต้องการแบบไหน แต่ด้วยกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทางร้านจึงพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่เสมอ

ลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย

“ในเมื่ออ้อยคั้นน้ำอาจจะขายได้ไม่ดีเท่าเดิม บวกกับกระแสรักสุขภาพที่กำลังมา เราจึงปิ๊งไอเดียนำเอาอะโวกาโดผลไม้ที่มีประโยชน์มากมายแต่คนแถวนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยนิยมกิน เราก็ได้นำเอาอะโวกาโดมาปั่นใส่กับน้ำอ้อยคั้นสด แทนการใช้น้ำเชื่อม จากคนที่ไม่ชอบกินอะโวกาโดก็กลายเป็นติดใจ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ร้านอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ใครอยากกินก็ต้องมาซื้อที่ร้านเราที่เดียว ทำให้ปัจจุบันเมนู อะโวกาโดปั่นน้ำอ้อยของเราได้กลายเป็นเมนูยอดฮิต ขายดีที่สุดของร้าน ซึ่งนอกจากนี้ทางไร่ได้นำเมล็ดอะโวกาโดที่เหลือจากการปั่นมาเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อใช้ในการเสียบยอดขยายพันธุ์ สำหรับใช้ปลูกในสวนตัวเองและจำหน่าย และยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ทางร้านก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาเมนูอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเมนูน้ำอ้อยกาแฟสด เพราะว่าทุกวันนี้คนดื่มกาแฟอยู่แล้ว รวมถึงไปถึงการคั้นน้ำอ้อยสดส่งให้กับลูกค้าร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ที่นำไปต่อยอดรังสรรค์เป็นเมนูอื่นๆ จากน้ำอ้อยเพิ่มเติม ก็ถือเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกทาง ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถสร้างรายได้จากการขายน้ำอ้อยได้วันละ 3,000-5,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย แต่เมื่อหักแล้วก็ยังเหลือกำไรให้ชื่นใจสามารถเลี้ยงครอบครัวได้สบาย หากใครที่อยากชิมน้ำอ้อยคั้นสดจากร้านเรา ตอนนี้ขายประจำอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู แวะไปอุดหนุนกันได้”

หูหิ้วทำจากวัสดุธรรมชาติ ลดการใช้พลาสติก ลดโลกร้อน 

ภูมิใจกับอาชีพเกษตร ทำได้ ขายเป็น ไม่อายใคร

พี่กล้าบอกเลยว่าพี่ภูมิใจมากที่พี่ได้เป็นทั้งเกษตรกรและได้เป็นทั้งแม่ค้า และยอมรับว่าการเป็นเกษตรกรพี่อาจจะไม่เก่ง แต่พี่ชอบการขาย จะให้ไปทำเกษตรอย่างเดียวเหมือนแม่กับพ่ออย่างเมื่อก่อนเราบอกเลยว่าเราคงไม่รอด แต่พี่จะเป็นคนที่เห็นช่องทางการตลาดมากกว่าว่าทำยังไง เรามีน้อยเราจะทำให้ได้มาก ก็เลยภูมิใจที่ว่าสามารถทำการเกษตรให้เลี้ยงชีพตัวเองและคนในครอบครัวได้ และอีกเหตุผลที่ภูมิใจก็คือเราได้ทำของดีมีประโยชน์ให้ลูกค้าได้กิน ก็เหมือนเราได้ทำบุญ ได้แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ลูกค้าไปด้วย อันนี้พี่ค่อนข้างที่จะภูมิใจในตัวเอง และคุ้มค่ากับเงินของลูกค้าที่เขาเสียมาให้เรา” พี่ดา กล่าวทิ้งท้าย

รางวัลชนะเลิศ การประกวดน้ำอ้อย ในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 080-771-1689 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : มะลิ หลิน