กลุ่มธุรกิจ TCP สานต่อพันธกิจจัดการน้ำทุกมิติ ปลุกพลังเศรษฐกิจ นำร่องชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน”

กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ริเริ่มโครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย มุ่งเน้นพันธกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครบทุกมิติ ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เพื่อสร้างความยั่งยืนและผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือเป็นองค์กร Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คุณอาจรีย์ สุวรรณกูล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า สำหรับโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเติมเต็มการทำงานให้ครบทุกมิติ โดยภาครัฐจะดูแลการเติมน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คูคลองต่างๆ บทบาทของกลุ่มธุรกิจ TCP จะเข้าไปช่วยเสริมการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน

คุณพิมลรัตน์ ลำทอง หรือ คุณแต ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อินทรีย์

“จากโครงการที่เราทำมา ผลสัมฤทธิ์ที่ได้เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะไม่เพียงแค่ทำการเกษตรได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน จากการที่คนในชุมชนเปลี่ยนมาปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ ทุเรียน มังคุด และมะยงชิด โดยในปี 2564-2565 มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรสะสมกว่า 1.8 ล้านบาท และยังพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีชุมชนอีกด้วย” คุณอาจรีย์ กล่าว

การเติมน้ำผ่านสระ

การเติมน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR) คืออีกหนึ่งมิติการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับและเกิดผลสัมฤทธิ์ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น นำร่องที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ เกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม มีองค์ความรู้เรื่องน้ำใต้ดินอย่างแข็งแกร่ง สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ของตนเอง และต่อยอดเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน

การเติมน้ำผ่านบ่อวง

ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า การทำงานเติมน้ำใต้ดินในลุ่มน้ำบางปะกง เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ไม่ได้เกิดแค่ในช่วงฤดูกาลเท่านั้น แต่ยังเกิดเป็นช่วงละหลายๆ ปี จึงทำให้ในช่วงปีที่มีน้ำมากจึงต้องเก็บสะสมน้ำไว้ใช้ในช่วงปีน้ำน้อย ดังนั้น การเก็บน้ำบนดินอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว

พื้นที่ปลูกผักกูด ใต้แปลงไม้ผล

“การเติมน้ำใต้ดินสามารถทำได้หลายวิธี โดยให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของสภาพปัญหาในพื้นที่นั้นๆ เราเริ่มต้นทำโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้เวลา 2 ปีแรกในการศึกษา และสำรวจความเหมาะสมทางด้านอุทกธรณีวิทยา ชั้นดิน ชั้นหิน ปริมาณและคุณภาพของทั้งน้ำผิวดินและใต้ดิน จึงได้เลือกตำบลนนทรี เป็นชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดิน จากศักยภาพความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง มีความพร้อมในการสร้างชุมชนต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดี” ผศ.ดร.โพยม กล่าว

พื้นที่ปลูกทุเรียนอินทรีย์

โดยปัญหาด้านน้ำหลักๆ ของพื้นที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี คือน้ำแล้ง ทั้งที่มีฝนตกปริมาณมากและเกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี ซึ่งแหล่งน้ำผิวดินจะระเหยไปจนไม่พอใช้ ดังนั้น การกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบริหารจัดการน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอ

ซึ่งการจัดการเติมน้ำใต้ดิน 4 วิธี ที่นำมาใช้ในพื้นที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ 1. สระขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีน้ำหลากมาก สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเติมน้ำได้อย่างรวดเร็ว 2. สระน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำหลากไหลผ่าน น้ำท่วมขัง เก็บกักน้ำได้มาก 3. บ่อวง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความลาดชัน เป็นร่องน้ำหรือมีทางไหลของน้ำที่ชัดเจน และ 4. หลังคา เหมาะกับพื้นที่ชุมชน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด น้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำสะอาด จึงสามารถใช้ในครัวเรือนได้

ผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งจำหน่าย

คุณพิมลรัตน์ ลำทอง หรือ คุณแต ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อินทรีย์ ตำบลนนทรี อำเภออำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เล่าว่า สมัยก่อนนั้นน้ำในพื้นที่นี้มีปริมาณที่น้อยมาก ไม่สามารถที่จะมีน้ำทำในการเกษตรได้มากเท่าที่ควร จึงทำให้การปลูกพืชผักต้องหยุดชะงักลง แต่เมื่อชุมชนได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในโครงการเติมน้ำใต้ดิน จึงทำให้การทำเกษตรของสมาชิกในชุมชนค่อนข้างเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย และมีผลผลิตที่ออกจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

ผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งจำหน่าย
(กลาง) คุณอาจรีย์ สุวรรณกูล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP

คุณพิมลรัตน์ ได้ยกตัวอย่างการเติมน้ำผ่านบ่อวงว่า เป็นการใช้บ่อวงเป็นบ่อเติมน้ำใต้ดิน โดยรวบรวมน้ำจากฝนที่ไหลบริเวณผิวดินให้ไหลเข้าสู่บ่อวง แล้วเติมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินต่อไป ซึ่งองค์ประกอบของการเติมน้ำผ่านบ่อวงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับบ่อเติมน้ำหลังคา แตกต่างกันเพียงน้ำที่จะใช้เติมลงชั้นดินนั้น จะรับน้ำมาจากผิวดินที่ได้ทำการปรับพื้นดินให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ระบบเติมน้ำที่เหมาะสม แล้วไหลเข้าสู่ระบบบำบัดคุณภาพน้ำที่ถูกสร้างไว้รอบๆ เพื่อบำบัดน้ำ และลดความขุ่นก่อนนำน้ำเข้าไปเติมสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ข้อดีคือ ประสิทธิภาพในการเติมน้ำใต้ดินค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวิธีการเติมน้ำอื่น และสามารถก่อสร้างในพื้นที่ที่มีจำกัดหรือพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ และที่สำคัญสามารถเก็บเกี่ยวน้ำที่ไหลหลากได้ดี เหมาะสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่ต้องการแหล่งน้ำขนาดใหญ่

“ถ้าชุมชนของเราไม่มีการเติมน้ำ การทำเกษตรอินทรีย์ของเราคงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้สภาพอากาศค่อนข้างที่จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเติมน้ำใต้ดิน ช่วยเกษตรกรอย่างเราได้มาก จึงทำให้ตอนนี้การทำเกษตรของสมาชิกเรา มีตั้งแต่การปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งมีการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ แซมเข้ามาช่วย จึงทำให้ในแต่ละฤดูกาล เราจะมีผลผลิตออกจำหน่ายอยู่เป็นประจำ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” คุณพิมลรัตน์ กล่าว

ปัจจุบัน ตำบลนนทรี มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น 7.57 ล้านบาทต่อปี มีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจาก 61 เป็น 123 กิจกรรม ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน SROI คือ 1 ต่อ 17.09 บาท ซึ่งโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง อยู่ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านบาท ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562-2566) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ “ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม”