กุ้งเลี้ยงคน คนเลี้ยงกุ้ง เมืองน้ำดำ

กว่า 40 ปีที่ผ่านมา กระผมขอเล่าเรื่องสู่กันฟังว่า จากเด็กน้อยที่เกิดและเติบโตในชนบท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน “จังหวัดกาฬสินธุ์” หรือ เมืองดินดำน้ำชุ่ม ที่มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่สำคัญของจังหวัด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ เขื่อนลำปาว

เขื่อนดินเพื่อการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามความรู้สึกของกระผม เขื่อนแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก่อนพื้นเพเดิมของคนท้องถิ่นอีสานบ้านเราจะมีอาชีพทำนา โดยเฉพาะข้าวเหนียว เป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การพัฒนาด้านการเกษตรและการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณที่เป็นองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ระหว่างเกษตรกรสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นครูที่สำคัญของชุมชน ผู้นำชุมชนที่นำพานำทางความคิดที่สำคัญมาสู่ชุมชนหรือหมู่บ้านอย่างยั่งยืน

บ้านตูม หมู่ที่ 4 ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย กำนันสัมฤทธิ์ ภูโอบ และ พ่อใหญ่แย้ม สุธรรมา คนเก่าแก่ของหมู่บ้านในสมัยนั้น ได้นำ “กุ้งก้ามกราม” หรือ กุ้งนาง มาเลี้ยงเป็นเจ้าแรกในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นกระผมอายุประมาณ 12 ปี จนเป็นจุดเริ่มต้น สัตว์น้ำ สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน ซึ่งมีพื้นที่การเพาะเลี้ยงกว่า 10,000 ไร่ มีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 10 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยราคาขายส่งหน้าบ่อปัจจุบัน ราคากิโลกรัมละ 250 บาท แต่ถ้าขายตามไซซ์ ตามขนาดของกุ้งจะมีราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่ราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท ซึ่งปัจจุบันส่งขายทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งนาง ชื่อสามัญ Giant Freshwater prawn ชื่อวิทยาศาสตร์ Macro brachium rosenbergii กุ้งก้ามกรามอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ตามบริเวณหน้าดินของแม่น้ำลำคลองที่มีทางน้ำไหลติดต่อกับทะเล กินอาหารได้ทุกประเภท เช่น ปลา หอย ตัวอ่อนแมลง และยังกินกันเอง หลังจากลอกคราบรูปร่างลักษณะจะมีเปลือกหุ้มลำตัวสีน้ำเงินอมฟ้า เมื่อโตเต็มวัยกุ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่ากุ้งตัวเมีย กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งที่นิยมเลี้ยงกันมากในภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเลี้ยงกันมากในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมากที่สุด มี story ของกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ คือมีรสชาติเนื้อที่สด อร่อย เนื้อหวาน ไม่เหมือนใคร โดยมีขั้นตอนวิธีการเลี้ยง ดังนี้

1. การขุดบ่อดิน บ่อเลี้ยงควรมีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1-5 ไร่ กว้าง 25-50 เมตร ความลึกประมาณ 1 เมตร โดยบ่อเลี้ยงจะยาวตามทิศทางลม เพื่อให้ออกซิเจนละลายน้ำได้ดี

2. การเตรียมบ่อ ทำได้ดังนี้

2.1 สูบน้ำออกจากบ่อให้น้ำเหลือในบ่อ 10-15 เซนติเมตร คราดหรือดันดินเลนเพื่อให้ของเสียที่ตกค้างอยู่ในบ่อสัมผัสกับอากาศและย่อยสลายได้เร็วขึ้น สูบน้ำออกให้หมด ปรับพื้นที่ให้เรียบ แล้วหว่านปูนขาว ในขณะที่ดินยังชื้นอยู่ ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งประมาณ 7-15 วัน

2.2 เตรียมน้ำให้มีค่าความโปร่งแสงประมาณ 35-40 เซนติเมตร โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 3 กิโลกรัม ปลาป่น 1.5 กิโลกรัม รำละเอียด 1.5 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ นำส่วนผสมทั้ง 3 ละลายน้ำ แล้วสาดให้ทั่วบ่อประมาณ 3-5 วัน น้ำจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมเหลือง จากนั้นตรวจวัดและควบคุมความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ในรอบวัน ให้มีค่าระหว่าง 7.8-8.3 ค่าความเป็นด่างอยู่ระหว่าง 80-120 มิลลิกรัมของแคลเซียมคาร์บอเนตต่อลิตร ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำประมาณ 5-10 มิลลิกรัมต่อลิตร แอมโมเนียและไนไตรต์ต้องต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร

3. การเตรียมพันธุ์ลูกกุ้ง ลูกกุ้งก้ามกรามที่นำมาปล่อยเลี้ยง ในบ่อดินจะต้องเป็นลูกกุ้งมีอายุประมาณ 30 วัน หรือลูกกุ้งที่คว่ำ แล้วมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และปรับให้อยู่ในน้ำจืดก่อนแล้วจึงนำมาเลี้ยงในบ่อดิน ได้ลูกกุ้งก้ามกรามที่ดี ต้องแข็งแรง ว่ายน้ำปกติ ลำตัวใส มีอาหารเต็มลำไส้ และแพนหางกาง

4. การปล่อยกุ้งก้ามกรามลงเลี้ยง แบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ

4.1 เลี้ยงแบบอัตราความหนาแน่นต่ำ ใช้อัตราการปล่อย 20,000-25,000 ตัวต่อไร่

4.2 เลี้ยงแบบอัตราความหนาแน่นปานกลาง ใช้อัตราการปล่อย 75,000-80,000 ตัวต่อไร่

4.3 เลี้ยงแบบอัตราความหนาแน่นสูง ใช้อัตราการปล่อย 50,000-200,000 ตัวต่อไร่

5. การจัดการระหว่างการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ทำได้ดังนี้

5.1 คุณสมบัติของน้ำระหว่างการเลี้ยง ควรตรวจวัดและควบคุมให้อยู่ระดับที่เหมาะสม คือค่าความโปร่งแสงของน้ำประมาณ 35-45 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรด-ด่างควรอยู่ในช่วง 7 ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า 3.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ไนไตรต์และแอมโมเนียไม่ควรมากกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรณีที่แอมโมเนียและไนไตรต์มากกว่า 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ และค่าความเป็นด่างระหว่าง 80-120 มิลลิกรัมต่อลิตร

5.2 อาหารและการให้อาหาร ในช่วง 60 วันแรก การให้อาหารกุ้งก้ามกรามสามารถตรวจสอบการกินอาหารได้ โดยตรวจสอบปริมาณอาหารที่เหลือในยอ แต่เมื่อกุ้งก้ามกรามอายุ 3 เดือนขึ้นไป ตรวจสอบโดยใช้สวิงตักดูว่ามีอาหารเหลือที่พื้นบ่อหรือไม่ ซึ่งขนาดของอาหารให้เลือกใช้ตามอายุของกุ้ง

5.3 การเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างการเลี้ยง ในช่วง 1-2 เดือน ควรเติมน้ำให้สูงจาก 60 เซนติเมตร เป็น 100-120 เซนติเมตร เมื่อกุ้งอายุ 3 เดือนขึ้นไป ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 5-7 วัน

6. การจับกุ้งก้ามกรามจำหน่าย ผู้เลี้ยงควรจับและคัดกุ้งตัวเมียที่ไข่ และกุ้งแคระแกร็นออกจำหน่ายก่อนในช่วง 4-5 เดือน หลังจากนั้นจับและคัดขนาดกุ้งขายทุกๆ เดือน หรือช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์

และนี้คือ อาชีพหลักที่มีการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของคนบ้านตูม หมู่ที่ 4 ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่สร้างฐานะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในระดับชุมชน ให้คนรุ่นต่อรุ่นได้เรียนรู้ และเป็นที่มาของ “กุ้งก้ามกราม กาฬสินธุ์” อยู่ในปัจจุบันนี้และตลอดไป จากการที่ผมได้เล่าเรื่องสู่กันฟัง ผ่าน เรื่องเล่าจากเรือนจำ ที่สอนและอบรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำได้มีความรู้ที่สนใจไปพัฒนาตัวเองและพัฒนาอาชีพภายหลังปล่อยตัวออกไปสู่สังคมภายนอกต่อไป ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้ และไปเที่ยว “ชม ชิม ช้อป” กุ้งสดๆ อร่อยๆ ที่เมืองน้ำดำ นะครับ