เผยแพร่ |
---|
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งการดำเนินแผนดังกล่าว ต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอ มีต้นทุนต่ำ มีตลาดและอุตสาหกรรมรองรับที่ชัดเจน รวมถึงมีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ โลจิสติกส์ การขนส่ง และการลดต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการได้อย่างมีศักยภาพ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่
สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักในการเสนอแนะนโยบาย จัดทำแผนพัฒนาและมาตรการทางการเกษตร จึงได้มีการศึกษา “ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC)” โดยรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต การตลาด ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามันสำปะหลัง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย โดยในช่วงเดือนมกราคมและมีนาคม ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครรราชสีมา เพื่อสำรวจผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ได้แก่ บริษัท พูลอุดม จำกัด บริษัท อัพเวนเจอร์ จำกัด บริษัท เยนเนรัล สตาร์ช จำกัด บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด และโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้ามันสำปะหลัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC)
เบื้องต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านการผลิต พบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังภายในประเทศปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยในปี 2564/2565 ประเทศไทย ผลิตหัวมันสดได้ 9.92 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้หัวมันสดมากถึง 46.57 ล้านตัน ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลัง จึงควรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการเพาะปลูก เช่น การปรับปรุงและเตรียมดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้เปลือกดิบมันสำปะหลังเพื่อนำไปปรับปรุงบำรุงดิน การวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรค เป็นต้น รวมถึงควรควบคุมคุณภาพของเปอร์เซ็นต์แป้งและสิ่งเจือปนที่มากับมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังของประเทศได้
ด้านการแปรรูป มันสำปะหลังสามารถนำไปแปรรูปได้หลายผลิตภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังส่วนใหญ่ของไทย เป็นการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด เอทานอล แป้งมันสำปะหลัง แป้งดัดแปร ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดที่หลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นถุงมือทางการแพทย์ ยา หลอดฉีดยาที่สามารถย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการผลักดัน ให้ผลิตภัณฑ์เอทานอลของไทยสามารถแปรรูปและจำหน่ายได้อย่างหลากหลาย จะช่วยเพิ่มความสามารถในแข่งขันของห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ
ด้านการตลาด มีความต้องการผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับบริโภค เอทานอล และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก คือ จีน ทำให้ราคาส่งออกทั้งมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ได้ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้น จึงควรพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเพียงตลาดเดียว