“สับปะรดปัตตาเวีย” จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลผลิต 3.9 หมื่นตัน ออกตลาดแล้ว ปีนี้ ราคาดี

นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2566 หรือในพื้นที่นิยมเรียกว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” โดย สศท.2 ลงพื้นที่สำรวจพบว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ปลูกสับปะรดปัตตาเวียเป็นอันดับที่ 5 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดพิษณุโลก เชียงราย ลำปาง และอุทัยธานี ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 2 บ้านห้วยมุ่น ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด และหมู่ที่ 1 บ้านนาผักฮาด ตำบลน้ำไผ่ อำเภอบ้านโคก ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ สับปะรดห้วยมุ่น คือ พันธุ์ปัตตาเวีย ที่นำมาปลูกในตำบลห้วยมุ่นจนกลายเป็นพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะรสชาติหวานอร่อย ตาไม่ลึก ทำให้มีส่วนของเนื้อมาก ผลค่อนข้างเล็ก รับประทานแล้วไม่ระคายคอ

สำหรับปี 2566 นับเป็นช่วงปลายของการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าเตรียมเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่สถานการณ์ภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคาดการณ์ว่า จะมีเนื้อที่ปลูก 19,366 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 17,425 ไร่ เนื่องจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การขนส่งตลาดทั้งในและต่างประเทศเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก ขณะที่เนื้อที่เก็บเกี่ยว มีจำนวน 10,774 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 17,381 ไร่

ด้านปริมาณผลผลิตรวม มีจำนวน 39,594 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 65,700 ตัน (ลดลงร้อยละ 39.73) และผลผลิตต่อไร่ 3,675 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 3,780 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 2.78) เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ผลแคระแกร็นไม่ขยายขนาดเพิ่ม ทั้งนี้ ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จะออกสู่ตลาด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงกลางปี (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) โดยออกมากในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 ประมาณ 29,696 ตัน หรือร้อยละ 75 ของผลผลิตทั้งหมด และช่วงปลายปี (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566) ประมาณ 9,898 ตัน หรือร้อยละ 25 ของผลผลิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ราคาสับปะรดปัตตาเวียปีนี้ค่อนข้างดี เนื่องจากผลผลิตในพื้นที่มีจำนวนน้อย ในขณะที่ปริมาณความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น ด้านการตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด และอีกร้อยละ 40 เกษตรกรขายผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป

ทั้งนี้ การพัฒนาการผลิตและการตลาดสับปะรดในบริบทของจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อสร้างความยั่งยืน มีหลายประการ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตสับปะรดคุณภาพ หรือได้รับรองมาตรฐานการผลิตเพื่อบริโภคสดให้มากขึ้น การชูตราสินค้า GI และฉายภาพความโดดเด่นของสับปะรด การประสานผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตร่วมจัดทำแผนการตลาดรายเดือนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการสับปะรดของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2566 สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. 055-322-658 หรือ อีเมล [email protected]

Advertisement