ชงแก้กม.เพิ่มโทษ 10 ล้อบรรทุกเกิน นายจ้าง-ลูกค้าโดนด้วยเผยใช้เครื่องตรวจจับไฮเทค

กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก เร่งแก้กฎหมายรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โทษปรับ 1 หมื่นถือว่าน้อยไป เทียบกับค่าซ่อมถนนปีหนึ่งๆ กว่า 1.8 หมื่นล้าน แก้เป็นอัตราก้าวหน้า ตรวจจับด้วยอิเล็กทรอนิกส์แทนเครื่องชั่งน้ำหนักแบบเก่า

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาวางแผนแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินในระยะยาว คาดว่าจะเสร็จในเม.ย.ปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายต้องดูว่าต้องปรับปรุงในส่วนของหน่วยงานใดบ้าง ทั้งทล. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด

นายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ด้านบำรุงรักษาทางและสะพาน กรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 2 ทาง ระยะสั้นรถขนส่งสินค้าที่ศาลตัดสินคดีว่าผิดพ.ร.บ.ทางหลวง ต้องส่งเรื่องไปที่ขบ. เพื่อขอ เพิกถอนหรือชะลอต่อใบอนุญาตกับผู้ประกอบการรายนั้นๆ ทันที ส่วนการเอาผิดผู้กระทำความผิดให้ครอบคลุมไปถึงผู้ใช้และผู้ว่าจ้าง เดิมที่จะจับกุมเฉพาะผู้ขับขี่

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นได้เสนอโทษปรับให้เป็นอัตราก้าวหน้า เพื่อความชัดเจนและไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานใช้วิจารณญาณในการตัดสิน ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องรับผลประโยชน์ และให้เจ้าหน้าที่ของ ทช.มีอำนาจเรียกตรวจใบกำกับขนส่งสินค้า เหมือนกับ ขบ.จะทำให้มีความรวดเร็วในการทำงาน

นายปราบพล โล่วีระ ผอ.สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า อยากให้เพิ่มโทษ ผู้กระทำผิด โทษปัจจุบันจำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาทถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับถนนที่เสียหาย และขอให้พนักงานทางหลวงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการกับ ผู้กระทำผิดด้วยการปรับได้ทันที แต่จะต้องไม่มีการจำคุก เพราะเกี่ยวข้องกับอัยการและตำรวจ ส่วนอัตราค่าปรับอยากให้เป็นอัตราก้าวหน้า พร้อมทั้งนำระบบตรวจจับด้วยอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ แทนเครื่องชั่งน้ำหนักในปัจจุบัน

แต่ละปีทางหลวงต้องจัดสรรงบซ่อมบำรุงทางประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปกติการซ่อมบำรุงทางจะใช้งานได้ 7 ปี แต่รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 5 ตัน การใช้งานถนนจะลดลงเหลือ 3 ปีครึ่งเท่านั้น และทำให้แต่ละปีต้องจัดสรรงบไปซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก

 

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด