ศูนย์เรียนรู้บ้านท่าไม้ยาว ผนึกสหกรณ์ฯ ด่านมะขามเตี้ย แปรรูปสินค้าจากภูมิปัญญา ชูผลิตภัณฑ์เด่น “น้ำจากไผ่”

“ไผ่” ได้ชื่อว่าพืชมหัศจรรย์ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำจากลำต้นที่ผลิตออกเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์จากภูมิปัญญาที่มากด้วยสรรพคุณ โดยศูนย์เรียนรู้บ้านท่าไม้ยาว หมู่ที่ 6 ตำบลด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ที่มี ครูธเนศ หรือ อาจารย์ธเนศ เมฆนาคา ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านท่าแย้ เป็นประธานศูนย์ฯ และเจ้าของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาเป็นผู้ริเริ่มผลิตน้ำดื่มบริสุทธิ์จากต้นไผ่ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษผ่านกรรมวิธีง่ายๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของศูนย์ในเวลานี้

“การจะได้น้ำไผ่ต้องมาเอาตอนกลางคืนเท่านั้นเพราะธรรมชาติของต้นไผ่กลางคืนเขาจะคายน้ำส่วนเกินออกมา ส่วนกลางวันจะอมน้ำ ไผ่ทุกกอทุกต้นมีน้ำ และการให้น้ำแบบนี้เป็นการระบายน้ำส่วนที่เกินของเขาและเก็บน้ำไว้เท่าที่จำเป็น ถึงเราไม่เจาะรู ไผ่ก็จะคายน้ำออกทางราก” อาจารย์ธเนศ เมฆนาคา เจ้าของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาน้ำดื่มบริสุทธิ์จากต้นไผ่เผยที่มาน้ำดื่มจากไผ่ และอธิบายถึงขั้นตอนการทำ

โดยระบุว่าเริ่มจากการเลือกลำต้นไผ่ต้องไม่อ่อนเกินไปหรือมีอายุ 3 ปีขึ้นไป สังเกตจากสีของต้นจะต้องไม่สีเขียวสดและไม่มีเปลือกไผ่ห่อหุ้ม นั่นบ่งบอกได้ว่าเป็นต้นไผ่ที่พร้อมให้น้ำ จากนั้นนำอุปกรณ์ที่เรียกว่าสว่านมาเจาะตรงลำต้นเข้าไปในเนื้อไผ่ลักษณะทแยง แต่อย่าให้ทะลุกลางปล้อง จากนั้นนำสายยางมาเสียบเข้าไปแล้วนำปลายสายยางใส่ในถุง โดยทำแบบนี้กับต้นไผ่ทุกลำ พร้อมนำปลายสายยางมารวมไว้เพื่อน้ำจากต้นไผ่ไหลมารวมในถุงเดียวกัน

“แต่ละกอใช้เวลา 3-5 ชั่วโมงจะได้น้ำไผ่เฉลี่ยประมาณ 10 ลิตร แต่ต้องขึ้นอยู่กับช่วงไหน ช่วงแล้งจะให้เราน้อย หน้าฝนจะได้เยอะหน่อย” อาจารย์ธเนศ เผย

เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำจากไผ่อธิบายต่อว่า ขั้นตอนต่อไปพอได้น้ำมาเก็บไว้ในถุง จากนั้นนำเอาไปกรองผ้าขาวบาง 3 ชั้นเพื่อกำจัดเศษเนื้อไผ่ที่ติดมากับน้ำแล้วนำไปบรรจุขวดเพื่อจำหน่ายต่อไป ส่วนอีกรูปแบบนำน้ำจากไผ่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วนำมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ส่งถึงมือผู้บริโภคต่อไป

​“น้ำบรรจุใส่ขวดโดยไม่เติมสารปรุงแต่งอะไรเลย เป็นน้ำไผ่บริสุทธิ์ 100% เก็บไว้ได้ไม่เกิน 6-10 ชั่วโมง เพราะธรรมชาติของน้ำไผ่ถ้าเจออุณหภูมิสูงจะเสียง่าย แต่ถ้าแช่น้ำแข็งแบบนี้จะรักษาคุณภาพอยู่ได้เป็นอาทิตย์ แต่ถ้าแช่เย็นเก็บได้ไม่เกินสัปดาห์ ส่วนน้ำที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน”

​อาจารย์ธเนศ เผยอีกว่า น้ำจากไผ่เป็นน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้างแม้กระทั่งกรดยูริก หลังทีมวิจัยบริษัทเอกชนมาสุ่ม ตรวจมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ มีสรรพคุณช่วยระบาย ขับถ่ายคล่อง ช่วยผู้ป่วยความหวาน ความดัน ที่สำคัญต้นทุนน้อยเพราะได้มาจากธรรมชาติล้วนๆ สนใจราคาขวดละ 20 บาท ถ้าเป็นแบบพาสเจอไรซ์ขวดละ 50 บาท โดยตลาดหลักอยู่ในละแวกชุมชน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคณะมาศึกษาดูงาน น้ำจากไผ่ก็มีจำหน่ายที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งเดียวเท่านั้น

ขณะที่ นางสาวกาญจนา ป้อมสกุล หรือ ครูฝน วิทยาการประจำศูนย์ฯ กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้มีเนื้อประมาณ 40 ไร่เศษ มีกิจกรรมการแปรูปผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่จากสมาชิกของศูนย์ อย่างเช่น ฤดูมะม่วงก็จะแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น มะม่วงกวน มะม่วงแช่อิ่ม หรือแยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ ผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว และผลิตภัณฑ์ชาชงจากหญ้าหวาน ยังไม่นับผลิตภัณฑ์น้ำจากต้นไผ่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของศูนย์ด้วย โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นจะได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ยในการถ่ายทอดองค์คามรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์และพาสมาชิกไปอบรม ศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งยังเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของศูนย์อีกด้วย

“จริงๆ แล้วสมาชิกของศูนย์เราก็เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ยด้วย เวลาที่สหกรณ์มีการจัดอบรมต่างๆ ก็จะมีเชื่อมโยงมาที่ศูนย์ ที่สำคัญสหกรณ์ยังเป็นช่องทางการตลาดจำหน่ายสินค้าให้กับทางศูนย์ด้วย ทุกวันนี้เราเป็นเครือข่ายกัน เวลาเราอยากเรียนรู้อะไรก็มีการคุยกับทางสหกรณ์ บางครั้งมีคณะดูงานที่สหกรณ์ก็จะเชื่อมโยงมาที่ศูนย์ มีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน” นางสาวกาญจนา กล่าวและย้ำว่า

สำหรับอนาคตจะพัฒนาเป็นศูนย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำเส้นทางเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องที่พักสำหรับไว้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน สนใจติดต่อ คุณกาญจนา ป้อมสกุล หรือ ครูฝน โทร. 098-256-6673