ที่มา | เทคโนฯ อาชีวะ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
การเกษตรสมัยใหม่ คืออนาคตของประเทศ รัฐบาลชุดที่ผ่านมา จึงมีมติขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สนองนโยบายรัฐบาล โดยจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ร่วมบูรณาการนวัตกรรมอาชีวศึกษาเกษตร สู่ความยั่งยืนภายใต้ BCG โมเดล ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ เพื่อลดต้นทุน ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทุ่นลอยน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานแสงอาทิตย์จัดเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงปราศจากมลพิษ อีกทั้งเกิดใหม่ได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า มีเทคโนโลยีคือ การใช้อุปกรณ์โซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ และอุปกรณ์รวมแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานในระบบต่อเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ และนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในด้านการเกษตรกรรมนั้น “น้ำ” เป็นสิ่งจำเป็น เกษตรกรพยายามหาวิธีการจัดการน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว และแสวงหาพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาทดแทนในการขับเคลื่อนปั๊มสูบน้ำ ซึ่งทุกวันนี้ แผงโซลาร์เซลล์ได้รับความสนใจในครัวเรือนภาคเกษตรกรรมอย่างแพร่หลาย
ทีมนักวิจัยวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว ประกอบด้วยนักศึกษาแผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์และเทคนิคคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นายเจษฎาภรณ์ แก้วศรี นางสาวอัจฉรา พรมสิทธิ์ นายณัฐวุฒิ รักพวกนายอาทิตย์ โสภา นายภาณุ บุญนาค นายภาณุรักษ์ สายสร้อย นายวรายุส นาคนาคา และครูที่ปรึกษาคือ นายพัฒนา ศรีธาราม นางนวลน้อง ชูจันทร์ นายพงศกร พันธนิติ ฯลฯ มีความสนใจศึกษาวิจัย การออกแบบและสร้างทุ่นลอยน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในด้านการเกษตร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกให้กับภาคเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ทุ่นลอยน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มีประโยชน์สามารถนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เช่น พื้นที่ห่างไกลจากความเจริญสามารถใช้งานในพื้นที่ที่มีแม่น้ำ คลอง และเป็นการช่วยบำบัดน้ำเสียเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์และเทคนิคคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เลขที่ 200 หมู่ที่ 11 ถนนวัฒนา-แซร์ออ ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โทรศัพท์ 037-261-535
เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารี
การทำกะปิหรือเคยขัดน้ำ เป็นกรรมวิธีโบราณที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สืบทอดภูมิปัญญาการทำกะปิมาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยนำกะปิที่ได้อัดใส่ไหหรือโอ่งให้แน่น ปิดด้วยใบตาลป้องกันสิ่งสกปรก และขัดด้วยไม้ไผ่นาน 5-6 เดือน จนกระทั่งบริเวณด้านบนมีน้ำเคย รสชาติหอม อร่อยกว่าน้ำปลา เก็บได้นาน ทำให้กะปิขัดน้ำขายได้ราคาสูงกว่าการทำกะปิแบบไม่ขัดน้ำประมาณ 50-100 บาทต่อกิโลกรัม
การผลิตกะปิแบบขัดน้ำในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีขั้นตอนและวิธีการผลิตกะปิที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร คณะผู้วิจัยของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่ากะปิขัดน้ำด้วยการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์” ภายใต้แผนงานวิจัยการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
คณะผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการผลิตกะปิมาขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กะปิที่มีคุณภาพมีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดเหมาะกับการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยนำความรู้จากการศึกษาวิจัยมาสังเคราะห์เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปที่ส่งผลต่อปริมาณการผลิต คุณภาพ การเก็บรักษา และราคาจำหน่าย
วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีได้ออกแบบนวัตกรรมเครื่องตากแห้งกะปิ แบบโรตารีใช้พลังงานความร้อนร่วมระบบกึ่งอัตโนมัติ ช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต คือการตากกุ้งเคย และกระบวนการตากแห้งกะปิสด ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตที่สำคัญที่สุด ส่งผลต่อคุณภาพและรายได้ของชุมชน ชาวบ้านทำกะปิได้สะดวก รวดเร็วกว่าวิถีธรรมชาติ มีผลการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วยลดต้นทุน ลดแรงงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีรายได้ 6,000 บาทต่อครัวเรือน ก็มีรายได้เพิ่มสูงถึงเดือนละ 17,000 บาทต่อครัวเรือน
เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารีใช้พลังงานความร้อนร่วมระบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องสามารถที่จะหมุนรอบตัวเองได้ ทดแทนการตากกะปิของชาวบ้านที่ต้องพลิกกุ้งกลับด้านเพื่อให้โดนแสงแดด ทำให้เสียเวลานานกว่าจะได้ แต่เมื่อนำมาเข้าเครื่องนี้แล้ว เครื่องก็จะหมุนสามารถที่จะตากได้ทั้งสองด้านทำให้ประหยัดเวลาในการตากแดด และสามารถที่จะผลิตกะปิได้ครั้งละประมาณ 100 กิโลกรัม
นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีได้เสริมองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่ากะปิให้แก่ชาวบ้าน เช่น การแปรรูปแบบกะปิผง การบรรจุภัณฑ์แบบถุงพลาสติก การบรรจุภัณฑ์แบบซอง รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบหลอด เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำกะปิมาบรรจุในหลอด ช่วยยกระดับกระบวนการผลิตกะปิให้เป็นสินค้าดีมีคุณภาพมาตรฐาน ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรมากขึ้น
เครื่องตากแห้งกะปิแบบโรตารีมีคุณประโยชน์ต่ออาชีพแปรรูปสินค้าประมงอย่างมาก ทำให้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในศึกการแข่งขันโครงงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เสริมแกร่งนวัตกรรุ่นใหม่ Ford+Innovator Scholarship 2021 และได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันไทย-เยอรมัน เผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวแก่ชาวบ้าน เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว และ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์