ตะกู ตัวกู ไม่ใช่ของกู แล้วตะกู จะเป็นของใคร

ชื่อวิทยาศาสตร์  Anthocephalus chinensis Rich.ex Walp

ชื่อวงศ์  RUBIACEAE

ชื่อสามัญ Bur-flower Tree

ชื่ออื่นๆ กระทุ่ม ตุ้มเนี่ยง (เหนือ) ตุ้มขี้หมู (ใต้) ตุ้มพราย (ขอนแก่น) แคแสง ตะโก (ตะวันออก) ตุ้มก้านซ้วง ปะแด๊ะ เปอเด๊ะ สะพรั่ง (แม่ฮ่องสอน) โกหว่า กลองประหยัน ฟาแย (ยะลา ปัตตานี)

ฉันสับสนกับเรื่องราวของฉันโด่งดังสุดขีด แล้วไม่มีใครพูดถึงฉันเลยทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขาย “พันธุ์กล้าไม้” จนฉันต้องเข้าวัดเข้าวาพึ่งพระธรรมสงบสติ พบคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ใน pocket book เล่มเล็กๆ พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน อาจริยบูชา 100 ปี ชาตกาล ท่านอาจารย์พุทธทาส 27 พฤษภาคม 2549 เล่ม “หัวข้อธรรมคำกลอน” ในบท “ของกู-ของสู”, “ตัวกู-ตัวสู”, มีอยู่แล้ว, รักสงบ เป็นบทกลอนคำสอนสั้นๆ ทุกหัวข้อเรื่องให้ข้อคิดกับฉัน ให้เกิดรู้อาตยะสงบจิต “อยู่ด้วยจิตว่าง” จากบท “ตัวกู-ตัวสู” บทกลอนว่า อันความจริง “ตัวกู” มิได้มี แต่พอเผลอ มันเป็นผี โผล่มาได้ พอหายเผลอ “ตัวกู” ก็หายไป หมด “ตัวกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี และจากหลายบทกลอนเรียกสติฉันให้รักสงบ จงลืมซึ่ง “ตัวกู” และลืมทั้ง “ตัวสู” สติปัญญาจึงกลับมาตามคำสอน

วัดวังตะกู

เทือกเถาเหล่ากอฉันมีในประเทศอินเดีย เนปาล พม่า จีน และภูมิภาคตะวันออกแถบอินโดจีน กระจายพันธุ์มาอยู่ในเมืองไทยลงไปถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยก็มีอยู่ทุกภาค ส่วนใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งไว้ แม้ว่ามีชื่อหลากหลายแต่ก็เรียกชื่อเดิมว่า “กระทุ่ม” มีหลายสายพันธุ์ช่วงที่โด่งดังก็รู้จักกันว่า “ตะกูยักษ์” เพราะมีลักษณะเด่นหลายประการและชื่นชมกันว่าเป็น “ไม้เบิกป่า” หรือ “ไม้เบิกนำ” เพราะโตเร็วและอยู่ได้ในทุกสภาพพื้นที่

คุณสมบัติที่เป็นไม้ยืนต้นโตเร็ว ต้นตรง ไม่มีกิ่งก้านเกะกะ ทนแล้ง มีการงอกขึ้นใหม่หลังจากตัดต้นเดิม เป็นต้นกล้าหลายรอบ ตัดฟันได้ตั้งแต่ 5-10 ปี และเพียงอายุ 3 ปี ก็สามารถนำไปทำเยื่อกระดาษเขียน และกระดาษหนังสือออฟเสทคุณภาพดี เยื่อกระดาษเหนียว แปรรูปงานเฟอร์นิเจอร์ได้ทุกชนิด เนื้อไม้เบาผิวละเอียดสีเหลือง ทำแผ่นกระดานฝาบ้านและงานในร่มได้ดี ได้รับการแบ่งคุณภาพเนื้อไม้ตามมาตรฐานกรมป่าไม้ จัดอยู่ในไม้เนื้อแข็งปานกลางแต่ความทนทานต่ำ การเลื่อยเจาะกลึงง่าย การยึดเหนี่ยวตะปูมีน้อย ขัดเงาได้ง่าย เหมาะใช้ทำเครื่องเรือนราคาถูก ทำไม้รองยก ทำพาเลท ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาติเคิลบอร์ด ทำไม้รั้วคอกสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 มีเอกชนลงทุนปลูกไม้ตะกูป้อนโรงงานไม้ขีดไฟ ทำก้านไม้ขีด ได้รับการจัดเป็นไม้เศรษฐกิจอันดับที่ 21 ใน 60 ชนิด ไม่เป็นไม้หวงห้าม ในไทยถูกจัดอยู่ในไม้ยืนต้นใกล้จะสูญพันธุ์ ในอินเดียถือเป็นไม้มงคล ชาวอินเดียนำดอกตะกูไปบูชาเทพเจ้าและสกัดเป็นส่วนประกอบหัวน้ำหอมและนิยมนำไม้ตะกูมาแกะสลักเป็นรูปเคารพและงานฝีมือประดิษฐ์

Advertisement
ขอบคุณภาพ Kaset.today

ฉันพรรณนาความวิเศษวิโสของฉันในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกแห่งธุรกิจการสื่อสารฉันถูกเสกสรรจนไปเทียบท้า “ต้นสัก” เพราะรูปทรงเดียวกันคือขนาดรูปร่างความสูงระดับ 25-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น เปลือกต้นสีเทา ใบเดี่ยว ดอกขนาดเล็กติดช่อแบบ Head สีขาวเหลืองปนส้ม กลิ่นหอมอ่อน ออกผลเดี่ยว เรียกว่า Fruiting Head ผลแก่เป็นอาหารเก้ง กวาง และนก จากช่วงที่ไม้ขาดแคลนตลาดโลก การศึกษาแสวงหาพันธุ์ไม้โตเร็ว มีการตอบสนองการปลูกเพื่อใช้งานและเหมาะกับสภาพเมืองไทย จึงมีช่วงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องต้นไม้พันธุ์ต่างๆ

ขอบคุณภาพ Kaset.today

ฉันก็เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ได้รับการส่งเสริมตามคุณสมบัติที่ฉันเล่าให้ฟังมาดังสุดขีดในปี 2550 เป็นข่าวครึกโครมโดยนักธุรกิจ “ขายพันธุ์กล้าไม้” คนไทยหลงเสน่ห์ “ตะกูยักษ์” โดยเฉพาะเกษตรกรเกือบ 15,000 ราย พื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 33,000ไร่ กับเงินลงทุนรวมมากกว่า 530 ล้านบาท ซื้อกล้าไม้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เลือกปลูก “ตะกูยักษ์” ที่หวังผลตอบแทนจากราคาผลผลิตในอนาคตอีก 5-10 ปีจะมีการรับซื้อในราคาน้องๆ ไม้สัก ยอมเป็นหนี้กู้เงินเพื่อซื้อกล้าพันธุ์ไม้ปลูกในพื้นที่ บางรายลงทุนลงแรงโค่นไม้ที่มีอยู่ในแปลงเพื่อปลูกต้นตะกู ความหวังเป็นจริงต้นสวยโตเร็ว ได้ผลเต็มพื้นที่รอเพียง “บริษัท-โรงงาน” รับซื้อไม้ตัดต้น รอ…รอ…รอ…“ตะกูของกู”– “สู” ไม่มาซื้อตามสัญญา แล้วดอกเบี้ยเงินกู้ “ของกู” ตัวสูจะรับรู้ไหม

Advertisement

เรื่องของฉันมาแดงแจ๋ว่าปลูกแล้วหาคนซื้อไม่ได้ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำทีมอาจารย์ออกแถลงข่าวเรื่อง “ไม้ตะกู” กล่าวถึงโครงการวิจัยประเมินศักยภาพเศรษฐกิจสังคม การลงทุนสวนป่าไม้ตะกูทำไม้เสาคานเพดานไม่ได้ เป็นเรื่องสุดเศร้าที่คนรักไม้ปลูกป่าต้องมาเจอกับการหลอกลวงเกษตรกรคนจน ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการซื้อขายกล้าพันธุ์โดยการปั่นกระแสราคาขายในอนาคต แล้วถูกพวก “มอดไม้มารพฤกษ์” พวกนี้ “เท” อย่างไร้ปราณี

ขอบคุณภาพ Kaset.today

ทั้งๆ ที่ตอนประโคมข่าวมีทั้งออกทีวี วิทยุ วารสารมากมาย แต่กลุ่มนักธุรกิจเกษตรปลอม กลุ่มนี้ก็รอดไปได้ ก็ถือว่าโชคดีที่มีคณะอาจารย์นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพในการให้ความกระจ่างและยังมีอานิสงส์จาก “วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน” ซึ่งได้รับคำขอบคุณที่ช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้ “สาวกตะกู” ได้รู้ตัวกูตัวตน และตั้งหลักใหม่ไม่ก้าวถลำลึก ค่อยๆ แก้ปัญหา “ตะกูของกู” แม้จะเข้าใจในหลักธรรม “ตัวกู…ไม่ใช่ของกู” “ตัวสู” จะเป็นใครก็ขออาราธนา “อโหสิกรรม” ดังท่านพุทธทาสเขียนไว้ว่า “อันความจริง “ของกู” มิได้มี แต่พอเผลอ “ของกู” มีจนได้” พอหายเผลอ “ของกู” ก็หายไป หมด “ของกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี

ฉันเสียใจที่ต้นตะกูถูกนำไปใช้หลอกเกษตรกรว่า อายุ 10 ปี จะขายได้ต้นละ 6,000-10,000 บาท ผ่านแล้วกว่า 15 ปี ยังไม่มีใครมาซื้อเลย ฉันจึงได้ฉายาว่า “ไม้ลวงโลกในตำนาน” ความจริงต้นไม้ไม่ได้ลวงโลกแต่ “ตัวคน” นั่นแหละลวงเกษตรกร จึงพูดกันว่า “ถ้าปลูกต้นตะกูต้องปลูกใบบัวบกไว้แก้ช้ำในด้วย” แต่ฉันก็ภูมิใจว่าชื่อ “ตะกู” ก็เป็นเอกลักษณ์ของ “ผ้าไหมสายตะกู” ที่ชุมชนสายตะกู บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ได้ทั้งเปลือกต้นสกัดสีย้อมผ้าและทอลายผ้า อีกอย่างฉันมีทั้ง “วังและวัด” คือ ตำบลวังตะกู จังหวัดพิจิตร แต่สุดท้าย ฉันจะไปทำ “ตะกรุด” ที่ “วัดวังตะกู” ตำบลวังตะกู จังหวัดนครปฐม “ตัวสู” จะไปด้วยไหม