หูเสือ ผักเป็นยาสมุนไพรประจำบ้านเรา

ในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลของไทย จากฝนสู่หนาว เข้าสู่ร้อน ช่วงระหว่างเปลี่ยนฤดู เรียกกันว่าช่วง “แล้ง”  ที่ผ่านมาภาคใต้ประสบสภาวะน้ำมากเกินความจำเป็น เช่นเดียวกับภาคกลาง ที่ได้รับผลจากน้ำเหนือ ทะเลหนุน เกิดผลกระทบความสูญเสีย ภัยพิบัติจากน้ำท่วม สวนทางกับภาคเหนือ อีสาน ที่กำลังเดินเข้าสู่ความแห้งแล้ง กล่าวคือสถานการณ์ในยามนี้ ประเทศไทยมีครบองค์ประกอบ ทุกบรรยากาศ ชื้นฝน เย็นหนาว ร้าวร้อน และไม่ว่าบรรยากาศช่วงไหนๆ ชาวบ้านมักเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นนั่นเป็นนี่อยู่เสมอ โดยเฉพาะไข้หวัดมักเจอกันอยู่ตลอดมา ร้านขายยาในเมือง ลูกค้าเต็ม ในชนบทห่างไกล ได้พึ่งพาพืชผักสมุนไพรมาใช้รักษาบรรเทา พืชผักหลายอย่างที่ชาวบ้านนำมาใช้ เช่น สะระแหน่ หอมแดง กระเทียม และหูเสือ ที่ใช้แก้ไข้หวัด แก้ไอ ได้ดีมากๆ

“หูเสือ” หรือชื่อสามัญ Indian borage หรือ County borage เป็นพืชในวงศ์ LABIATAE หรือ LAMIACEAE วงศ์ตระกูลเดียวกับ สะระแหน่ มิ้นต์ และ ออริกาโน (Oregano) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plectranthus amboinicus Lour. เป็นพืชล้มลุก ประเภทต้นกึ่งเลื้อย และตั้งพุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านให้รูปทรงดูดีมีศิลปะ สามารถใช้เป็นไม้จัดสวนหย่อม เป็นไม้กระถาง ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวรูปร่างกลมรี รูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมน ใบหนา เส้นใบลึก เนื้อใบกรอบ และมีขนอ่อนขึ้นคลุมทั่วทั้งใบ เมื่อเด็ดหรือขยี้ยอดหรือใบจะมีน้ำยางใสๆ มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นพิมเสน

สิ่งนั้นแหละ คือยาที่มากคุณค่า แก้หวัดคัดจมูกได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนต้นและกิ่งก้านมีความแกร่งพอสมควร กิ่งอ่อนเปราะหักง่าย ไม่มีไส้หรือแก่น แต่มีความคงทนมาก อายุยืนนานหลายปี ทนแล้ง ทนฝน ทนแดด ทนหนาว ได้สุดยอดที่สุด อยู่ได้ทั้งที่มีแสงแดดจัด แสงแดดอ่อน ร่มเงา ขึ้นได้กับดินทุกชนิด ทุกรูปแบบ เรียกได้ว่า อยู่ได้ทุกสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว แบบว่าหักกิ่งโยนทิ้งข้างทาง ยังคงเจริญเติบโตได้ เสือทนได้

ชื่อเรียก และประโยชน์ของผักหูเสือ ภาคเหนือเรียก “หอมด่วนหลวง” หรือ “หอมด่วนหูเสือ” ภาคกลางเรียก “เนียมหูเสือ” หรือ “ใบหูหนา” ทางภาคอีสานเรียกสั้นๆ “หูเสือ” ชาวไทใหญ่เรียก “ผักฮ่านใหญ่” ชาวจีนนิยมปลูกไว้ใช้เป็นยาแก้ไอประจำบ้าน เรียกชื่อว่า “โฮวหิเช่า” หรือ “อีไหลหลึง” จึงมีหลายคนเรียกว่า “เนียมอีไหลหลึง” หรือ “หูเสือจีน” แต่บ้านเราส่วนใหญ่เรียก “หูเสือ” ประโยชน์ของหูเสือ ใช้ใบอ่อนและยอดอ่อนเป็นผักสด กินร่วมกับ ลาบหมู ลาบควาย ลาบวัว ลาบปลา ส้า พล่า ยำจี้นแห้ง คือเนื้อวัว หรือควายย่างแห้งรมควันถนอมอาหาร เอามาต้มแล้วตำให้เนื้อแตกย่อยถึงปรุงยำน้ำพริกลาบ เรียก “ยำจี้นแห้ง” ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า ปลาร้าสับ กินแกล้มกับตำมะเขือเผา หรือยำมะเขือยาว ใส่ต้มยำปลา ต้มยำไก่ ซึ่งรสชาติของใบหูเสือ จะออกรสเปรี้ยวนิดๆ เหมาะสำหรับเป็นผักแกล้มเพื่อตัดรสเผ็ด เค็ม ใครได้ลิ้มชิมรสแล้ว ต้องเรียกหาอีกแน่

เอ่ยถึงพืชชนิดนี้ หลายท่านอาจจะยังนึกภาพไม่ออก จะว่ามันเป็นอย่างไร จะเคยเห็น เคยรู้จัก เคยกิน หรือเปล่า เมื่อได้ยินชื่อเรียกต่างๆ ทำให้พอมองออก ภาคใต้เรียก “เนียมหูเสือ” เพราะใบเหมือน “ต้นเนียม” ที่ใช้ประสมปูนกินกับหมากนั่นเอง ส่วนทางภาคเหนือเรียก “หอมด่วนหลวง” เพราะกลิ่นคล้าย สะระแหน่ หรือทางเหนือเรียกหอมด่วน แต่ใบใหญ่กว่ากันเยอะมาก ใช้กินเป็นผักสด ใช้เป็นสมุนไพรแทนกันได้ เป็นผักกลิ่นหอม ที่นำมาใช้ได้ทันอกทันใจ ปลูกง่าย ตายยาก ไม่เรื่องมากเหมือนพืชอื่น ใช้ประโยชน์แบบเร่งด่วนได้เลย ส่วนคำเรียกของไทใหญ่ คำว่า “ฮ่าน” น่าจะมาจากภาษาจีนแถบยูนนาน ที่เรียกตัวเองว่า “ฮั่น” กระมัง ส่วนภาษาจีนอีกสองสามชื่อ ผู้เขียนไม่สันทัดกรณีครับ

แต่ที่ชาวบ้านบ้านเราเรียก “หูเสือ” เชื่อว่าเป็นเพราะลักษณะใบ ที่ละม้ายคล้ายเหมือนใบหูของเสือ มีขนอ่อนปกคลุมด้วย หรือที่เรียกว่า ใบหูหนา ก็เป็นเพราะใบมีความหนามากกว่าใบผักทั่วไปหลายชนิด ใบหูเสือมีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณค่าทางอาหารสูง ใน 100 กรัม มีวิตามินซีมากถึง 10.15 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 2.55 มิลลิกรัม และแซนโทฟิล 4.24 มิลลิกรัม มีน้ำมันหอมระเหยมากกว่าพืชอื่นในตระกูลเดียวกัน สกัดได้มากกว่า ใช้ประโยชน์ได้มากมาย

หูเสือ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย ลาว พม่า กัมพูชา กระจายไปถึงอินเดีย จีนตอนใต้ และแอฟริกา เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ต้นสูง 20 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ลำต้นกิ่งก้านอ่อนอวบน้ำ ยกเว้นต้นแก่จะแข็ง มีขนอ่อนขึ้นหนาคลุมทั่วทั้งต้น ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว ออกตั้งฉากกับต้น แตกกิ่งก้านชูยอดขึ้นฟ้า ใบรูปไข่ค่อนข้างกลมคล้ายรูปหัวใจ ดูคล้ายใบหูของเสือ โคนใบมนมีครีบ ปลายใบมน ขอบใบหยักจักมน แผ่นใบสีเขียวอ่อน มีขนอ่อนคลุมทั้ง 2 ด้าน แผ่นใบหนาอวบน้ำ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบหูเสือได้รับการพัฒนาปรับปรุงสีสันให้หลากหลายมากขึ้น เช่น หูเสือทอง หูเสือด่าง หูเสือเผือก หูเสือดำ ใช้เป็นไม้ประดับที่มีคุณค่าและราคาสูง ดอกหูเสือจะออกปลายยอด ดอกมีสีฟ้า สีม่วงปนขาว รูปทรงสวยงามคล้ายเรือหงส์ ออกเป็นช่อยาว 10-20 เซนติเมตร มีใบประดับรูปไข่ ดูงดงามดุจดังปิ่นปักผม หรือชฎาหยกยอดมงกุฎ ใบและยอด มีกลิ่นหอมฉุน รสจืดซ่าอมเปรี้ยวเล็กน้อย เวลาแตกพุ่มชูยอดสลอน สวยสง่างดงามมาก ยากที่จะมีไม้อื่นใดละม้ายเหมือน

การปลูกขยายพันธุ์ต้นหูเสือ เพียงแค่มีกระถาง ปี๊บ ถัง กะละมังก้นรั่ว ใส่ดินปลูกสักครึ่งกระถาง หาเด็ด หรือไปขอตัดยอด กิ่งก้าน ต้นอ่อน มาสัก 4-5 ยอด เด็ดใบล่างสุด เอาไปใช้ประโยชน์ เหลือใบยอดไว้ 2-3 ใบก็พอ ปักจิ้มลงดินให้มิดข้อล่างสุด เติมดินโรยทับโคนก้านที่ชำอีกเล็กน้อย กดดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยพลาสติก หรือพรางแสงด้วยใบมะพร้าว เก็บไว้ในที่ร่มเงา ประมาณ 10 วัน ค่อยเปิดพลาสติก และพรางแสงออก ขยับออกมารับแสงแดดบ้าง และให้รับแสงแดดมากขึ้นๆ เป็นระยะๆ จนต้นหูเสือเริ่มเจริญเติบโต ให้ได้รับแสงแดดแรงได้เลย ปลูกลงกระถาง ตั้งวางที่มีแสงแดดส่อง จะเป็นไม้ประดับที่งดงามยิ่ง หูเสือชอบดินที่ความชื้นสูง แสงแดดปานกลาง ถึงขั้นนี้ดีใจด้วย ที่ท่านจะมีต้นหูเสือ ต้นยาดีมีค่า เป็นของตัวเองแล้ว

หูเสือ เป็นพืชผักสมุนไพรที่รักษาโรคได้สารพัด ที่โดดเด่นเห็นผลที่สุดคือ โรคไข้หวัดคัดจมูก และมีสรรพคุณในการ แก้ไอ ไอเรื้อรัง คออักเสบ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ปวดหัว หอบหืด ท้องผูก ท้องอืดอาหารไม่ย่อย สะอึก ปวดท้อง รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้อาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ปวดหัวเข่า ขยี้ปิดแผลห้ามเลือด ขยี้ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด รักษาโรคหิด แมลงสัตว์กัดต่อย ป้องกันฟันผุ ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก น้ำคั้นทารักษาแผลเรื้อรัง หยอดรักษาหูเป็นน้ำหนวก ฝีในหู หูอักเสบ ปวดหู น้ำต้มใบยอดหูเสือกินรักษาอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นยาบำรุงเลือด ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้ไล่แมลงในยุ้งในฉางข้าวได้ด้วย ผลการวิจัยทางเภสัชพบว่า สารสกัดจากต้น ใบหูเสือ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ และเชื้อรา มีน้ำมันหอมระเหย carvacrol, cyperence, thymol และ terpinene ใบหูเสือสกัดได้น้ำมันหอมระเหยจำนวนมากด้วย

ในขณะที่เด็กเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ร้องกระจองอแง คุณแม่สมัยนี้หนักอกหนักใจมาก แต่คนสมัยก่อน แบบแม่มืออาชีพ เขาไม่หวั่นไหวเลย เด็ดยอดใบแก่มาขยี้ หรือโขลกให้ย่อยละเอียด บีบปั้นเป็นก้อน บี้ให้แบนคล้ายขนมเปี๊ยะ หรือแบนแบบกล้วยปิ้ง โปะกระหม่อม ส่วนบนหัว เหนือหน้าผาก ชั่วโมงเดียวเห็นผล เด็กหายใจได้โล่งจมูก คุณแม่โล่งอก ผู้ใหญ่เป็นหวัดยิ่งง่ายกว่า เด็ดใบมาขยี้ดม หรือเคี้ยวกิน ไม่ถึง 3 ใบ หายหวัดคัดจมูกได้ เด็กนักเรียนที่เล่นกลางแดดร้อน เลือดกำเดาไหล ขยี้ใบหูเสือปั้นเป็นแท่ง ทำเป็นจุกอุดรูจมูก เลือดกำเดาหยุดไหลได้รวดเร็วทันใจ แล้วจะมียาอะไรที่แก้ไขอาการเหล่านี้ ให้หายได้ดีกว่าอีกเล่า อีกทั้งยังหาง่าย มีทั่วไปในบ้านเรา ขอแบ่งยอดหูเสือสักนิด เอามาปลูกไว้ใช้ประโยชน์กัน

ยามที่ไข้หวัดมาเยือน เป็นหวัดคัดจมูกนั้นน่ารำคาญ และเป็นกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งถ้าเด็กๆ เป็นหวัดแล้วน่าสงสาร ไม่รู้จักช่วยตนเอง ยิ่งถ้าเราอยู่ในชนบท ห่างไกลจากหมอ หรือแม้แต่อยู่ในเมือง แต่เจออาการเด็กลูกหลานเป็นหวัด ในตอนดึกดื่น จะหาทางแก้ไขอย่างไร หยูกยาก็ไม่มีเตรียมไว้ ก็ขอให้คิดถึง “หูเสือ” ไม้ชื่อนี้ปราบหวัดได้ผลชะงัดนัก ผ่านไปพานพบต้นหูเสือ ใช้มธุรสวาจา พูดเพราะๆ พอจะขอเด็ดยอดมาปลูกขยาย คนไปขอแบ่ง ก็แบ่งเอาแค่พอประมาณ คนมีก็แบ่งปันกันไปปลูก เป็นสินน้ำใจ ไม่ให้ชาวบ้านว่าเรา เป็นเสืออำมหิตได้นะครับ ขอบคุณพี่เสือที่แบ่งใบหูให้ไว้ใช้เป็นยาประจำบ้าน ถ้าพี่เต็มใจ ขอให้ส่งเสียงคำราม โฮกดังๆ สิอ้ายเสือ