จังหวัดพังงา พบพื้นที่การปลูกทุเรียนพุ่งสูงขึ้น ส่วนมังคุดมีปริมาณเพิ่มขึ้น เร่งพัฒนาคุณภาพตามความต้องการของตลาด

จังหวัดพังงา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา มีการบริหารงานตามยุทธศาสตร์ผลไม้ ประจำปี 2566 ตามภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านกิจกรรมติดตามคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ และกิจกรรมจัดทำ Focus Group เพื่อสรุปข้อมูลการประเมินสถานการณ์ผลผลิตในแปลงพยากรณ์ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ปีละ 3 ครั้ง โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 8 แห่งของจังหวัดพังงา สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานข้อมูลไม้ผลของภาคใต้ตอนบน รวมทั้งมีการกำหนดและจัดให้มีการลงพื้นที่สำรวจแปลงพยากรณ์เพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิต ซึ่งเป็นการสำรวจสถานการณ์ในช่วงที่ไม้ผลอยู่ในระยะต่าง ๆ ได้แก่ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกบาน ระยะติดผล และระยะเก็บเกี่ยว ได้ตลอดฤดูกาล เป็นการพยากรณ์หรือคาดการณ์ปริมาณผลผลิตล่วงหน้า ตลอดจนสอบทานผลการคาดการณ์เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดทำข้อมูลคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ระดับจังหวัดแยกตามชนิดพืช ซึ่งประกอบด้วยผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง เพื่อใช้ในการจัดทำข้อมูลเอกภาพ และจัดทำแผนกระจายผลผลิตไม้ผล รองรับความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากการร่วมกันจัดทำข้อมูลคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ ปี 2566 จังหวัดพังงามีเนื้อที่ยืนต้นของทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง รวมทั้งสิ้น 30,198 ไร่ แบ่งเป็นเนื้อที่ให้ผลผลิตแล้ว 27,924 ไร่ และคาดการณ์ผลผลิตรวมกว่า 13,930 ตัน โดยให้ความสำคัญกับทุเรียนและมังคุด ทุเรียนของจังหวัดพังงามีเนื้อที่และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2565 โดยมีเนื้อที่ยืนต้น 9,380 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตแล้ว 7,499 ไร่ และผลผลิตรวม 4,173 ตัน ในขณะที่มังคุดของจังหวัดพังงามีเนื้อที่ลดลงเล็กน้อย และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2565 โดยมีเนื้อที่ยืนต้น 12,880 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตแล้ว 12,542 ไร่ และผลผลิตรวม 6,561 ตัน

ในทางกลับกันเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลผลิตของเงาะและลองกองของจังหวัดพังงา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาของเงาะและลองกองลดต่ำลง รวมทั้งผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่งผลให้เกษตรกรโค่นเงาะและลองกองไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเป็นจำนวนมาก เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น สำหรับทุเรียนและมังคุดผลผลิตออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม เงาะผลผลิตออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และลองกองออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งจัดเป็นช่วงเวลาของผลไม้ตามฤดูกาลของภาคใต้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจังหวัดพังงาอาจจะไม่ได้เป็นแหล่งผลิตผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดยะลา แต่ถือว่ามีทิศทางที่ดี กล่าวคือเกษตรกรให้ความสนใจในการพัฒนาคุณภาพผลไม้มากขึ้น โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ได้เสริมการถ่ายทอดความรู้ในระหว่างการจัดกิจกรรมติดตามคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ และกิจกรรมจัดทำ Focus Group เพื่อสรุปข้อมูลการประเมินสถานการณ์ผลผลิตในแปลงพยากรณ์ เน้นทุเรียนและมังคุด จำนวน 6 หัวข้อ ดังนี้

  1. การผลิตมังคุดคุณภาพและการบริหารจัดการกลุ่มตามแนวทางของชะอวดโมเดล

โดย นายอรุณ บุญวงศ์ ประธานมังคุดแปลงใหญ่ (วัดน้ำดำ) อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

  1. การป้องกันกำจัดวัชพืชในสวนไม้ผล

โดย นายเอกรัตน์ ธนูทอง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

  1. เทคโนโลยีการห่อผลทุเรียนด้วยถุงห่อ Magik Growth เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูพืช

โดย นายดุสิต สุดสวาสดิ์ เกษตรกรต้นแบบ อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา

  1. การผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก

โดย นางชมภู จันที นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

  1. การตรวจวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด

โดย นายธิติ ทองญวน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

  1. ความสำคัญของมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) กับการส่งออกผลไม้ไทย

โดย นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของจังหวัดพังงาให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบหรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งเสริมความรู้ตามหลักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกษตรกรมีแนวทางการจัดการสวนที่ถูกต้อง ได้ผลิตผลที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น มีคุณภาพตรงตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด รวมทั้งตรงกับมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก และที่สำคัญคือมีแนวทางการบริการจัดการกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป