ผู้เขียน | กรรณิกา เพชรแก้ว [email protected] |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาดีที่สุดของโลก ไม่ว่าจะพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์สูงส่งใดๆ จะต้องมาจากใบชาอ่อนจึงนับว่าดี ยอดชาพร้อมใบประกบคู่เพียงสองใบ รวมเป็น 3 ใบต่อยอดนั้นจัดเป็นยอดชา ส่วนเครื่องมือในการเก็บใบชาที่ดีที่สุดคือมือมนุษย์ และต้องเป็นมนุษย์ผู้หญิง เป็นเช่นนี้มานานนับพันปี
เอาเข้าจริง ฉันไม่เคยเห็นผู้ชายเก็บใบชาจริงๆ ไร่ชาเป็นพื้นที่ของผู้หญิง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจอันใด เพราะค่าแรงเก็บชานั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แม้ว่ามันจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการทำใบชาดีๆ ออกมาให้เราได้ดื่มกินกัน และแม้ว่าชาจะถูกจัดเป็นเครื่องดื่มของคนชั้นสูงมาแต่สมัยใดๆ แล้วก็ตาม
ตำราชาเขาบอกว่า มีชาทั่วโลกกว่า 3,000 ชนิด แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดมาจากต้นชาชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะชาจีน ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาญี่ปุ่น ชาอังกฤษ แตกต่างเพียงที่วัฒนธรรมการดื่ม ที่นำไปสู่การผลิต การชง การปรุงแต่งรสที่แตกต่าง
ญี่ปุ่นนิยมดื่มชาเขียว ชาญี่ปุ่นจึงเป็นชาเขียว จีนชอบชาอูหลง ชาจีนส่วนใหญ่จึงเป็นอูหลง อังกฤษดื่มชาดำ แต่อังกฤษดันไม่มีชาเป็นของตัวเอง ต้องซื้อจากทั่วโลก สมัยเป็นเจ้าอาณานิคมก็นำเข้าจากประเทศอาณานิคมของตัวเอง อย่างอินเดีย ศรีลังกา โดยกำหนดให้ผลิตออกมาเป็นชาดำแบบที่ตัวเองชอบ
ชาศรีลังกา อยู่ในประเภทนั้น ชาศรีลังกาเป็นชาดำ เพราะอังกฤษเป็นคนริเริ่ม อังกฤษเรียกศรีลังกาว่า ซีลอน (Ceylon) ชาศรีลังกาจึงถูกโลกรู้จักว่า ชาซีลอน (Ceylon tea) แม้กระทั่งบัดนี้ แม้ประเทศจะเปลี่ยนชื่อจากซีลอนมาเป็นศรีลังกา ตั้งแต่ปี 2515
ชาซีลอน น่าจะมีมาเนิ่นนานเต็มที เพราะภูมิอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมยิ่ง แต่ถ้านับจากที่อังกฤษจับมาทำเป็นอุตสาหกรรม คือปลูกกันเป็นไร่ขนาดใหญ่ใช้คนหลายร้อยคน ผลิตส่งไปขายให้คนอังกฤษดื่ม ก็น่าจะราว 150 ปีมาแล้ว
การผลิตชาเริ่มจากการเก็บยอดชา เก็บเพียงยอดกับ 2 ใบอ่อนเท่านั้น และอย่างที่บอกตั้งแต่ต้น ต้องเป็นผู้หญิงเก็บ เพราะมีความนุ่มนวลกว่าผู้ชาย เก็บแล้วต้องรีบส่งไปโรงงาน จากนั้นนำไปตาก ทั้งตากผึ่งตามธรรมชาติ 12-17 ชั่วโมง และผึ่งในห้องอุณหภูมิสูงบนตะแกรงที่มีพัดลมเป่าลมผ่าน 10-14 ชั่วโมง ยอดชาสด 18 กิโลกรัม จะได้เหลือยอดชาแห้งจากจุดนี้ราว 5 กิโลกรัม
ปริมาณ 18 กิโลกรัม นี่ใช้เป็นมาตรฐานการคิดค่าแรงให้คนงานเก็บชาด้วย คือถ้าเก็บได้วันละ 18 กิโลกรัม จะได้ค่าจ้างราว 120 บาท แต่ถ้าเก็บได้ต่ำกว่านั้นเจอค่าแรงโหดแค่ 60 บาท คือไม่ว่าจะได้เท่าไรหากไม่ถึง 18 กิโลกรัม ก็ได้ค่าแรงครึ่งเดียว
คนงานชาจึงยังยากจน ไม่เคยรุ่งเรืองไปตามชื่อเสียงของชาซีลอนที่กระจายไปทั่วโลก ไม่เคยได้เข้าใกล้ชีวิตชนชั้นสูงที่จิบชายามบ่ายในประเทศอาณานิคม หรือกระทั่งปัจจุบัน ชาชั้นดีก็ยังจัดเป็นเครื่องดื่มชั้นสูง คำว่าชั้นสูงหมายถึงราคาสูง คนจะดื่มได้ก็ต้องกระเย้อกระแหย่งกันสุดกำลัง
เวลาจิบชาเราจึงจะนึกถึงขุนเขายะเยือกห่มด้วยไอเย็นที่เป็นแหล่งปลูกชา ล้อมรอบด้วยทิวเขาสวยงาม แต่เราไม่เคยเห็นหน้าไหม้ๆ ของผู้หญิงเก็บชา ถึงการเก็บชาจะต้องทำเช้าตรู่แดดไม่แรง แต่งานไม่ได้หยุดแค่นั้น ทั้งแบกขน ทั้งตาก และงานอื่นในโรงงานก็ผู้หญิงเกือบทั้งสิ้น
ชาชั้นดีจะบอกแหล่งผลิตของตนเอง และเน้นความเป็น single origin คือแหล่งไหนแหล่งนั้นไม่ปะปนกัน แต่ต่อมาก็มีคนเอาชาหลายแหล่งมาผสมกัน เขาอ้างว่ามันได้รสดีขึ้นอีก ก็ว่ากันไป
ปัจจุบัน ชาศรีลังกาส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาท มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กว่าล้านคน การส่งเสริม ควบคุม และกำกับดูแลชาอยู่ภายใต้คณะกรรมการชาแห่งชาติ รับรองมาตรฐานด้วยตราสัญลักษณ์สิงโต ซึ่งคุ้นตาไปทั่วโลก
แต่ค่าแรงไม่ยักมีหน่วยงานไหนรับประกัน ขึ้นกับความกรุณาของเจ้าของไร่ชามาแต่ไหนแต่ไร
ผู้ผลิตชาขนาดใหญ่ของศรีลังกา จะบริหารจัดการแบบธุรกิจสากล มีแปลงปลูกชาขนาดหมื่นไร่ มีโรงงานครบวงจร บางส่วนส่งชาไปประมูลขายในตลาดกลางที่เมืองโคลัมโบ บางส่วนผลิตภายใต้แบรนด์ผู้อื่น บางส่วนส่งออกเองภายใต้ชื่อของตนเอง อย่างเช่น ชาดิลมาห์ (Dilmah) ชาเจ้าแรกของโลกที่เจ้าของเป็นผู้ผลิตเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูก-เก็บเกี่ยว-ผลิต-บรรจุ-วางจำหน่าย และเป็นเจ้าใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ที่สำคัญเจ้าของชาเป็นคนศรีลังการุ่นแรกๆ ที่ได้ร่ำเรียนเรื่องชา หลังจากที่ความรู้นี้อยู่ในมือเจ้าอาณานิคมมานาน
ประเทศที่ดื่มชาแบบฝรั่งมากที่สุดในโลกเรียงอันดับจากมากไปน้อยคือ ตุรกี ไอร์แลนด์ อังกฤษ อิหร่าน รัสเซีย โมร็อกโก นิวซีแลนด์ ชิลี อียิปต์ และโปแลนด์
เอาประเทศพวกนี้มารวมกันก็ไม่เท่าประเทศจีนประเทศเดียว แต่นั่นเขากินชาแบบเขา ฝรั่งไม่นับด้วย
ไม่ว่าจะชาแบบไหน อย่างที่บอกไว้แต่ต้น มันคือต้นไม้ประเภทเดียวกัน อยู่ที่ว่าจะอบจะปรุงมันแบบไหน
แต่สำคัญที่สุดมันต้องเก็บด้วยมือเล็กๆ ของแรงงานหญิงทั่วโลก ที่ยังได้รับค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน