เลี้ยงปลากระเบนระบบฟาร์มรอบบ้าน ส่งออกตลาดเอเชีย ทำรายได้งาม

ปลากระเบน เป็นสัตว์จำพวกปลากระดูกอ่อน มีทั้งหมดประมาณ 400 ชนิด พบได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีรูปร่างแบนราบ ครีบทั้งหมดอยู่ชิดติดกับลำตัวด้านข้าง มีท่อน้ำออก 1 คู่ อยู่ด้านหลังของหัว ทำหน้าที่ให้น้ำเข้าออกไหลเวียนผ่านเหงือกเพื่อการหายใจ ซึ่งจะไม่ไหลเวียนผ่านปากซึ่งอยู่ด้านล่างลำตัวเหมือนกับปลาฉลามหรือปลากระดูกแข็งจำพวกอื่น

ปลากระเบน มีนิสัยชอบกบดานตามชายทะเลที่น้ำตื้น โดยจะฝังตัวใต้พื้นทรายหรือโคลนใต้น้ำ หากินตามพื้นท้องน้ำอาหารส่วนมากก็ได้แก่ หอย กุ้ง ปู หรือปลาขนาดเล็กตามพื้นน้ำเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้ฟันที่มีลักษณะเป็นฟันบดขบเปลือกของอาหารให้แตกก่อน

กิจกรรมที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศจากปลากระเบนก็คือ การดำน้ำเคียงข้างพวกมัน นอกจากนี้ ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าการดำน้ำกับปลากระเบนจะยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการที่นักดำน้ำอยากทำ เพราะด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โต และลวดลายสีสันที่สวยงามของปลากระเบน

คุณอธิพร บุญสม
พ่อแม่พันธุ์

นอกจากนี้ ปลากระเบนยังติดอันดับต้นๆ ของปลาสวยงามที่เหล่าเศรษฐี ทั้งในประเทศบ้านเราและต่างประเทศนิยมเลี้ยงอีกด้วย เพราะด้วยความสวยงามของปลากระเบนที่ไม่ธรรมดา และมีมูลค่าที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน

แต่หลายคนอาจมีคำถามหนึ่งที่สงสัยว่า ปลากระเบนเป็นสัตว์ที่มีพิษ เช่นนี้แล้วมนุษย์ไม่ควรเข้าใกล้หรือไม่ แท้จริงแล้วปลากระเบนเป็นสัตว์ที่ไม่ทำร้ายมนุษย์ แต่เป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ หากมนุษย์ไปโดนตัวปลากระเบนก็อาจทำให้ปลากระเบนตกใจ และถูกเงี่ยงปลากระเบนแทงได้ การอยู่ใกล้ปลากระเบนควรมีสติอยู่เสมอ ไม่ประมาท ดังนั้น ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามของปลากระเบนสามารถเลี้ยงได้ แต่ควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงปลากระเบนอย่างรอบด้าน

ปลากระเบนที่พร้อมจำหน่าย ในขนาด 5-10 นิ้ว

การปฐมพยาบาลหากโดนเงี่ยงปลากระเบน

เนื่องจากเงี่ยงกระเบนจะมีหนามที่มีลักษณะคล้ายกับฟันเลื่อยอยู่โดยรอบ ดังนั้น เมื่อถูกแทงหรือตำจึงดึงออกยาก บางครั้งอาจต้องทำการผ่าตัดออก อาการที่ได้รับจากเงี่ยงพิษปลากระเบนจะเกิดขึ้นหลังจากถูกตำประมาณ 10 นาที มีอาการปวดหนึบๆ เป็นพักๆ จากนั้นแผลจะอักเสบ บวมขึ้นเป็นผื่นแดง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยจุ่มบริเวณที่ถูกตำ ลงในน้ำร้อนจัดที่พอทนได้ หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำร้อนพันรอบบริเวณแผลอย่างน้อย 20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวด หลังจากนั้นจึงใส่ยาสำหรับแผลสด และควรรีบนำส่งแพทย์

คุณอธิพร บุญสม อาศัยอยู่ที่ซอยเพชรเกษม 40 แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และประกอบอาชีพเสริมเพาะเลี้ยงปลากระเบนสวยงาม ระบบฟาร์มมากว่า 11 ปีแล้ว

คุณอธิพร กล่าวว่า ความชอบในปลากระเบนสวยงามเริ่มต้นเมื่อปี 2554 ขณะที่เดินเล่นที่ตลาดปลาสนามหลวง 2 และได้พบกับปลากระเบนก็รู้สึกชื่นชอบตั้งแต่ครั้งแรก จึงลองนำกลับมาเลี้ยง

เมื่อลองเลี้ยงก็หาข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งจากผู้เลี้ยงที่นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน หรือความรู้จากฟาร์มที่เพาะเลี้ยง นำข้อมูลเหล่านี้มาลองผิดลองถูก จนกระทั่งคุณอธิพรสามารถเพาะพันธุ์ปลากระเบนเองได้อย่างประสบความสำเร็จ ทำให้มีลูกพันธุ์มากขึ้น เมื่อนำภาพและวิดีโอปลากระเบนไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ก็ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในแวดวงปลากระเบนสวยงาม จนเกิดการซื้อขายกัน และพัฒนาจากความชอบ กลายเป็นช่องทางอาชีพเสริมที่รายได้ไม่ธรรมดา

จุดเด่นของฟาร์ม สามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มีแพตเทิลจุดกลมทั่วทั้งตัว สุขภาพปลากระเบนที่แข็งแรง

บ่อพ่อแม่พันธุ์ปลากระเบน

โดยปกติแล้วพ่อแม่พันธุ์ 1 ตัว จะใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อตัว ระดับน้ำภายในบ่อสูง 1 เมตร สามารถเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์รวมในบ่อเดียวกันได้

ระบบน้ำ

น้ำภายในบ่อหรือภายในตู้เลี้ยงปลา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะปลากระเบนสวยงามส่วนมากตาย เพราะสาเหตุจากระบบน้ำไม่ดี ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรตรวจสอบทำความสะอาดระบบกรองอยู่เสมอ ทางฟาร์มจะใช้วิธีการเปลี่ยนน้ำใหม่เข้าไปในบ่อหรือตู้ปลาทุกๆ วัน โดยอัตราส่วนในการปล่อยน้ำใหม่เข้าไปจะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อระบบกรองน้ำดี มีการเปลี่ยนน้ำที่เหมาะ ส่งผลให้ปลาที่เลี้ยงสุขภาพดี มีความสุข กินอาหารได้ดี

ลูกปลากระเบนแรกเกิดในบ่อ ตักใส่ตะกร้า เพื่อเตรียมนำเข้าตู้อนุบาล

การผสมพันธุ์

พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเองด้วยวิธีธรรมชาติ ช่วงก่อนผสมพันธุ์แม่พันธุ์จะมีกลิ่นที่ดึงดูดพ่อพันธุ์ โดยการตั้งท้องของแม่พันธุ์จะใช้ระยะเวลา 4 เดือน เมื่อแม่พันธุ์คลอดลูกปลาออกมาแล้ว จำเป็นต้องแยกลูกปลาออกจากบ่อเพื่อไม่ให้ถูกตัวอื่นๆ กัดแทะ จนทำให้เกิดความเสียหาย

ตู้อนุบาล

ลูกปลาแรกเกิด จะถูกนำแยกออกมาเลี้ยงในตู้ปลาเพื่ออนุบาล 1-2 เดือน อาหารมื้อแรกสำหรับลูกปลากระเบน ลูกปลาจะกินสารอาหารในถุงไข่ก่อน ถุงไข่นั้นจะติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด อยู่ในตำแหน่งใต้ท้องของลูกปลา และเมื่อมีอายุตั้งแต่ 1-2 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว หรือลูกปลากระเบนมีขนาดตั้งแต่ 4.5 นิ้วขึ้นไป

อาหารปลากระเบน

กุ้งฝอย กุ้งขาว ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาซิว ปลาหลังเขียว ปลาข้างเหลือง โดยอัตราส่วนการให้อาหารปลากระเบน ที่คำนวณปริมาณจากพ่อแม่พันธุ์จะอยู่ที่ 1 ขีดต่อตัว ใน 1 วันสามารถให้กี่ครั้งก็ได้ตามความสะดวกของผู้เลี้ยง ในส่วนของลูกปลากระเบน ให้อาหารเหมือนกัน แต่ต้องมีชิ้นอาหารที่เล็กกว่าตัวของลูกปลากระเบน เพื่อลูกปลากระเบนสามารถกินได้ง่าย

ตู้อนุบาลลูกปลากระเบนแรกเกิด และปลากระเบนอายุ 1-2 เดือน

 

ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลากระเบน

อาหารควรรู้แหล่งที่มา ต้องปลอดภัยไร้สารเคมี เพราะปลากระเบนอ่อนไหวง่ายต่อสารเคมี และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบน้ำ ปลากระเบนส่วนใหญ่ตายเพราะระบบน้ำ จำเป็นอย่างมากที่ระบบกรองต้องสะอาด เพื่อกรองสารเคมี กรองคลอรีน ก่อนที่น้ำจะถูกปล่อยลงบ่อ

สายพันธุ์ปลากระเบนที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย

  1. ปลากระเบนแบล็กไดมอนด์
  2. ปลากระเบนไฮบริด
  3. ปลากระเบนจาบูติ
  4. ปลากระเบนโมโตโร่
  5. ปลากระเบนมาเบิ้ล
  6. ปลากระเบนเผือก (อัลบิโน่)

ปลากระเบนสายพันธุ์แบล็กไดมอนด์ ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะจุดที่มากขึ้น ขอบเส้นของจุดที่สวยคม มีสีที่สวยงาม ทำให้มีราคาที่สูงยิ่งขึ้น

ตลาดและราคา

ตลาดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสัตว์เลี้ยงสวยงามอย่างปลากระเบน มีตลาดที่กว้างขวางมาก และมีความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ทางฟาร์มได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากกรมประมง สามารถจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันตลาดของทางฟาร์มเป็นตลาดเอเชีย ส่งออกสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ราคาจะถูกแบ่งออกเป็น 2 เกรด

  1. เกรดปลาสวยงามทั่วไป ราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาทต่อตัว
  2. เกรดพรีเมี่ยม ราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาทต่อตัว จนถึงหลักแสนบาทต่อตัว โดยราคาจะขึ้นอยู่กับลวดลายและความสวยงามของปลากระเบนแต่ละตัว
ปลากระเบนกำลังกินอาหาร
เตรียมส่งจำหน่ายให้กับลูกค้า

ปลากระเบนเป็นปลาที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป หากเลี้ยงอย่างถูกต้อง ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ และสามารถมีขนาดที่ใหญ่ได้ถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร หากใครที่สนใจและชื่นชอบในปลากระเบน อยากให้ลองศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน เข้าใจพฤติกรรม ระบบการเลี้ยง หากมั่นใจแล้วการลงมือเลี้ยงจะไม่เกิดความเสียหายต่อผู้เลี้ยงอย่างแน่นอน

สำหรับท่านใดที่สนใจปลากระเบนสวยงาม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอธิพร บุญสม โทรศัพท์ 081-841-7434 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : Atipon Boonsom